Skip to main content
sharethis


'ให้รางวัล'


การแสดงละครล้อเลียนของกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร


วันที่ 24 ต.ค. เมื่อเวลา 10.00 นาฬิกา ที่หน้ารัฐสภา เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัดชุมนุมคัดค้านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มีการประชุมเป็นครั้งแรก โดยให้ชื่อใหม่เป็น "สภารับของโจร" จากนั้น สมาชิกของเครือข่าย 19 กันยาฯ ได้ผลัดกันอภิปรายเหตุผลในการไม่เห็นด้วยกับการยอมรับเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะตัวแทนจากกลุ่มนักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้นำแรงงาน รวมทั้งโจมตีการทำงานของรัฐบาลภายใต้การควบคุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)


                


คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ดำเนินการอภิปรายของเครือข่าย 19 กันยาฯ ได้อ่านแถลงการณ์ต้านเผด็จการเนื่องในโอกาสเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาตินัดแรก เมื่ออ่านจบจึงเริ่มดำเนินรายการพร้อมแสดงความเห็นแทรกเป็นบางช่วง โดยช่วงหนึ่งกล่าวถึงสื่อมวลชนว่า ได้คุยกับนายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเพื่อนกันโดยถามว่า ทำไมไม่มีข่าวการคัดค้านการทำรัฐประหารเลย


 


นายภัทระให้คำตอบว่า หนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ผ่านการรัฐประหารก็หลายครั้งสมัยก่อนจะมีการยึดแท่นพิมพ์ทุกครั้งจึงรู้ว่าจะต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างไร


 


นายสมบัติ จึงย้ำประเด็นการคุกคามสื่อของคณะรัฐประหารต่อว่า "หลังจากให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวีเมื่อช่วงเช้า เชื่อหรือไม่ ตอนนี้มีทหารอยู่ที่หน้าลิฟท์เนชั่นทีวีแล้ว นี่หรือคือการบอกว่าไม่คุกคามสื่อมวลชน ตอนนี้ไม่มีสื่อใดรายงานว่ามีรถถัง 50 คันจอดอยู่ที่สนามกีฬากองทัพบก จะเอามาจอดไว้ทำไม เอาอาวุธสงครามรักษาดินแดนเข้ามาชั้นในของเมืองทำไม จะยิงใคร จะทำสงครามกับประชาชนหรือ"


 


นางสาวจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวอภิปรายสลับภาษาไทยกับภาษาอังกฤษโดยให้เหตุผลว่า สื่อไทยไม่ค่อยเผยแพร่ข่าวของกลุ่มผู้ต่อต้านคณะรัฐประหาร ทั้งที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าไปเทียบเท่ากับประเทศพม่า แต่ก็ขอขอบคุณกลุ่มสหภาพยุโรปหรืออียูที่ประกาศว่าไม่รับรองการทำรัฐประหารในครั้งนี้


 


นางสาวจรรยากล่าวต่อว่า 1 เดือนที่ปกครองโดยคณะรัฐประหารเห็นแล้วว่า มีความเลวร้าย หากปล่อยไว้อีก 1 ปี ก็จะเลวร้ายกว่าประเทศพม่า ถ้ามีการจับกุม หรือหายตัวก็เท่ากับว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่ลักษณะนั้นแล้ว


 


"คนแรกที่เสียชีวิตเมื่อปี 2534 คือ ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานได้ถูกอุ้มและหายตัวไป เช่นเดียวกับ 48 คน ที่ถูกยิงในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 โดยไม่มีการยอมรับผิดจากรัฐ " นางสาวจรรยาเล่าถึงอดีตที่เคยเกิดขึ้นในยุค รสช.ทำรัฐประหารมาเป็นอุธาหรณ์


 


ช่วงระหว่างการอภิปราย มีการแสดงการให้รางวัลแก่สภารับของโจรคั่นโดยของตัวแทนจากกลุ่มเครือข่าย 19 กันยาฯ ที่ให้นักศึกษาคนหนึ่งแต่งชุดทหารทำท่าเหมือนกำลังชักหุ่นกระบอกที่เป็นผู้แสดงอีกคนหนึ่งที่ตะโกนคำว่า "ไฮ่ สนธิ" แล้วทำท่าเลียแข้งเลียขาทหาร จากนั้นผู้แต่งเป็นทหารจึงลูบหัวพร้อมตบรางวัลเป็นปี๊บเอาไว้คลุมหัวและให้ตำแหน่งทางการเมือง


