Skip to main content
sharethis

 

ดันทายาทรับบำเหน็จชราภาพ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปีนี้จะดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร โดยปรับปรุงมาตรฐานการให้บริการให้ดีขึ้น หรือย่างน้อยไม่ด้อยไปกว่าเดิม แม้มีการลดอัตราการส่งเงินสมทบของฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละร้อยละ 1 ในปี 2556 จากปกติอยู่ที่ร้อยละ 5 เพื่อลดผลกระทบให้แก่สถานประกอบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัด และเร่งติดตามทวงเงินสมทบที่สถานประกอบการค้างชำระกองทุนประกันสังคมวงเงิน ทั้งหมดกว่า 4,000 ล้านบาท เร่งลงทุนด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ผลกำไรเข้าสู่กองทุนโดยตั้งเป้าไม่น้อยกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จะผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ประกันสังคม 2553 กรณีเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพ ซึ่งกำหนดให้หากผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเสียชีวิต ก่อนอายุ 55 ปี เงินสมทบที่ผู้ประกันตนส่งมาจะตกเป็นของทายาทของผู้ประกันตนในรูปแบบของเงิน บำเหน็จปรับปรุงระบบประกันสังคมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอา เซียน (เออีซี) อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหากรณีกองทุนประกันสังคม จะอยู่ในภาวะติดลบในปี 2587 เนื่องจากมีผู้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพเป็นเงินบำเหน็จและบำนาญรวม 6.3 ล้านคน

"ปีหน้า สปส.จะจัดระบบข้อมูลผู้ป่วยและการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไตวายเรื้อรังและเอดส์ระหว่างกองทุนประกันสังคมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าและกองทุนสวัสดิการข้าราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งป่วย 3 โรคนี้สามารถโอนไปใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทันที เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและมีมาตรฐานเดียวกัน "เลขาธิการสปส.กล่าว

(คมชัดลึก, 1-1-2556)

 

ปรับขึ้นค่าแรง 300 บ.ทั่วปท.มีผลแล้ว พาณิชย์เผยเงินเฟ้อปี 56 เพิ่ม 3.02%

รมว.แรงงาน ยันปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. วอนแรงงานเพิ่มวินัยการทำงาน และรู้จักออม จับตา นายจ้าง เลี่ยงจ่ายค่าแรง ก.พาณิชย์ คาดการณ์ ราคาสินค้าปี 56 ไม่แตกต่างจากปี 55 อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะเพิ่มขึ้น 2.8-3.4% เชื่อเพิ่มค่าจ้างไม่กระทบ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยันไม่มีการปรับราคาสินค้า

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการประกาศปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ ที่มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ว่าเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 คาดว่ามีแรงงานอย่างน้อย 3 ล้านคน ได้รับอานิสงส์จากนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว อยากให้แรงงานทุกคน มีวินัยในการทำงาน และรู้จักการออม

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมดูว่า มีผู้ประกอบการรายใดไม่ให้ความร่วมมือ หรือหลีกเลี่ยงในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้หรือไม่ ซึ่งหากพบก็จะทำหนังสือเตือนไปยังผู้ประกอบการ

ขณะเดียวกันทางภาคเอกชน ต้องการให้รัฐบาลออกมามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบ

ด้าน นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า ภาพรวมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคในปี 2556 จะไม่แตกต่างจากปี 2555 มากนัก ผู้ผลิต จะยังจะไม่ปรับราคาสินค้าในขณะนี้ เพราะราคาวัตถุดิบจากต่างประเทศยังทรงตัว และปริมาณยังไม่ขาดแคลน โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีการแถลงอัตราเงินเฟ้อปี 2555 ในวันนี้ (2 มกราคม) ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 116.86 เพิ่มขึ้น 3.63% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 0.39% ซึ่งสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ และคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 56 จะเพิ่มขึ้น 2.8-3.4% ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วง 100-120 เหรียญ/บาร์เรล และรัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ส่วนผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตรา 300 บาท/วันทั่วประเทศ คาดจะมีผลเพียง 0.1% ถือว่าไม่มีนัยสำคัญ

