Skip to main content
sharethis

สปสช. เผย ‘คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น’ ภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ช่วย ปชช. เข้าถึงบริการเบื้องต้นมากขึ้น – ลดความแออัดและภาระงานใน รพ.รัฐ หมอฟันมีเวลารักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน ส่วนที่ต้องกำหนด 3 ครั้ง/คน/ปี เพราะคำนวณแล้ว ‘กองทุนบัตรทองเดินต่อได้ - ปชช. ได้ประโยชน์’ อีกทั้งหากเกิน 3 ครั้งยังสามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำได้เหมือนเดิมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การขยายบริการด้านทันตกรรมโดยเพิ่มคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น ในตอนนี้ถือว่าทำให้ภาพรวมในเชิงระบบบริการมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก

เนื่องจากประชาชนสามารถรับบริการดูแลสุขภาพช่องปากเบื้องต้น 5 รายการ อันได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน และการเคลือบฟลูออไรด์ ได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน หรือรอให้เป็นหนักก่อนแล้วค่อยมารับการรักษา อีกทั้งในแง่ของเครือข่ายการให้บริการ ยังช่วยลดความแออัด และภาระงานในโรงพยาบาล รวมถึงทันตแพทย์ในโรงพยาบาลก็มีเวลาสำหรับให้การรักษาผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนได้มากขึ้นด้วย

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ จากข้อมูลการดำเนินการที่ผ่านมาตลอดหลายเดือน พบว่า ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการสมัครเข้าร่วมให้บริการของคลินิกทันตกรรมเอกชน ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวนั้น ขณะนี้รวมทั้ง 2 เฟส มีคลินิกทันตกรรมเอกชนที่อยู่ในระบบบัตรทอง ทั้งหมด 106 แห่ง และมีการให้บริการประชาชนไปแล้วประมาณ 10,000 คน ในจำนวนนี้คิดเป็นการมารับบริการมากกว่า 15,000 ครั้ง หรืออัตราการมารับบริการเฉลี่ยคือ ประชาชน 1 คนมารับบริการ 1.5 ครั้ง

“เราก็มีการสอบถามประชาชนว่ามาใช้บริการแล้วเป็นยังไงบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าประชาชนมีความสุขมากเลย เพราะได้เข้าถึงบริการโดยที่ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องรอคอยนานเหมือนเมื่อก่อน ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย และคลินิกทันตกรรมก็มีการกระจายมากขึ้น ซึ่งตัวเลขที่บอกไปคือตัวเลขเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้ก็น่าจะมีเพิ่มขึ้นแล้ว ก็คิดว่าในภาพรวมค่อนข้างดี และจะดีขึ้นเรื่อยๆ” ทพ.อรรถพร ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่ สปสช. กำหนดให้ประชาชนสิทธิบัตรทอง ไปรับบริการได้เพียง 3 ครั้งต่อคนต่อปีนั้น เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีแรกที่จะมีการขยายบริการในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีการคำนวณแล้วว่าในอัตราการมารับบริการจำนวนนี้จะสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีความจำเป็นได้มากขึ้น และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนบัตรทองยังสามารถดำเนินต่อไปได้

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญแม้ในการมารับบริการที่คลินิกทันตกรรม 1 ครั้ง จะจำกัดอยู่ที่ 1 รายการบริการ แต่ในการรับบริการจริงหากทันตแพทย์พบว่าฟันมีปัญหาหลายซี่ และไม่มีความซับซ้อนในการรักษา ก็สามารถรักษาให้จบภายในครั้งนั้นได้ โดยนับเป็นการใช้บริการเพียงครั้งเดียว ยกตัวอย่างเช่น ฟันผุ 4 ซี่ ก็อุดฟันทั้ง 4 ซี่ได้เลยในการรับบริการครั้งนั้น เป็นอาทิ

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วประชาชนจะได้รับบริการอย่างไรจะขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากของตนเอง และดุลยพินิจของทันตแพทย์ว่าจะวางแผนในการรักษาอย่างไร เพราะบางกรณีแม้ฟันผุ 4 ซี่เหมือนกัน แต่มีความซับซ้อนมากกว่า การอุดฟันก็อาจทำได้เพียงครั้งละซี่ต่อการมารับบริการ 1 ครั้งก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากประชาชนไปใช้สิทธิรับบริการที่คลินิกทันตกรรมครบ 3 ครั้งแล้ว และยังมีปัญหาสุขภาพช่องปากที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อ ก็ยังสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการประจำของตนเองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม

“โรคในช่องปากเป็นโรคที่ไม่เป็นเยอะจะไม่มีอาการ แต่เมื่อก่อนพอจะไปรักษาถ้าเห็นคิวยาวก็อาจจะไม่อยากรักษาแล้ว รู้ตัวอีกทีก็เป็นเยอะ กระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นเป้าหมายของ สปสช. คืออยากให้มีคลินิกทันตกรรมที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ 100% ซึ่งจำนวนนี้ก็ถือเป็นตัวเลขที่สูง แต่ที่ต้องตั้งเป้าไว้แบบนี้ เพราะเราอยากให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว

ด้าน ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 กล่าวว่า ทันตแพทยสภา มองภาพของคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมให้บริการในโครงการนี้ว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ดังนั้น การให้บริการจึงไม่ใช่แค่ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่จะดูแลประเมินความเสี่ยงของสุขภาพช่องปากของผู้รับบริการและวางแผนการรักษาทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำหัตถการที่จำเป็น ซึ่งในขณะนี้ สปสช. กำหนดให้ใช้สิทธิรับบริการได้ฟรีไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี ดังนั้น หากปัญหาสุขภาพในช่องปากยังรักษาได้ไม่หมด ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือถ้าสามารถจ่ายได้เองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกเลย

ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออก จะเหลือประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้ ทันตแพทยสภาตั้งเป้าว่าจะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง

ด้าน นางสาวอุมาพร ผู้รับบริการจากคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นแห่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า เมื่อได้มารับบริการที่คลินิกแล้วรู้สึกว่าชอบมาก ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก เมื่อก่อนต้องไปรอคิว กว่าจะได้ทำฟันที่โรงพยาบาลต้องรอคิวตั้งแต่ตี 3 พอมารับบริการที่คลินิกแล้วได้รับบริการอย่างรวดเร็ว จึงรู้สึกชอบมาก และนอกจากใช้บริการในพื้นที่แล้วยังไปใช้บริการนอกพื้นที่ได้ด้วย ตนเคยเดินทางไป กทม. ก็ไปรับบริการที่นั่น ก็ใช้บริการเลยโดยไม่เสียเงิน ดังนั้นจึงอยากให้มีบริการแบบนี้ทั่วประเทศ ประชาชนจะได้ไปรับบริการได้อย่างสะดวก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net