Skip to main content
sharethis





.......................................................


 


"กลุ่มเราเข้าใจ" จัดกิจกรรมเล็กๆ สำหรับเด็กๆ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่ติดเชื้อจากต่างจังหวัด มาทำกิจกรรมร่วมกันโดยมีศิลปะเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และสื่อสารให้สังคมได้เข้าใจพวกเขามากขึ้น


 


คนส่วนใหญ่มักจะเห็นว่า หากต้องอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อจะมีความเสี่ยง หรือบางคนอาจจะไม่สนใจ เพราะถูกความเร่งรีบของสังคมปัจจุบันที่มี "เงิน" เป็นตัวแปรคอยควบคุมความสำนึกคิด


เป็นตัวกำหนด...ศิลปะจะเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารให้สังคมเข้าใจเด็กๆ เหล่านี้มากขึ้น


 


ผู้ติดเชื้อไม่ได้ถูกต่อต้านเพราะติดเชื้อ แต่"ความไม่รู้" ต่างหากที่ก่อให้เกิดการสร้างทัศนคติต่อต้าน เด็กๆ ผู้ติดเชื้อที่กำลังจะโตขึ้นมาท่ามกลางทัศนคติและความไม่เข้าใจเหล่านั้น อาจจะมีความความรู้สึกบางอย่างซ่อนอยู่ลึกๆ ภายใน


 


"กลุ่มเราเข้าใจ" ชวนเด็ก 27 คน จากภูมิภาคที่แตกต่างกันมาทำกิจกรรมและอยู่ร่วมกันด้วยความใส่ใจในกันและกัน โดยหวังว่าจะช่วยให้ความกดดันในใจของพวกเขาคลายลง


 


เด็กๆ ที่มาร่วมกันทำกิจกรรมเป็นผู้ติดเชื้อจากหลายช่วงวัย ส่วนมากเป็นเด็กวัยประถมที่มีความคิดและช่างฝัน  ในช่วงเวลา 4 วันที่มี ทุกคนจะได้สรรค์สร้าง "ศิลปะ" ตามแขนงที่สนใจ โดยสื่อสารเรื่องราวของ 4 วันที่ผ่านพบ และนำมาถ่ายทอดให้กันและกันฟัง


 


ครูแหลม ถ่ายทอดวิธีการพูดความรู้สึกผ่านฝีแปรงบนภาพวาดและบทกวีให้กับเด็กๆ กลุ่มหนึ่ง เด็กๆ บอกว่าครูแหลมใจดี และทำให้เธออยากวาดภาพต่อไป หลังจากเอาผลงานมาอวดเพื่อนๆแล้ว หลายคนอยากมีสี พู่กัน ไว้ทำงานศิลปะด้านนี้ต่อ


 


 



 


 


เด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งสนใจการถ่ายภาพ เมื่อครูเดี่ยวและครูเซ้งสอนให้รู้จักกับกล้องและให้เด็กๆ ลองไปถ่ายภาพ กรุงเทพ ฯ ในสายตาของพวกเธอเองก็ทำให้พบว่าบางคนถ่ายทอดมุมมองออกมาได้อย่างน่าประหลาดใจ


 


ครูเชิดพงษ์ เหล่ายนตร์ พูดถึงภาพถ่ายของเด็กๆ แต่ละคนว่า ภาพถ่ายของพวกเขามี "ข้อความ" ภาพของ โต มีรายละเอียด มีไอเดีย อิฐ มองภาพของกรุงเทพฯที่ชัดมาก และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพคนกวาดถนน คนนอนกลางถนน คนขายพระ คนตาบอด เป็นภาพกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มีแค่ตึกหรืออาคารสวยๆ ตุ้ม ก็ถ่ายภาพได้ดูโรแมนติก จนทำให้เรานึกถึงภาพกรุงเทพเป็นฝรั่งเศส ในภาพถ่ายของเธอมีทั้งคุณตำรวจใจดีที่แอ็คท่าให้ถ่ายรูป ภาพคนเดินผ่านตึกเก่าๆ หรือภาพคนกำลังเล่นกีตาร์ริมถนนให้คนผ่านไปผ่านมาฟังอย่างมีบรรยากาศ ในขณะที่ เม เลือกที่จะถ่ายภาพคน เช่น ภาพ "หลับสบายเชียวนะ" ที่แอบถ่ายคนนอนหลับกลางสวนสาธารณะ เป็นภาพที่ทำให้กรุงเทพดูมีชีวิต


 


 


"สวยและน่าจะเอาไปทำโปสเตอร์ขายได้เลย" ครูเชิดบอกอย่างนั้น


 


หลังฟังคำวิจารณ์ของครูเชิดแล้ว กลับไปดูภาพของเด็กๆ อีกรอบหนึ่งก็ทำให้คิดเพลินๆ ต่อไปว่า เด็กๆ มีมุมมองที่ผ่อนคลายจนอาจทำให้ผู้ใหญ่ต้องลืมทำมาหากินไปสักพัก พวกเขามองโลกได้อย่างเปิดกว้างและเต็มไปด้วยจินตนาการที่สวยงาม ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมืองลืมนึกถึงไปแล้ว


 



 


 


                      


                 


                              


 


 


 


กิจกรรมของเด็กกลุ่มสุดท้ายคือเสียงหัวเราะจากความเงียบ


 


เรื่องราวบางอย่างของสังคมเหมือนโดนซ่อนไว้ใต้พรม เหมือนละครเงียบของเด็กๆ ในวันนั้นที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเพื่อนๆที่มาดู


 


 


การออกท่าทางขำขันของนักแสดงละครเงียบเพื่อแลกมาซึ่งเสียงหัวเราะของเพื่อนๆ นั้น จะมาจากความรู้สึกแบบไหนก็คงยากที่จะบอกได้ พวกเธอแสดงอย่างเต็มที่เพื่อให้เพื่อนๆ มีความสุข แต่เมื่อพวกเธอกลับไปสู่สังคมที่อาจจะไม่เข้าใจและอาจจะไม่ยอมรับสิ่งที่เธอเป็นอีกครั้ง เธอจะต้องกลับไปสู้กับความกดดันนั้นด้วยตัวของเธอเองคนเดียว เธอจะเรียกหาเสียงหัวเราะให้กับตัวเองได้หรือไม่นะ ?


..............................................


ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ HIV เป็นแสนคนและมีเด็กมีอีกมากกว่าสองหมื่นที่ติดเชื้อ ความจริงแล้วกลุ่มผู้ติดเชื้อเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างไปจากคนทั่วไปในสังคม แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจและมีความ "กลัว" จนทำให้มองกลุ่มผู้ติดเชื้ออย่างแตกต่าง และทำให้เขาเหล่านั้นพลาดโอกาสทางสังคมหลายๆ อย่างไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับโลกใบนี้ได้อีกมากมาย เหมือนกับศิลปะของเด็กๆ กลุ่มนี้


 


ถึงเวลาที่เราจะเดินไปรู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นได้แล้วหรือยัง ?     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net