Skip to main content
sharethis

หลายครั้งแล้ว ที่พี่ๆ รอบตัวบ่นเรื่องเจ้าตัวเล็กที่บ้านให้ฟัง ลูกบางคนติดเกมส์ ลูกบางคนติดทีวี ลูกบางคนเลียนแบบพฤติกรรม รวมทั้งประโยคอันไม่น่าพึงใจจากตัวอิจฉาในละครน้ำเน่า

ถึงฉันจะไม่มีลูกเป็นของตัวเอง แต่ก็รู้ว่านี่เป็นวิกฤตของบรรดาพ่อแม่ ที่ทีวีและเกมส์กลายเป็น "พี่เลี้ยง" คนโปรดของลูกไปเสียฉิบ

อย่าได้หัวเราะเยาะว่านี่เป็นปัญหาคนเมือง เพราะเมื่อได้ลงใต้ไปสัมผัสกับเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ "สุราษฎร์ธานี" ทำให้ฉันรู้ชัดว่า ท่ามกลางสังคมที่เมามันกับการบริโภค ผสมกับระบบโรงเรียนที่แห้งแล้งและรังแต่สร้างความแปลกแยกกับโลกให้เยาวชนแล้ว สภาพปัญหาไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือนอกเมืองแทบไม่ต่างกัน....ทำเอาคนไม่มีลูกต้องถอนหายใจดังๆ

แต่เป็นโชคดีของที่นี่ ที่มี "ครูนอกแถว" ซึ่งตระหนักถึงข้อบกพร่องของหลักสูตรการศึกษาและความเละเทะของสังคมทุนนิยมสุดขั้ว จนต้องลุกออกมาเป็น "พี่เลี้ยง" คนใหม่ สอนเด็กๆ นอกห้องเรียนด้วยแรงบันดาลใจจากหลักธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า "ศีลธรรมของเยาวชน คือ สันติภาพของโลก"

กิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เกิดขึ้น ได้สร้างคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนกลายเป็นกลุ่ม "ยุวชนสร้างสรรค์" อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อปี 2539 และมีส่วนสำคัญในการหยุดนิคมอุตสาหกรรมเมื่อปี 2541-2542

ริมแม่น้ำ " ตาปี" ที่เขียวใสราวมรกต กลุ่มดินสอสีพาฉันมานั่งดู "มะขามป้อม" ที่ใครๆ มักรู้จักพวกเขาผ่านการเล่นละครเวทีและลิเก แต่คราวนี้มาทำกิจกรรมกับกลุ่ม "ยุวชนสร้างสรรค์" ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มเล็กๆ ทั้งประถมและมัธยมต้น กระจายอยู่ในหลายโรงเรียน เพื่อค้นหารูปแบบเพื่อนำเสนอการเรียนรู้ของตนเองใน "มหกรรมห้องเรียนชุมชน" ... และ " จับปูใส่กระด้ง" น่าจะเป็นการบรรยายภาพที่ใกล้เคียงที่สุด

งานมหกรรมห้องเรียนชุมชนนี้ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) เป็นแม่งานใหญ่ และจะจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันที่ 1-3 เมษายนนี้ โดยกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์เป็นกลุ่มหนึ่งท่ามกลางหลากหลายกลุ่มทั่วประเทศ ที่มีห้องเรียนที่กว้างขวางกว่าผนังสี่เหลี่ยม มีครูแยะกว่าครูในโรงเรียน และมีวิธีการเรียนรู้รวมทั้งอุปกรณ์ที่หลากหลายกว่าชอล์กและกระดาษดำ
…………….

ท่ามกลางร่มไม้เขียวครึ้มและเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กๆ ฉันได้พูดคุยกับ "ครูอู๊ด" (นิวัตร์ โฮ้เต้กิ้ม) และ "ครูจิบ" (ขจรศรี โฮ้เต้กิ้ม) ครูนอกแถวที่เรากล่าวถึงตอนต้น

"จริงๆ นะมาได้สอน ได้ทำกิจกรรมแบบนี้ มันทำให้เรามีความสุข มีเรี่ยวมีแรงกว่าสอนหนังสือในห้องเรียนเยอะเลย" ครูจิบที่มุขเยอะจนเด็กๆ ต้องหัวเราะท้องแข็งเป็นประจำระบายความในใจให้ฟัง

