Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 มิ.ย.48 "ผมคิดว่าวิกฤตการณ์ต่อไปที่สังคมต้องเผชิญมีโอกาสเป็นวิกฤตทางการเมืองมากกว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจ" รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อาจารย์ประจำคระเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่องการปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจพ.ศ.2540 : ความก้าวหน้าและความล้มเหลว

รศ.ดร.นิพนธ์กล่าวถึงสาเหตุของแนวโน้มข้างต้นว่า เนื่องจากขณะนี้เราต่างตระหนักแล้วว่ามีการทำลายสถาบันในการตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหาร เช่น องค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกว่าการไม่สร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอบทความของ รศ.ดร.นิพนธ์ ได้มุ่งเน้นในการสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจมารองรับแรงกระแทกจากความผันผวนต่างๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาในสมัย 4 ปีซ่อมของรัฐบาลทักษิณนั้น รัฐบาลได้สร้างกติกาใหม่ในการบริหารจัดการนโยบายสาธารณะ โดยการตัดสินใจแบบเถ้าแก่ ที่ถือว่าประเทศเป็นบริษัทของตน ไม่สนใจธรรมาภิบาล และใช้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแทนแผนของสภาพัฒน์

"ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ต้องกังวลว่าในขณะที่รัฐใหญ่ขึ้นแต่กลับมีการบริหารงานแบบเถ้าแก่ ก็เพราะนายกฯ ไม่ใช่คุณพ่อรู้ดี ถ้าตัดสินใจผิดพลาดมันมีต้นทุนมหาศาล และเป็นภาระของภาคประชาชน เช่น การปิดบังข่าวสารกรณีเรื่องไข้หวัดนก หรือการแก้ปัญหาภาคใต้" อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าว

ทั้งนี้ รศ.ดร.นิพนธ์ ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงอำนาจรัฐที่ใหญ่ขึ้นอาทิ โครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่รัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบประมาณไปราว 1.7 ล้านล้านบาท การดำเนินนโยบายกึ่งการคลังที่ปีล่าสุดตั้งงบไว้ถึง 5.7 แสนล้านบาท หรือเกือบครึ่งของงบประมาณปกติ การแทรกแซงตลาด การลดอำนาจภาคราชการ การควบคุมองค์กรอิสระ สื่อมวลชน นักวิชาการ

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ที่สำคัญแม้รัฐบาลปัจจุบันจะมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมระบบทุนนิยม แต่ก็ละเลยการสร้างกติกาของระบบทุนนิยม เช่น การออกกฎหมายที่จะป้องกันการผูกขาด หรือป้องกันนักการเมืองปั่นหุ้น

"ทำไมรัฐบาลถึงไม่สนใจสร้างกติกาของระบบทุนนิยม ก็เพราะมันขัดแย้งกับผลประโยชน์ธุรกิจครอบครัว และนโยบายหลายอย่างที่เกิดประโยชน์ แต่กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลานานก็ไม่ทำ รวมถึงนโยบายบางอย่างที่ประโยชน์กระจายทั่วสังคม แต่ต้นทุนกระจุกกับนักธุรกิจบางกลุ่มก็ไม่ทำด้วย เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า" รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net