ขณะที่ นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ช่วงปลายปี 2555 และในช่วงต้นปีใหม่ 2556 ยังไม่พบว่ามีผู้ผลิตสินค้ากลุ่มใดแจ้งล่วงหน้ามาว่าจะมีการปรับขึ้นราคา สินค้า และเชื่อว่าตลอดปีนี้คงจะไม่มีสินค้ากลุ่มใดขอปรับขึ้นราคา เนื่องจากปีนี้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้น เนื่องมาจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลที่ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไปแล้ว ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อผ่อนรถที่เป็นภาระใหญ่

(RYT9.COM, 2-1-2555)

 

เครือข่ายแรงงานเฝ้าระวังสถานการณ์เลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท

2 ม.ค.- เครือข่ายแรงงานวอนกระทรวงแรงงานเฝ้าระวังการนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้าง 300 บาท พร้อมเตรียมเสนอข้อมูลผลกระทบให้กระทรวงแรงงานในอีก 2-3 เดือน ขณะที่กรมสวัสดิการฯ เฝ้าระวัง 29 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างสูง โดยเฉพาะพะเยาและขอนแก่น ที่พบแนวโน้มการเลิกจ้างแล้ว

นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ขณะได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 29 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างสูง โดยเฉพาะในจังหวัดพะเยา และขอนแก่น ซึ่งเป็นกิจการผลิตเสื้อผ้า และเซรามิก ที่มีแนวโน้มการเลิกจ้างให้ออกตรวจสถานประกอบการอย่างเข้มงวดเดือนละ 4,000 แห่งต่อเดือนและให้รายงานผลทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป แต่หากพบสัญญาณที่รุนแรงสามารถแจ้งมาที่ตนเองได้ตลอดเวลา  หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างหรือนำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างก็จะมีความผิดตาม กฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นการออกคำเตือนแต่หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนนายจ้างที่แจ้งการจ่ายค่าจ้างเท็จหากตรวจพบจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างย้อน หลังให้กับแรงงานแม้ว่าลูกจ้างจะยินยอมซึ่งเรื่องนี้มีอายุความ 2 ปีนับจากวันที่เกิดสิทธิ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการตรวจสอบสาเหตุการเลิกจ้างที่แท้จริงนั้นทำได้ยาก ดังนั้น ไม่ว่านายจ้างจะลูกจ้างด้วยสาเหตุใดจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า  ในช่วงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา ยังไม่พบสัญญาณการเลิกจ้างอย่างรุนแรงตามที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบสถานการณ์ที่แน่ชัด ซึ่งคณะนี้ คสรท.ได้เปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และตามจังหวัดต่างๆ หรือหมายเลขโทรศัพท์  02-251-3170  ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทในรอบแรก  เพื่อรับฟังสภาพปัญหาและสถานการณ์การเลิกจ้างจากแรงงาน และจะรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงแรงงานภายใน 2-3 เดือน  ทั้งนี้ ต้องการให้กระทรวงแรงงานเข้มงวดในการตรวจสอบเรื่องการนำเอาสวัสดิการมารวม เป็นค่าจ้าง 300 บาทด้วย

(สำนักข่าวไทย, 2-1-2556)

 

พนง.ผลิตชุดชั้นในโดนพิษ 300 บาท ประท้วงบริษัทหลังถูกลอยแพ

สระบุรี - กลุ่มพนักงานสตรีบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นใน กว่า 200 คนชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี ประท้วงบริษัทประกาศปิดโรงงาน ลอยแพพนักงาน โดยที่ไม่แจ้งให้พนักงานได้รับทราบล่วงหน้าหลังมีการเจรจาค่าจ้างแรงงาน 300 บาท จนได้รับความเดือดร้อนตั้งแต่ต้นปี 56

เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้ (2 ม.ค.56) กลุ่มพนักงานสตรีของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่เขตอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กว่า 200 คน ได้เดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี เพื่อประท้วงบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด โดยมีนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี เป็นแกนนำ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายถาวร พรหมมีชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี

โดยนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดส่วนใหญ่ทำงานกับบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ผลิตชุดชั้นในมานานกว่า 10 ปีทุกต่างได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากทางบริษัทฯได้ปิดประกาศปิดโรงงาน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยที่ไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าว่าจะมีการปิดโรงงาน

"ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ธันวคาม 2555 ที่ผ่านมา ทางบริษัทได้เคยเรียกตัวแทนพนักงานเข้าประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่า จ้างแรงงาน 300 บาทที่พนักงานควรจะได้รับแล้ว แต่ทางบริษัทบอกว่าไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากต้นทุนและวัตถุในการผลิตสูง ซึ่งการประชุมในวันดังกล่าวทั้งทางตัวแทนพนักงานและทางบริษัทยังหาข้อตกลง กันไม่ได้ ทางบริษัทจึงขอเลื่อนการนัดเจรจากับตัวแทนพนักงานออกไปก่อน แต่หลังจากวันที่ 25 ธันวาคม 2555 ทางบริษัทก็ไม่ได้ติดต่อกับตัวแทนพนักงานที่จะมีการนัดเจรจากันอีกเลย จนกระทั่งพนักงานมาพบในวันนี้ว่าทางบริษัทได้ประกาศปิดโรงงานไปแล้วเมื่อวัน ที่ 30 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยที่ทางบริษัทเองก็ไม่ได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า ทำให้กลุ่มพนักงานทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะแต่ละคนต้องอาศัยเงินเดือนในการเลี้ยงครอบครัวทั้งสิ้น" นายบุญสม ทาจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี กล่าว

ต่อมานายชโลธร ผาโคตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นผู้ชุมนุมได้แยกย้ายกันกลับ ส่วนทางด้านนายสมาน พงษ์พันธ์เดชา เจ้าของโรงงาน บริเษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไม่สามารถที่จะติดต่อขอทราบรายละเอีย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-1-2556)

 

อสังหาฯ ผวาขาดแรงงาน กระทบเลื่อนเปิดโครงการใหม่ปี 56

3 ม.ค. 55 - นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นอุปสรรคสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2556 โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่รัฐบาลประกาศให้ 70 จังหวัดปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็น 300 บาทต่อวัน ทำให้มีแรงงานส่วนหนึ่งกลับไปหางานทำในภูมิลำเนา ประกอบกับแรงงานอีกจำนวนหนึ่งไปทำงานก่อสร้างในโครงการสาธารณูปโภค เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสร้างถนน ส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอสังหาริมทรัพย์รุนแรงขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะชะลอการเปิดตัวโครงการ ใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนด

ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยการจัดสร้างหรือจัดหาผนังสำเร็จรูปและชิ้นส่วนอุปกรณ์สำเร็จรูปมาใช้มาก ขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงแรงงาน รวมทั้งหาแรงงานทดแทนด้วยการใช้แรงงานต่างด้าว โดยในภาคอสังหาริมทรัพย์มีการใช้แรงงานต่างด้าวประมาณร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เป็นแรงงานพม่า กัมพูชา ลาว และบังกลาเทศ

“ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 และเชื่อว่าจะรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ เพราะผลกระทบจากค่าแรง 300 ทั่วประเทศ ทำให้มีแรงงานบางส่วนย้ายกลับไปทำงานในภูมิลำเนา ประกอบกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการขยายตลาดที่อยู่อาศัยไปตาม จังหวัดใหญ่มากขึ้น แรงงานเหล่าก็ไปทำงานในต่างจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการใน กทม. และปริมณฑลขาดแคลนแรงงาน ผู้ประกอบการหลายรายต้องแก้ปัญหา โดยใช้แรงงานในกลุ่มเดียวกัน” นายสัมมา กล่าว

(สำนักข่าวไทย, 3-1-2555)

 

แรงงานเตรียมหารือคลังขยาย 11 มาตรการช่วยเหลือนายจ้างออกไปอีก 1 ปี

3 ม.ค.- นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  ยังไม่เห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่ชัดเจน เนื่องจากการปรับค่าจ้างเพิ่งมีผลบังคับ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา โดยคาดว่าในเดือนมีนาคมจะมียอดแรงงานและสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้ง หมด  ขณะที่การเลิกจ้างในปัจจุบันมีเพียง 5 แห่งเท่านั้น ที่เกิดจากการปรับค่าจ้าง ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว

ในวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) จะหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจากที่ขยายมาตรการช่วยเหลือเดิม 11 มาตรการออกไปอีก 1 ปี ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะนำผลการหารือเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาออกมาตรการ เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัด

(สำนักข่าวไทย, 3-1-2555)

 

ก.แรงงานร่วมเอกชนเปิดศูนย์อบรมแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง

3 ม.ค. 55 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านการก่อสร้าง ซึ่งขาดประมาณ 300,000 คน ว่า กระทรวงฯ จะลงนามความร่วมมือกับบริษัทก่อสร้าง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ กรุ๊ป จำกัด ภายในเดือนนี้ เพื่อร่วมจัดตั้งสถาบันพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานด้านก่อสร้างและจัดทำหลักสูตร ฝึกอบรม ซึ่งหลังจากลงนามความร่วมมือแล้ว คาดว่าจะเปิดอบรมได้ทันที โดยสถานที่ฝึกอบรมจะใช้สถานที่ของบริษัทก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง เป็นหลักสูตรระยะสั้น เช่น การขับรถเครน การใช้อุปกรณ์และเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการก่อสร้างโดยจะเปิดรับพนักงานบริษัทก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา แรงงานและประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ การอบรมในส่วนแรงงานและประชาชนที่สมัครเข้าอบรมจะต้องเสียค่าใช้จ่ายยก เว้นพนักงานบริษัทก่อสร้างทั้ง 3 แห่งที่เข้ารับการอบรมฟรี ซึ่งกระทรวงฯ จะออกวุฒิบัตรรับรองการให้แก่ผู้เข้าอบรมทุกกลุ่ม เพื่อส่งเสริมให้มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทก่อสร้าง ขณะเดียวกันจะมีการนำเข้าแรงงานต่างชาติผ่านระบบความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ ตามที่ภาคธุรกิจด้านการก่อสร้างยื่นขอโควตาไว้ด้วย

(สำนักข่าวไทย, 3-1-2555)

 

บ.ผลิตชุดชั้นในปิดกิจการเหตุขาดทุนสะสมไม่เกี่ยว 300

เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2556 นายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีพนักงานบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ซึ่งผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่ใน อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ชุมนุมและยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯจังหวัดสระบุรีเนื่องจากบริษัทปิดกิจการโดย ไม่แจ้งล่วงหน้าว่าก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2555 ทางบริษัทได้แจ้งกับลูกจ้างว่ามีประสบภาวะขาดทุน ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงได้แจ้งพนักงานที่มีอยู่ 287 คน หากพนักงานรายใดสมัครใจลาออกทางบริษัทยินดีจ่ายเงินชดเชย ต่อมาวันที่ 30 ธ.ค.2555 ทางบริษัทได้ปิดกิจการ ทำให้พนักงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันระหว่างผู้ว่าจังหวัดสระบุรี เจ้าหน้าที่กสร. ตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างได้ข้อยุติว่า ทางบริษัทจะจ่ายเงินค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ ลูกจ้างจะต้องได้รับในวันที่ 5 ม.ค.นี้

นอกจากนี้ วันนี้(3ม.ค.)ตนยังได้รับรายงานจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครปฐมว่า บริษัทมาสเตอร์พีซ การ์เม้นท์ แอนด์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเคยถูกออกคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายมาแล้ว โดยระหว่างนี้จะเร่งประสานกับนายจ้าง เพื่อขอให้มาเจรจากับพนักงาน และหากพบว่าในวันที่ 5 มกราคมนี้ บริษัทยังไม่จ่ายค้าจ้าง ระหว่างวันที่ 16-31 ธ.ค.2555 ก็จะมีคำสั่งให้นายจ้างค่าจ้างอีกครั้ง โดยหากฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีของบริษัทวีณาการ์เมนต์ จำกัด และบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอที่ปิดกิจการนั้นเกิดจากการขาดทุนสะสม ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่ได้เกิดจากการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยกรณีบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญการทอนั้นค้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)แจ้งว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ทำให้โรงงานผลิตรองเท้าปิดกิจการไป 30 แห่งนั้น ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่น รองเท้า สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มมีปัญหาในการดำเนินการกิจการมาเป็นระยะและทยอยปิดตัวไปเงียบๆ ก่อนปรับขึ้นค่าจ้าง

(เนชั่นทันข่าว, 3-1-2556)

 