ทั้งครูจิบและครูอู๊ดเป็นอดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมหาทุนการศึกษาช่วยเด็กยากไร้ มาตั้งแต่สมัยยังเป็นกลุ่ม "ลานสนสัมพันธ์" ในรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) หาดใหญ่ ทำมาตั้งแต่ยังเป็นแค่เพื่อนจนกระทั่งเป็นคู่ชีวิตในที่สุด

"เด็กๆ เขาไม่ได้ขาดเฉพาะเงินที่จะเรียน เขายังขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ขาดโอกาสในการเรียนรู้ และยิ่งถูกจำกัดการเติบโตมากขึ้นจากระบบการศึกษา" ครูอู๊ดสรุปประสบการณ์ที่ผ่านมา และขยายความถึงความล้มเหลวของการศึกษาว่า เรื่องที่เรียนล้วนห่างไกลความจริงรอบตัวเด็ก โดยกำหนดเป็นวิชาๆ แล้วแยกเป็นเรื่องๆ สอนในห้องเรียนที่คับแคบ ด้วยเป้าหมายอันพร่ามัวไม่ตอบสนองต่อชีวิตและสังคม ยังไม่นับรวมระบบวัดผลที่แสนล้าหลัง

นอกจากนี้ครูอู๊ดยังเล่าถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อแย่งหน้าที่ของทีวี - วิดีโอเกมส์ และอาจรวมถึงยาเสพติดหรืออบายมุขอื่นๆ โดยกิจกรรมช่วงแรกเป็นการจัดค่ายที่ "สวนโมกขพลาราม" ของท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งร่วมวงเสวนาประจำเดือนของสวนโมกข์ซึ่งดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ ...จากกิจกรรมที่เริ่มต้นในวัด ขยายมาสู่กิจกรรมในชุมชน จากกิจกรรที่ครูจัดขึ้น ขยายมาสู่การจัดการของรุ่นพี่ที่ส่วนหนึ่งเติบโตมาจากการสนทนาธรรม และเสวนาทางความคิดอย่างเข้มข้น

พี่เอี้ยง (ภัสรา รู้พันธ์) พี่อิ๊ด (รัตนา ชูแสง) พี่ปูและพี่อ้น ยุวชนสร้างสรรค์รุ่นแรกๆ ได้กลายมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำกิจกรรมกับน้องๆ ในชุมชนตลอด 3 ปีหลังรับปริญญาบัตร ด้วยเหตุผลที่อยากให้ยุวชนสร้างสรรค์เป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสเติบโตให้น้องๆ ในชุมชนต่อไป นับเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ความกล้าหาญจำนวนหนึ่ง ส่วนความพยายามนั้นไม่ต้องพูดถึง...ต้องใช้มหาศาล

"อย่างแรกเลย เราต้องทำเป็นตัวอย่างทุกเรื่อง เพราะเราเชื่อว่ากระบวนการชุมชนที่มาจากการซึมซับนั้นจะยั่งยืน นอกจากนี้ยังต้องพร้อมจะเรียนรู้กับเขา อยากลองทำอะไรทำด้วย เป็นกัลยาณมิตร ไม่ใช่คนที่เหนือกว่า" พี่เอี้ยงกล่าวถึงหัวใจของการทำงานกับเด็ก

"เราเข้าไปคุยกับเด็กๆ ในโรงเรียน จุดประกายและให้คำปรึกษาในการสร้างกิจกรรมต่างๆ แล้วก็ประชุมปรึกษากับครูอู๊ดครูจิบนี่แหละ คุยกันอาทิตย์ละ 3 ครั้งได้ ต้องคุยกันบ่อยๆ เพราะพฤติกรรมเด็กๆ เปลี่ยนเร็ว วันนี้คุยอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เปลี่ยนอีกแล้ว" พี่อิ๊ดเล่าให้ฟัง

พี่อิ๊ดเล่าต่อว่าพวกเขาพยายามพัฒนากิจกรรมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ชุมชน ร่วมแก้ปัญหาบางอย่างที่พอทำได้ในชุมชน รวมทั้งสืบสานภูมิปัญหาท้องถิ่น ไม่ใช่ในระดับเทคนิค แต่ในระดับคุณธรรม

"ชีวิตของเด็กๆ ส่วนใหญ่ขลุกอยู่ในชุมชน ถ้าเราไม่รู้จักชุมชน ก็เหมือนไม่รู้จักตัวเอง และไม่แปลกที่เราต้องรักษาชุมชนของเรา เพราะชุมชนเป็นเหมือนเกราะป้องกันให้เราอยู่ได้" พี่อิ๊ดเปรยทิ้งท้าย
.......................

