Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วัฒนธรรมการเมืองของคนไทยดูจะไม่สอดคล้องกับข้อเสนอ เพราะเราเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดในการมองเรื่องการเลือกตั้ง

คณิน - นี่เป็นพัฒนาการในทางการเมือง มันเป็นอีกระดับหนึ่งแล้ว เพราะเรามีการปฎิรูปการเมือง มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่เราต้องการมากคือ การมีรัฐบาลเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ มีสภาผู้แทนที่ต่อเนื่องทำได้ 4 ปี ซึ่งเราก็ทำได้แล้ว

แต่พฤติกรรมของผู้มีอำนาจมันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก คนที่ไม่เคยมีอำนาจ จะเอาอะไรก็ได้ จะขออะไรก็ได้ จะตรวจสอบอะไรก็ได้ แต่พอมีอำนาจมาก็ไม่ยอมรับการตรวจสอบ ตรงนี้สำคัญ

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดเกณฑ์การตรวจสอบได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายค้านที่มี 201 เสียงขึ้นไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะโค่นล้มรัฐบาลได้ เพราะประชาชนเลือกพรรคไหนมา ประชาชนก็เลือกนโยบายพรรคนั้น

นโยบายของพรรคฝ่ายค้านถึงแม้จะประกาศอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ได้มาเป็นรัฐบาลก็หมดความผูกพันที่จะต้องดำเนินการ ก็ต้องหันหน้าที่มาดำเนินการตรวจสอบ ในนามประชาชนเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าพอประกาศนโยบายทุกพรรคต้องเป็นรัฐบาลหมด ถ้าอย่างนั้นประชาชนก็แย่เพราะไม่มีคนตรวจสอบ เพราะฉะนั้นที่ห่วงคือเมื่อประกาศนโยบายไปแล้ว และเป็นการเมือง เลือกตั้งแบบเก่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันพัฒนาไปอีกขั้นตอนหนึ่งแล้ว มันเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ เดิมทีมันเป็นเกมส์ของนักการเมืองที่เขาจะเล่นกันก่อนเลือกตั้ง เขาก็จะว่าอะไรๆกันร้อยแปดสารพัด แทบจะยิงกันตาย แต่พอหลังเลือกตั้งก็จับมือยิ้มออกอากาศ นั่นคือเกมส์ของนักการเมืองแต่เราไม่ต้องการให้เป็นเกมส์ของนักการเมืองอีกต่อไป แต่เราต้องการให้มันเป็นเกมส์ของประชาชน

เกมส์ของประชาชนก็คือการกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ซึ่ง 4 ปีมีโอกาสหนเดียว เราได้รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลที่มีนโยบายจริงใจ แต่ในเวลาเดียวกันประชาชนก็ต้องการคนทำงานที่เข้ามาทำการตรวจสอบที่มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องยุทธศาสตร์

ประชาไท - ก่อนหน้านี้มีการเสนอยุทธศาสตร์การเลือกตั้งแบบให้ใช้สิทธิแต่ไม่ออกเสียง
คณิน - อันนั้นคงใช้ไม่ได้แล้ว คงใช้ไม่ได้ประโยชน์เลย สมัยนั้นเป็นการต่อต้านไม่เอาทั้งไทยรักไทย และประชาธิปัตย์ แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบการเมืองพัฒนามาอีกขั้นหนึ่งแล้วคือถ้าไม่เอาไทยรักไทยก็ต้องหันมาเอาที่ไม่ใช่ไทยรักไทย มันก็กลายเป็นยุทธศาสตร์

ประชาไท - อันนี้คือเรายอมรับว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 40
คณิน - มันเป็นผลพวง แล้วการที่เราได้คุณทักษิณ ได้ไทยรักไทยมาเป็นรัฐบาลก็เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง เพราะเราต้องการรัฐบาลอย่างนี้จริงๆ เพราะรัฐบาลไหนถ้าไม่มีความเสถียรภาพ ไม่มีความต่อเนื่องล้มลุกคลุกคลานก็แก้ปัญหาประชาชนไม่ได้นี่ คือความเจ็บปวดในอดีต แต่เมื่อเราได้สิ่งนั้นมาแล้วเราจะไปหยุดแค่นั้นทำไม

เราก็ต้องพัฒนาต่อไป เพราะกลไกรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเพียงแค่ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่ว่าให้มีกลไกในการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพด้วย แล้วการตรวจสอบปัจจุบันถ้าองค์กรอิสระพึ่งพาไม่ได้แล้ว ก็เหลืออีกหนทางเดียวซึ่งอยู่ในมือประชาชน ก็คือการไปเลือกตั้งในวันที่ 6 ก.พ.นี้ เพราะว่าองค์กรอิสระเขาเลือกกันไปแล้ว

ประชาไท - ที่ผ่านมามีการพูดถึงการเมืองภาคประชาชนไหมว่าภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่การเมืองภาคประชาชนจะเติบโตอย่างไรได้บ้าง