คนงานวีณาการ์เม้นท์เตรียมบุก ก.แรงงาน หากนายจ้างเบี้ยว

วันนี้ (3 ม.ค.) นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีกลุ่มพนักงานสตรีของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชุดชั้นใน ตั้งอยู่เขตอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี กว่า 200 คน ได้เดินทางมาชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสระบุรี เพื่อประท้วงบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ที่ได้ประกาศปิดโรงงานไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา โดยที่ไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า เนื่องจากทางบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าจ้างแรงงาน 300 บาท ไปเมื่อวันที่ 2 ม.ค.56 ที่ผ่านมาว่า เมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้ชี้แจงต่อตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมไปแล้วว่า ได้ติดต่อกับนายสมาน พงษ์พันธ์เดชา เจ้าของโรงงานทางโทรศัพท์แล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่า ทางบริษัทจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้ในวันที่ 5 ม.ค.นี้ ส่วนเงินชดเชยนั้นตนได้เสนอให้ผู้เรียกร้องเขียนคำร้อง คร.7 เพื่อขอรับเงินชดเชยค่าจ้างตามกฎหมายต่อไป

ด้านนายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี ซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มพนักงานที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เปิดเผยว่า กลุ่มพนักงานทั้งหมดกว่า 200 คนต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน หากทางบริษัทยืนยันที่จะปิดโรงงาน เพราะแต่ละครอบครัวนั้นต่างดำรงชีพอยู่ด้วยการเป็นพนักงานของบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด ทั้งสิ้น

“ในส่วนของการช่วยเหลือจากทางบริษัทในวันที่ 5 ม.ค.56 ที่ทางบริษัทรับปากว่าจะจ่ายเงินเดือนที่ค้างให้แก่พนักงานนั้น หากมีการผิดพลาด หรือผิดเงื่อนไขตามที่พนักงานเรียกร้อง ทางกลุ่มพนักงานทั้งหมดก็จะไปรวมตัวกันที่บริเวณหน้าบริษัท วีณาการ์เมนต์ จำกัด พร้อมทั้งจะเพิ่มความกดดัน และจะเดินทางเข้าไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป” นายบุญสม กล่าว

ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น 300 บาทที่บรรดาแรงงานในจังหวัดสระบุรี จะอยู่ที่อัตรา 269 บาท

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-1-2556)

 

โรงงานตากปิดกิจการ 8 แห่งลอยแพแรงงาน 1,343 คน

นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตากปรับขึ้นจากวันละ 163 บาท เป็น 226 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% มีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง รอบแรกในช่วง 8 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 31 ธันวาคม 2555 ปิดกิจการไปถึง 8 แห่ง มีลูกจ้างตกงานทั้งหมดราว 1,343 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท โดยโรงงานสุดท้ายปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมก่อนที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาท โรงงานส่วนใหญ่ที่ปิดกิจการไป มีทั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อิเล็กทรอนิกส์ และหินแกรนิต ฯลฯ

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 300 บาทที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา เป็นการปรับขึ้นมาอีก 40% รวมทั้งสองครั้งจังหวัดตากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 80% นับเป็นการปรับเพิ่มในสัดส่วนที่มากจนเป็นภาระหนักกับผู้ประกอบการ หลายรายพยายามปรับตัวและทำทุกวิถีทางเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด และรอความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจับต้องได้ มากว่ามาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้กว่า 20 ข้อ แต่ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อยและไม่มีผลอะไรมากนัก เช่น ลดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% หรือ สนับสนุนวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกู้ยืมนำมาจ่ายค่าจ้างเพื่อส่งเสริม การจ้างงาน แต่ข้อเท็จจริงเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าถึงแหล่งทุนก็เป็นไปได้ยากเพราะหลักทรัพย์ของผู้ประกอบ การส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อน แล้ว

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เชื่อว่านับจากนี้อีก 2 - 3 เดือนจะเห็นภาพสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดตากทะยอยปิดกิจการ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% ได้ เพราะอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กว่า 90% เป็นเอสเอ็มอีและกว่า 90% เป็นกิจการประเภทรับจ้างผลิตไม่มีออร์เดอร์เป็นของตัวเองจึงมีการใช้แรงงาน เข้มข้นมากกว่าอุตสาหกรรมประเภทอื่น การเข้ามาตั้งโรงงานในพื้นที่ชายแดนเป็นความหวังหนึ่งที่จะลดต้นทุนด้านแรง งานแต่ปรากฎว่ารัฐบาลกลับมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่มีเพียงส่วนน้อยที่พอปรับตัวได้ แนวทางปรับตัวส่วนใหญ่ คือ ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกกว่าประเทศไทย เช่น พม่า และกัมพูชา แต่การย้ายฐานไปพม่ายังมีน้อยเพราะความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

