Skip to main content
sharethis

ประชาไท-17 ธ.ค.47 เวลา 09.00 น.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มีการจัดการประชุมระดับชาติเรื่อง "มองอนาคตแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย" เนื่องในวันแรงงานย้ายถิ่นสากล

นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบันทั่วโลกมีแรงงานข้ามชาติประมาณ 130 ล้านคน ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีการละเมิดและถูกทำร้าย ในประเทศไทยแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มมากที่สุดในการถูกละเมิด รองลงมาคือชนเผ่าต่างๆ และอันดับสามคือประชาชนในภาคใต้

ตนจึงขอเสนอให้รัฐบาลไทยมีนโยบายที่ชัดเจนขึ้นในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ การคุ้มครองสิทธิ และที่สำคัญอย่างเร่งด่วนคือ ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ซึ่งนอกจากฉบับนี้ก็ยังมีอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง โดยอนุสัญญาฉบับดังกล่าวจะระบุไว้ชัดเจนว่าประเทศที่เป็นภาคีต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

"มีคนงานไทยจำนวนมากที่ไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งหากเราต้องการให้ประเทศอื่นปฏิบัติตอคนงานไทยอย่างไร เราก็ควรปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าคนในชาติยังมีท่าทีไปในทางดูถูกเหยียดหยาม ไม่อยากรับแรงงานข้ามชาติทำงาน หรือปฏิบัติต่อเขาแตกต่างจากคนในชาติ การละเมิดก็ยังมีอยู่" กรรมการสิทธิฯ กล่าว

นายจรัล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติที่ถูกทำร้าย ถูกบังคับใช้แรงงาน ฆ่า ข่มขืน ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนักแต่การเสียชีวิตนั้น 1 คนก็ถือว่ามาก และที่ผ่านมามีการนำเสนอข่าวมีแรงงานข้ามชาติทำร้ายคนไทยแต่จริงๆ มีน้อยกว่าที่เขาถูกทำร้าย

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือเขาไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนใคร กรณีที่มาร้องเรียนกรรมการสิทธิฯด้วยตัวเองมีแค่ 3 ราย นอกนั้นร้องเรียนมาทางองค์กรต่างๆ การเข้าถึงองค์กรปกป้องสิทธิฯจึงน้อยมาก เนื่องจากเขาไม่รู้จักกรรมการสิทธิฯ ไม่รู้จะร้องเรียนยังไง รวมทั้งกลัวว่าหากมาร้องเรียนอาจถูกทำร้ายหรือไล่ออกจากงาน แต่ถึงแม้จะน้อยเราก็ยังช่วยเขาไม่ค่อยได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดต่อคือทำอย่างไรให้เข้าถึงองค์กรและกลไกปกป้องสิทธิ์

ด้านนายพีระ มานะทัศน์ ผู้ช่วยรมว.แรงงาน กล่าวว่าจากที่แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ คือพม่า ลาว เขมรมาจดทะเบียนแรงงานไว้ 120,000 คนนั้น ปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพขออนุญาตทำงานไปแล้ว 817,000 คน โดยมีประมาณร้อยละ 3 ที่ไม่ผ่านการตรวจโรค และจำนวนที่หายไปประมาณ 200,000 กว่าคนนั้นก็ยังสามารถรองรับได้ เพราะตามที่นายจ้างมาแจ้งความต้องการไว้และได้รับโควต้าประมาณ 1,500,000 คนนั้น ยังต้องการอีกถึง 700,000 คน

"นโยบายของในอนาคตนั้นต้องทำให้ถูกกฎหมายเหมือนกับที่คนไทยไปประเทศอื่น และคนที่จดทะเบียนแรงงานถูกกฎหมายต้องดูแลให้ค่าแรงได้เท่ากับคนไทย การรักษาพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขก็ดูแลเต็มที่โดยได้สิทธิ์รักษา 30 บาท ส่วนคนท้องที่พบว่า มีจำนวน 9,000 กว่าคนก็กำลังดูว่าท้องระยะไหน เพราะตามหลักสากลที่คนงานไทยไปทำงานในประเทศมาเลเย สิงคโปร์ถ้าท้องเขาก็ส่งกลับหมด แต่ต้องช่วยบนฐานของความจริงและความมั่นคงของชาติ" นายพีระ กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net