 


การอภิปรายก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จนเวลาใกล้เที่ยง นายสมบัติจึงประกาศเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาว่า สภานิติบัญญัติฯ เลือก นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ ด้วยคะแนน 167 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 238 คน ทิ้งห่าง น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ ที่ได้รับการลงคะแนน 47 เสียง และ ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ได้รับการลงคะแนน 21 เสียง เป็นไปตามกระแสข่าวการบล็อกโหวตตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติฯที่มีมาตลอดก่อนหน้านี้


 


นายนันทโชค ชัยรัตน์ นักกิจกรรมทางสังคมภาคอีสาน กล่าวในการอภิปรายว่า สภานิติบัญญัติฯเป็นพวกที่ซื้อได้ จึงไม่ได้ต่างอะไรกับที่บอกว่าคนชนบทซื้อได้ด้วยเงิน อย่างน้อยสภานิติบัญญัติฯก็ได้รับเงิน เดือนละเป็นแสนบาท สภาชุดนี้ควรมีชื่อเรียกว่า "สภาผู้แทน คปค." เพื่อยืนยันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจที่จะดำเนินการตามที่ คปค.กำหนด ดังนั้นใครที่มีศักดิ์ศรีก็ให้ลาออกเสีย


 


นายนันทโชคยังกล่าวอีกว่าการเข้ามาของ คปค.มาด้วยการอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือด รักษาประชาธิปไตย และทำลายระบอบทักษิณ แต่สิ่งที่สำคัญที่เป็นจริงที่สุดที่ไม่เคยพูดออกมาคือ เข้ามาเพื่อตัวเอง เพราะที่พูดว่าเข้ามาแก้ไขปัญหายังไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่างนอกจากการสืบทอดอำนาจ อันดับแรกคือการแต่งตั้งทหารตอบแทนผู้ร่วมยึดอำนาจ ต่อมาก็แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่ประชาชนระบุว่าเป็นนักการเมืองประวัติยี้


 


"การยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน ต้องกล้าประกาศว่า กูทำเพื่ออำนาจตัวเอง และเห็นประชาชนเป็นควาย คนที่ดูถูกประชาชนไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยได้ ที่มาคัดค้านในวันนี้เพื่อยืนยันว่ากูไม่ใช่ควาย กูเป็นคน และกูจะไล่มึงไป"


 


นายอุเชน เชียงแสนจากกลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากรายชื่อสภานิติบัญญัติทั้งหมดจะเห็นว่ามีคำนำหน้าชื่อเป็นยศทหารถึง 122 คน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมนายมีชัย จึงได้ตำแหน่งประธานตามโผที่ คปค. อยากให้เป็น


 


นอกจากนี้สภาดังกล่าวยังเป็นสภาต่างตอบแทน สังเกตได้ว่ามีตัวแทนของเครือผู้จัดการได้เป็นตัวแทนในสภาถึง 3 คน ในขณะที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นผู้เปิดประตูให้รัฐประหารเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯถึง 13 คน


 


นายอุเชน ได้กล่าวฝากไปถึงนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ไม่ควรเอาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยไปแปดเปื้อนกับสภาโจร ถ้าอยากเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติฯจนตัวสั่นหรืออยากร่างกฎหมายก็ไม่ว่า แต่ขอสงวนสิทธิในการวิจารณ์ และจะวิจารณ์ทุกวันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตามถ้าอยากเล่นการเมืองก็ควรไปลงสมัครเลือกตั้ง


 


"นายสุรพล ให้สัมภาษณ์วารสารสารคดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 48 ว่า เมื่อคุณไม่เคารพกฎหมายเสียแล้วคนอื่นก็ไม่จำเป็นต้องเคารพอำนาจคุณ จึงอยากถามกลับไปว่า อาจารย์ที่เป็นนักกฎหมายมหาชนเห็นว่าการรัฐประหารเป็นการเคารพกฎหมายหรือไม่"


 


นายอุเชนยังได้เรียกร้องไปถึงนายโคทม อารียา และนายสุริชัย หวันแก้ว ให้ลาออกเพราะต่อไปถ้าจะพูดเรื่องประชาธิปไตยหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนอีกก็ให้เอาปี๊บมาคลุมหัวก่อนพูดจะได้ไม่อาย


 