(เนชั่นทันข่าว, 5-1-2556)

 

องอาจจี้รัฐเร่งหามาตรการช่วยผลกระทบค่าแรง 300 บาท

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงผลกระทบของนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทขอรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและกลุ่มแรงงานอย่างเป็น รูปธรรมเพราะขณะนี้เริ่มเกิดผลกระทบมากโดยเฉพาะกับกลุ่ม SMEs ในกลุ่มเสี่ยงนับล้านรายและกลุ่มแรงงานกว่าแสนคนที่กำลังจะประสบปัญหา เพราะเชื่อว่านโยบายจะเป็นตัวเร่งให้มีการปิดกิจการเร็วขึ้น รวมถึงขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมนุ่งห่มและสิ่งทอยังเริ่มย้ายฐานการผลิตไป ประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากประสบปัญหาค่าแรง ทั้งนี้ยืนยันว่าทางพรรคประชาธิปัตย์มีความประสงค์ให้ขึ้นค่าแรงเช่นกันแต่ ต้องทำควบคู่มาตรการรองรับที่เหมาะสมคือการพัฒนาฝีมือแรงงานเพราะจะสามารถ แก้ปัญหาในระยะยาวได้

(โพสต์ทูเดย์, 5-1-2556)

 

“กิตติรัตน์” ยืนยันเสนอมาตรการลดผลกระทบค่าแรงเข้า ครม.

7 ม.ค.55 - นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวยืนยันว่าในการประชุม ครม.วันที่ 8 ม.ค.นี้ จะนำเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศให้ที่ประชุมพิจารณาแน่นอน ซึ่งรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนนำเสนอมาโดยเฉพาะการขอให้รัฐบาลจ่ายค่าส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่ม ขึ้นแทนเอกชน แม้ว่าหลายหน่วยงานจะเห็นว่าเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะสมก็ตาม แต่ทั้งหมดต้องให้ ครม.เป็นผู้พิจารณาตัดสิน แต่ในเวลานี้ขอยืนยันว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้นถือเป็นนโยบายที่ถูกต้องเพราะเห็นได้จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง จากการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าไม่เหมาะวันที่ 1 เม.ย.55 ที่ผ่านมา ได้ทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9  ขณะเดียวกันยังมีประสิทธิภาพในส่วนอื่นเพิ่มตามขึ้นมาด้วย แสดงให้เห็นว่าการเดินหน้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถือเป็นการพัฒนาประเทศที่ถูก ต้องแล้ว โดยมั่นใจว่าผู้ประกอบการต้องอยู่ได้แน่นอนในเมื่อทุกอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มมากขึ้นทั้งฝีมือแรงงาน หรือคุณภาพสินค้า

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงอาจส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอให้อดทนสักระยะหนึ่งเพราะผลจากการปรับขึ้นค่าแรงจะกลับ คืนมาในรูปของกำลังซื้อในประเทศซึ่งจะเข้าสู่ภาคเอกชนในการหมุนรอบต่อไปของ ระบบเศรษฐกิจเพราะกำลังซื้อภายในประเทศจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากที่ค่าแรง ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริหารของภาคเอกชนเองที่ได้รับเงินเดือนสูง ๆ ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพิ่ม มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในประเทศมีผู้ประกอบการเกือบ 1 ล้านราย และที่ผ่านมาก็มีทั้งปิดกิจการ เปิดกิจการ ขยายกิจการ หลายร้อยรายอยู่แล้วในแต่ละสัปดาห์ ไม่ว่าจะปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และการปรับขึ้นค่าแรงใน 7 จังหวัดเมื่อปี 55 ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแม้ว่าจะเป็นการปรับขึ้นเพียง 7 จังหวัดนำร่องแต่ก็มีจำนวนกิจการเกินกว่าร้อยละ 50 ของสถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งทำให้แรงงานมีคุณภาพดีขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายจ้างลดการสูญเสียประเภทอื่นลงได้มาก

(สำนักข่าวไทย, 7-1-2556)

 