ตกบ่าย ฉันนั่งฟังเด็กๆ นำเสนอการเรียนรู้ของกลุ่มตัวเอง ซึ่งแปรไปตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน "กลุ่มต้นกล้านาใหญ่" จากโรงเรียนบ้านนาใหญ่ทำเรื่องเก็บขยะในโรงเรียนและชุมชน โดยมีงานวิจัยจากองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาเสริมกิจกรรมของกลุ่ม โดยพวกเขาต้องเก็บข้อมูลให้เป็นระบบขึ้นเพื่อสรุปในงานวิจัย

เช่นเดียวกับกลุ่มอนุรักษ์คลองน้อย ที่พากันล่องคลองน้อยเพื่อกำจัดขยะ ปั่นจักรยานทำแผนที่คลอง ฝึกแต่งเพลงและร้องเพลงเกี่ยวกับการอนุรักษ์คลองและสิ่งแวดล้อม บางกลุ่มตระเวนเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้านจากบรรดาแม่ๆ ในชุมชน ไม่ว่า ขนมตาล ลูกชุบ ฯลฯ บางกลุ่มคิดค้นวิธีนำกระดาษในโรงเรียนมาใช้ โดยการนำมาฉีกประสมกาว ปั้นและย้อมสีจนเป็น "กระดาษแปลงร่าง"

ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มเด็กตัวแสบ ที่ครูในโรงเรียนพากันส่ายหัว ความสนุกสนานของกิจกรรมดึงดูดพวกเขาให้มาหาอะไรเล่นนอกห้องเรียน และด้วยกรอบกติกาที่เปิดกว้างให้กับความคิดและจินตนาการทำให้พวกเขาค่อยๆ ซึมซับการเรียนรู้ และคำสอนของพี่ๆ โดยไม่มีแรงต่อต้านมากนัก

"เขาทำสวนสัตว์น้อย เอาเมล็ดต่างๆ มาทำเป็นแมลง ว่ากันจริงๆ เขาก็ไม่ได้สนใจทำเป็นเรื่องเป็นราวนัก แต่มาอยู่กับเพื่อนๆ แล้วสนุก กว่าจะจับจุดเจอต้องใช้เวลามาก อย่างน้อยให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่า" พี่เอี้ยงพูดถึงหนุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งซึ่งเธอย้ำว่าพวกเขาเป็นกลุ่มพิเศษไม่เหมาะกับกระบวนการเรียนรู้ในระบบเป็นอย่างยิ่ง

"กิจกรรมแบบนี้จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เขา ระบบการศึกษาสร้างพื้นที่ไว้นิดเดียวสำหรับคนเก่งและคัดเขาทิ้ง ถามจริงๆ ว่าเราจะเอาเขาไปทิ้งไหน" คำถามของพี่เอี้ยงต่อระบบการศึกษา
.............

บ่ายแก่ๆ ทั้งเด็กเล็ก เด็กโข่งพากันกระโดดน้ำตาปีอย่างสนุกสนาน ตัวแสบทั้งหลายดำผุดดำว่ายกันราวกับใช้เหงือกหายใจ กระทั่งย่ำค่ำพากันมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่แต่ละกลุ่มนำเสนอไว้ตั้งแต่บ่าย โดยไฮไลท์ของค่ำคืน คือ กลุ่มสาวน้อยที่รำโนราห์ และเล่นหนังตลุง...ความน่ารักของมุขสดๆ ทำเอาพวกผู้ใหญ่หัวร่องอหาย

แม้เวลา 2 วันจะทำให้ไม่ทันได้เห็นกระบวนการทำงานเบื้องหลังกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ แต่จากรอยยิ้มและคำบอกเล่าของเด็กๆ ระหว่างที่เล่นน้ำด้วยกัน ก็พอทำให้รู้สึกเสียดายแทนเด็กๆ ในเมืองที่ไม่มีทางเลือกในการหา "พี่เลี้ยง" มากนัก

ทั้งยังนึกสงสัยว่าความพยายามนำเสนอ "คุณค่า" บางอย่างของ "ห้องเรียนชุมชน" ให้คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเคยชินกับความหวือหวานานาชนิด และมีเวลาสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เพียงฉาบฉวยนั้น จะประสบความสำเร็จเพียงใด .... ต้องติดตามดูใน "มหกรรมห้องเรียนชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 1-3 เมษายนนี้

มุทิตา เชื้อชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net