"ที่พูดถึงคนเหล่านี้เพราะคุณมีชัย เขารับใช้ใครได้หมด เป็นเนติบริกร ผมไม่อยากให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเนติบริกรรุ่นต่อไป หรือไม่อยากให้นายโคทม อาจารย์สุริชัยไปทำเรื่องเสียหาย เพราะการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติจะติดตัวไปถึงลูกหลาน ประวัติศาสตร์เหล่านนี้จะถูกบันทึกไว้"


 


 


แถลงการณ์ต้านเผด็จการ


                                                                                    


เนื่องในโอกาสเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาตินัดแรก


 


ในที่สุดพวกเรา "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ก็ "มาตามสัญญา" ที่ให้ไว้เมื่อ 14 ตุลาคม 2549 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ว่าจะมาเยี่ยมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในคราวเปิดประชุมนัดแรก ต่อไปนี้เราจะเรียกสภานี้ว่า "สภารับของโจร" เพราะสมาชิกสภาเหล่านี้ทำตัวเยี่ยงคนรับของโจร สมรู้ร่วมคิดกับโจร คือ คมช. (คปค. กลายพันธุ์) ที่ปล้นชิงประชาธิปไตย ฉีกรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ


 


รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย คือ สภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหาใช่สภาที่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการ ดังนั้นสภารับของโจรจึงเป็นได้แค่ "สภาร่างทรง-หุ่นเชิด-ตรายาง-ต่างตอบแทน" เท่านั้น


 


เหล่าชนชั้นนำจากหลากหลายอาชีพต่างเต็มใจรับตำแหน่งสมาชิกสภารับของโจร โดยไม่สนใจว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจและยังค้ำจุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ตลอดจน "การปรับโครงสร้างสังคม-การเมืองไทย" ในระยะยาว ผลร้ายที่สุดที่จะตามมาคือประชาชนจะต้องอ่อนแอลงเพราะเกมส์แห่งการจัดสรรอำนาจนี้ได้กีดกันประชาชนส่วนใหญ่ออกไป หากแต่เปิดช่องให้แก่ชนชั้นนำจากภาคราชการทั้งทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ชนชั้นนำจากภาคธุรกิจเอกชนที่แต่เดิมมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้วในสังคมไทยได้มีโอกาสเพิ่มพูนอำนาจ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องยิ่งๆขึ้นไป


 


เหล่าสมาชิกสภารับของโจรทำตัวเยี่ยง "นักข่มขืนหมู่" ที่รอต่อคิวข่มขืนประชาชนซ้ำหลังจากที่ คมช.ได้ข่มขืนไปเรียบร้อยแล้วรอบหนึ่ง ผลร้ายอันสุดประมาณจากการข่มขืนดังกล่าว คือ การทำหน้าที่ออกกฎหมายที่อยู่ภายใต้การบงการของกฎหมู่ที่ คมช.อยู่เบื้องหลัง กฎหมายเหล่านี้จะมีผลบังคับแก่ประชาชนคนไทยไปอีกนานแสนนาน กล่าวอีกอย่างก็คือ สภารับของโจรกำลังทำตัวเป็น "สภาเรียงคิว" และ "สภาข่มขืนต่อเนื่อง/ข่มขืนมาราธอน" โดยไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของประชาชน


 


เหล่าสมาชิกสภารับของโจรต่างยอมทรยศหักหลังต่อ "หลักการ" ของตน ไม่ว่าจะเป็นนักประชาธิปไตย นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้นำแรงงานฯลฯ ต่างยอมตนเป็นข้ารับใช้เพื่อแลกกับตำแหน่งหน้าที่และผลประโยชน์อันน้อยนิดแต่ก่อภัยพิบัติอันมหาศาลต่อประชาชนในระยะยาว แม้พวกเราจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ามีสมาชิกสภารับของโจรจำนวนหนึ่งคิดจะเข้ามาคลี่คลายแก้ปัญหาทางการเมืองครั้งนี้ผ่านช่องทางที่มีอยู่ แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปอีก


 


ข้อเสนอของเราคือ สมาชิกสภารับของโจรทั้งหลายที่มีสำนึกเหลืออยู่บ้างจง "ลาออก" ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกกฎอัยการศึก และคืนอำนาจให้ประชาชนกลับไปเลือกตั้งภายใต้กติการัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเร็วที่สุด หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน


 


 


แถลงเมื่อ 24 ตุลาคม 2549


ณ หน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net