จี้รัฐบาลรับประกันแรงงานไม่ตกงานหลังขึ้นค่าแรง 300 บาท

7 ม.ค.56 - นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลปรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศว่า รัฐบาลจะต้องรับประกันว่า ไม่มีแรงงานตกงานจากนโยบายดังกล่าว และขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพราะนโยบายค่าแรง 300 บาท เป็นการนำเงินภาคธุรกิจไปสร้างคะแนนเสียงให้รัฐบาลจึงต้องมีการชดเชยที่ เหมาะสมให้กลับคืนไปยังภาคธุรกิจด้วย ทั้งนี้เห็นว่า 11 มาตรการแรกที่ออกไปก่อนหน้านี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะเป็นเพียงนำมาตรการที่มีอยู่แล้วมายำรวมกันและอ้างว่า เป็นมาตรการในการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ส่วนอีก 5 มาตรการที่จะเข้าที่ประชุมครม.วันที่8ม.ค.เป็นมาตรการแก้ปัญหาไม่ถูกทาง โดยรัฐบาลบอกว่าจะขอดูผลกระทบ 3 เดือนค่อยคิดว่าจะช่วยอย่างไร คิดว่าหากทำเช่นนั้นก็สายเกินไป คือ มีการเลิกกิจการแล้ว มีการตกงานเกิดขึ้นแล้ว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า นโยบายใหญ่ขนาดนี้ทำไมจึงไม่มีการศึกษามาตรการรองรับให้เท่าทันเหตุการณ์ แต่กลับทำเหมือนเด็กเล่นคือ ลองผิดลองถูก เมื่อดูผลมีความเสียหายค่อยออกมาตรการชดเชย

นายสรรเสริญกล่าวว่า ทั้งๆที่มีธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบถึง 3 ล้านรายและกระทบการจ้างงานถึง 10 ล้านคน จึงต้องมีมาตรการรองรับก่อนออกนโยบาย ทั้งนี้พรรคเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไปให้เอกชนมีเวลา ปรับตัว ไม่ใช่ขึ้นพรวดเดียวเป็น300บาท แต่เมื่อมีการดำเนินการแล้วรัฐบาลก็ต้องชดเชยในช่วงที่ภาคเอกชนปรับตัวด้วย

ส่วนกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุว่า การขึ้นค่าเเรง300บาทนั้น ให้เวลาภาคเอกชนเตรียมตัวมา 1 ปีแล้วนั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในบางจังหวัดค่าแรงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเช่น จ.พะเยาจาก 159 บาทเป็น 300 บาท ศรีษะเกษจาก 160 บาทเป็น 300 บาท จึงปรับตัวไม่ทัน ดังนั้นนายกิตติรัตน์ต้องเป็นนักธุรกิจเองจะได้รู้ว่า ค่าแรงที่ปรับแบบก้าวกระโดดเช่นนี้จะเอาอยู่หรือไม่ ทั้งนี้จาก 77 จังหวัด มีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่ค่าแรงอยู่ที่กว่า 200 บาท นอกจากนั้นต่ำกว่า 200 บาททั้งสิ้น ดังนั้นจึงควรจะชดเชยตามข้อเรียกร้องของเอกชน 3 ปีแบบขั้นบันได แต่รัฐบาลก็ไม่ตอบรับในประเด็นนี้ จึงนำมาสู่คำถามซึ่งพรรคอยากให้รัฐบาลตอบว่า ทำไมจึงไม่ดำเนินการเรื่องนี้ การอ้างว่าใช้เงินเปลืองกลัวว่าไม่มีเงินนั้น ทำไมจึงเอาเงินไปทำโครงการจำนำข้าวที่มีการทุจริตเป็นแสนล้านบาทต่อปีรัฐบาล ยังเดินหน้า แต่การชดเชยค่าแรงซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประชาชนทั่วไป ทำไมรัฐบาลกลับถอยหลังไม่เดินหน้าช่วยเหลือ ถ้าอ้างว่าไม่มีเงินพรรคขอเสนอว่าให้ยกเลิกโครงการจำนำข้าวเป็นประกันรายได้