คณิน - แม้กระทั่งการเลือกภาคประชาชนก็ต้องพัฒนาเหมือนกันจะใช้รูปแบบเดิมๆ ไปเดินขบวน ไปประท้วง ไปยื่นหนังสือ มันหมดสมัยแล้วเหมือนกัน การเมืองภาคประชาชนยุคใหม่ สิ่งแรกก็คือ ควรจะตั้งเป็นพรรคการเมืองได้แล้วเพราะพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. แต่ว่าสามารถเดินงานทางด้านการเมืองได้ตลอดเวลา

ประการที่สองคือ การที่จะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งคราวหน้า ผมว่าภาคประชาชนจะมีบทบาทมากว่า วันที่ 6 ก.พ.ประชาชนควรจะเลือกตั้งให้มีฝ่ายค้านเสียงเกิน 201 เสียงขึ้น เพราะต่อไปการเมืองภาคประชาชนจะค่อยๆ พัฒนาเปลี่ยนไป

อย่าลืมว่าอย่างน้อยคุณทักษิณเขาก็สร้างคุณูปการอย่างหนึ่งคือ เขาดึงระบบเกินไป ดึงไปข้างหน้า ไม่มีการเหลียวหลังเลย แน่นอนที่สุดสิ่งที่เดินไปข้างหน้าอะไรๆ มันก็ดีหมด แต่ไม่มีการเหลียวหลังเลย แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปที่ประชาชนจำเป็นต้องมีคือ สิ่งที่มันรกรุงรัง สิ่งที่ขาดประสิทธิภาพ มันย่อหย่อน มันเป็นเผด็จการอะไรเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการ แล้วโอกาสนั้นก็มาถึงแล้วในวันที่ 6 ก.พ.

ประชาไท - ดูจากแนวโน้ม เราจะมีพรรคการเมืองสองพรรค เพราะโดยระบบมันสร้างให้พรรคการเมืองมีความแข็งแกร่ง และมันจำเป็นต้องสร้างคู่ที่จะมาทำงาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ

คณิน ผมคาดการว่าคงหลังจากการเลือกตั้งคราวหน้า วันที่ 6 ก.พ.เราจะมีระบบเป็นสองพรรคแน่นอน แต่มันจะเป็นระบบสองพรรคที่เป็นง่อย เพราะว่าเป็นระบบสองพรรค ที่พรรคหนึ่งใหญ่โตเกินขนาด แต่อีกพรรคหนึ่งเป็นพรรคที่เล็กจิ๋ว จนทำอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ผมยังต้องการให้มันเป็นระบบสองขั้วอยู่ เพราะพรรคไทยรักไทยเต็มที่อยู่แล้ว พรรคเดียวนะครับกี่เสียงก็สุดแล้วแต่

แต่ถ้าอีกขั้วหนึ่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ถ้าได้จับมือให้สัตยาบรรณกัน หลังการเลือกตั้งถึงแม้จะได้รับเสียงเท่าใดก็แล้วแต่ จะ 190 จะ 200 หรือสองร้อยกว่าอาจจะมีการพัฒนาไปถึงกับรวมกันเป็นพรรคเดียวกัน ต่อไปมันก็จะมีไทยรักไทย และอาจเป็นประชาธิปัตย์ถ้ายังใช้ชื่อเดิม

ประเทศไทยเป็นแบบสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะประเทศไทยมันหลากหลาย คนจนเยอะ ของเขาเกาะเล็กๆ และเป็นเศรษฐีทั้งนั้น ประเทศไทยปัญหาเยอะและปัญหาของคนจนเอาคนรวยไปแก้ไม่ได้ ในขณะเดียวกันเอาคนจนไปแก้ไม่ได้ แต่ต้องเอาคนรวยประสานมือกับคนจนถ่วงดุลอำนาจกัน อย่างนี้จึงจะคานกัน ผมว่าประชาชนสร้างได้ ครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์

แต่ถ้าหลังการเลือกตั้งแล้วคุณทักษิณได้ 400 กว่าเสียง มันไม่ใช่ระบบ 2 พรรคแล้ว มันจะเป็นระบบล่มสลายเลย พอถึงวันหนึ่งพรรคไทยรักไทยมันก็ต้องล่มสลาย แต่ถ้าประชาชนประคองตรงนี้ไว้ หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าไม่เต็มใจ แต่ประชาชนก็บังคับไว้ว่าอย่าไปร่วมกันไทยรักไทย 3 พรรคให้สัตยาบรรณแล้วสัญญากับประชาชนไว้ จะได้เสียงเท่าไร 190 200 หรือถ้ารวมกันเกิน 250 ตั้งรัฐบาลได้เลยมันก็เรื่องของคุณ

แต่ข้อสำคัญคือคุณต้องรักษาสัตยาบรรณนี้ไว้ ถึงจะทำให้ระบบ 2 พรรคมีประสิทธิภาพ และรัฐธรรมนูญนี้มันจะเวิร์คมาก เหมือระบบของอังกฤษ สหรัฐ คิดว่าเราเรียนลัด แต่ถ้าเราพลาดโอกาสไป ระบบพรรคการเมืองคงล่มสลาย

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net