Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ธ.ค.2549 คณะนักวิจัยไทย ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันธรณีวิทยาทางทะเลแห่งเยอรมัน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ออกสำรวจใต้ท้องทะเลอันดามันของไทยเป็นครั้งแรก ที่ระดับความลึกตั้งแต่ 1,000-2,800 เมตร อันเป็นจุดที่เรียกว่า "สะดือทะเล" อยู่บริเวณไหล่ทวีปมะริด ห่างจากเกาะภูเก็ตราว 300 ก.ม. ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 1,500 เมตร โดยใช้เวลาลงทะเลประมาณ 16 วัน ตั้งแต่ 15 พ.ย.- 6 ธ.ค.2549 พบว่ามีโคลนภูเขาไฟใต้ทะเล หรือ Mud Volcano กระจายอยู่ในจุดที่สำรวจรวม 4 ลูกด้วยกัน ลูกแรกมีฐานความกว้างถึง 1 ก.ม. สูง 100 เมตร มีลักษณะเหมือนรูปเจดีย์คว่ำ สำรวจเจอที่ความลึก 650 เมตร ห่างจากภูเก็ต 200 ก.ม.


 


การสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อจะเก็บตะกอนไหล่ทวีปมาศึกษาหาความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินถล่มใต้น้ำ หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มเมื่อ 2 ปีก่อน


 


ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าโครงการศึกษาเสถียรภาพของชั้นตะกอนการเกิดแผ่นดินถล่มใต้ทะเลบริเวณขอบทวีปในทะเลอันดามัน เปิดเผยว่าสิ่งที่นักวิจัยพบสร้างความตื่นตะลึงอย่างมาก เพราะทีมนักสำรวจได้พบข้อมูลที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดกับวงการวิทยาศาสตร์เมืองไทย และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภูเขาไฟใต้ทะเลลูกที่ 2 อยู่ห่างจากจุดแรกไปทางตะวันตกอีก 50 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 1,000 เมตร และลูกที่ 3 และ 4 ห่างจากจุดที่ 2 ราว 60 กิโลเมตร ไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ มีฐานกว้างประมาณ 500 เมตร สูง 60-70 เมตร พบที่ระดับความลึก 700- 800 เมตร


 


การค้นพบครั้งนี้ คณะนักวิจัยค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นภูเขาไฟใต้น้ำ เพราะจากการตรวจสอบของเครื่องมือหยั่งน้ำแบบหลายความถี่ พบว่าในจุดที่เป็นตะกอนโคลนนั้นสามารถสะท้อนคลื่นกลับมาได้ไม่ดี เนื่องจากเป็นตะกอนโคลนที่มีความนิ่ม และคลื่นสะท้อนไม่แรงมากนัก จึงไม่ใช่แค่กองโขดหินธรรมดาๆ นอกจากนี้ยังพบว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลตรงภูเขาไฟสูงถึง 100 องศาเซลเซียส แต่น้ำทะเลบริเวณข้างๆ กัน วัดอุณหภูมิได้แค่ 5 องศาเซลเซียสเท่านั้น จึงค่อนข้างชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน


 


ดร.อานนท์ ระบุว่า จากการศึกษาเบื้องต้น โคลนภูเขาไฟที่เจอใต้ทะเลอันดามันของไทยน่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับโคลนภูเขาไฟใต้ทะเลของอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นแหล่งความร้อนที่เกิดจากตะกอนถูกบีบอัดโดยการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีรอยแยกของเปลือกโลกในบริเวณดังกล่าว และไม่ใช่สาเหตุของการเกิดสึนามิ จึงไม่อยากให้คนไทยตื่นตระหนกกับการค้นพบครั้งนี้


 


นอกจากนี้ ดร.อานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้ามองในแง่ดี อาจมั่นใจได้ว่าบริเวณนั้นจะเป็นแหล่งที่มีศักยภาพของแอ่งน้ำมันเหมือนกับอ่าวเม็กซิโก และอาจเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ทะเลแปลกๆ เนื่องจากมีการยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวมีแร่ธาตุ สัตว์ต่างๆ สามารถอยู่ได้โดยใช้วิธีการผลิตขั้นต้นทางเคมี โดยไม่ต้องพึ่งแสงอาทิตย์


 


ทั้งนี้ หากสำรวจเพิ่มเติมในบริเวณดังกล่าว ก็น่าจะพบตะกอนโคลนภูเขาไฟอีกหลายลูก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net