นายสรรเสริญ กล่าวด้วยว่านโยบายที่จะลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีจาก 3 %เหลือ 2 % ซึ่งจะทำให้รัฐขาดรายได้ 6.4 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น หากนำมาทอนเป็นตัวเงินให้กับภาคธุรกิจถือว่าน้อยมากจากมาตรการดังกล่าว เหมือนกับการนำค่าแรงมาหักภาษี จึงเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือไม่ตรงจุดเช่นเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคลเพราะ เป็นการหว่านแหช่วยทุกธุรกิจไม่ได้ดูเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลจึงควรทบทวนแนวทางใหม่ด้วยการชดเชยให้ตรงจุดกับธุรกิจที่ได้รับผล กระทบจริงซึ่งจะเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

"และยังเห็นว่านโยบายประชานิยมหลายนโยบายของรัฐบาลไม่ได้เป็นไปตามเป้า หมายที่วางแผนไว้ เช่น โครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งเดิมรัฐบาลคาดว่าจะเสียรายได้จากภาษีประมาณสามหมื่นล้านบาท แต่กลับกลายเป็นว่ายอดทะลุเกือบแสนล้านบาทแล้ว และที่อันตรายที่สุดคือ นโยบายที่ยังไม่ได้แจกแจงตัวเลขคือใช้วิธีให้องค์กรอื่นเช่น ธนาคารรัฐควักเงินไปก่อน หมกเม็ดตัวเลขความเสียหาย เป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุด เพราะถ้าบานปลายจะเห็นชัดในปีหลัง ๆ เช่น จำนำข้าวเสียหายปีละ 1-1.5 แสนล้านบาท เป็นตัวถ่วงในเรื่องงบประมาณและเพิ่มหนี้สาธารณะ หากรัฐบาลชุดนี้บริหารครบ 4 ปีมีความเป็นไปได้หนี้สาธารณะทะลุ 60 % ของจีดีพี"นายสรรเสริญกล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 7-1-2556)

 

เผดิมชัยอ้อมแอ้มรับพิษ 300 บ. เข้าคิวเจ๊งอีก 7 โรงงาน

เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ?จากการรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ณ วันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1-4 มกราคม 2556 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ ?300 บาท จำนวน 4 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 275 คน ส่วนสถานประกอบการที่แนวโน้มการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้าง จำนวน 2 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 480 คน และมีอีก 5 แห่ง ที่ส่งสัญญาณการขาดสภาพคล่องและหมดสัญญาเช่าที่มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 999 คน

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ตนได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจาก การปรับขึ้นค่าจ้างโดยเฉพาะการเลิกจ้างแรงงาน โดยให้ กสร.กำชับไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ให้เข้าไปช่วยลูกจ้างเจรจากับนายจ้างทันทีที่ทราบว่า มีสถานประกอบการในพื้นที่ปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องการจ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเร็วที่สุด ไม่ให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ เพื่อที่ลูกจ้างจะได้มีเงินไว้ใช้จ่ายระหว่างเริ่มต้นหางานใหม่

ส่วนกรณีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผล กระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างโดยจัดสรรงบ 5,000 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนเงินกู้เสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ เป็นเวลา 1-2 ปีนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล แต่ในส่วนของกระทรวงแรงงานจะเน้นการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่ สถานประกอบการ รวมทั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็มีโครงการให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานวงเงินกว่า 9,000 ล้านบาท โดยให้กู้ผ่านธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ?ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย ?จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้แล้ว เช่น สถานประกอบการมีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนแต่เดิมกู้ได้เพียง 1 ล้าน ก็ปรับเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท ?ซึ่งธุรกิจเอสเอ็มอีมายื่นกู้ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556

รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ออกมาแถลงข่าวนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ทำให้แรงงานนอกระบบกว่า 24 ล้านคน ได้รับผลกระทบเพราะค่าครองชีพและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นเท่ากับ นโยบายนี้ฆ่าคนจนให้ตายทั้งเป็น ว่า ?น.ส.มัลลิกา ไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ด้านแรงงาน ซึ่งความจริงแล้วผู้ที่แถลงข่าวควรเป็น ส.ส.พรรค ปชป.ที่เคยเป็นอดีต รมว.แรงงาน ที่มีอยู่ถึง 2 คน และช่วงที่รัฐมนตรีของพรรค ปชป.มานั่งบริหารกระทรวงแรงงาน ก็ไม่ได้สะสางปัญหาต่างๆ ในกระทรวงแรงงานให้เรียบร้อย เช่น ปัญหาแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศถูกเรียกเก็บค่าหัวคิวสูงเกินจริง

(แนวหน้า, 7-1-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net