Skip to main content
sharethis

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในภาคใต้ที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี อาจเป็นปัญหาทางมายาคติของสังคมไทยที่เชื่อในเรื่อง "รัฐเดี่ยว" แบบ "โบราณ" แต่ไม่เคยทำความเข้าใจธรรมชาติของรัฐใหม่เลยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5


 


หากพิจารณาพัฒนาการความเป็น"รัฐเดี่ยว" ที่ "ทันสมัย" จากประสบการณ์ของประเทศรัฐเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จในสังคมโลกจะพบว่าความเป็น "อิสระ" ต่างหากคือทางออกของความเป็น "รัฐเดี่ยว" ที่มีความหลากหลายทางความเชื่อ สังคม และวัฒนธรรม


 


วันที่ 14 มิถุนายน 49 วงเสวนา "วันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ระบุการปกครองแบบรัฐเดี่ยวของไทยนั้นเชย โบราณคร่ำครึ ไปเสียแล้ว และกำลังสร้างปัญหาขั้นรุนแรงจึงควรต้องปรับเปลี่ยนในขณะที่ยังมีเวลา เพราะวันหนึ่งข้างหน้า "เลือดและน้ำตา" ในกรุงเทพฯอาจกลายเป็นเงื่อนไข "ใหม่" สำหรับความแตกต่างรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดใต้


 


ติดแต่ว่าตอนนี้สังคมไทยคงยังไม่เลือกที่จะเชื่อ "เอไอเอส" (ที่คนที่คุณก็รู้ว่าใครเคยเป็นเจ้าของ)ออกมาสนับสนุนให้คนไทย "คิดออกจากกรอบ" เพราะเรากำลังบอกตัวเองทุกวันว่า "ออกจากบ่อน้ำก็คือบ่อน้ำ"


 


000000


 


รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ได้ทำภารกิจตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)มอบหมายเพียงครึ่งเดียว เพราะคิดว่าทำไปรัฐก็ไม่ทำตามเลยไม่ทำดีกว่า แต่สามารถพูดถึงสิ่งที่ศึกษาได้ โดยขอพูดถึงรูปแบบการปกครองของญี่ปุ่นและอังกฤษที่เป็นรัฐเดี่ยวสมัยใหม่และประสบความสำเร็จ


 


ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว การคิดแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ที่ศึกษาจึงเป็นไปในกรอบของรัฐเดี่ยวทั้งในแบบโบราณและสมัยใหม่ ที่รัฐไทยเป็นอยู่ตอนนี้คือรัฐเดี่ยวซึ่งโบราณมาก โบราณจริงๆ จุดยืนคือตอนนี้ควรจะเป็นรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้า โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีระบบรัฐสภา ดังนั้นสิ่งที่จะนำเสนอจะไม่ใช่การพูดในกรอบการปกครองแบบประธานาธิบดี จึงอยากพูดตัวอย่างในสองกรณีคือ อังกฤษและญี่ปุ่นที่เป็นรัฐเดี่ยวในลักษณะเดียวกับไทย


 


ในเรื่องการจัดการพื้นที่ในรูปแบบรัฐเดี่ยวสมัยใหม่ ต้องมองการวางโครงสร้างการปกครองเหมือนตึกที่มี 3 ชั้น คือส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น ในกรณีของอังกฤษและญี่ปุ่น ชั้นบนสุดก็เป็นประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขและรัฐสภา ชั้นตรงกลางเป็นภูมิภาคซึ่งน่าสนใจ ส่วนชั้นล่างคือท้องถิ่น


 


สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ในกรณีของญี่ปุ่นคือครั้งหนึ่ง คนในแถวฮอกไกโด โอกินาวา ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นญี่ปุ่นเลย อีกทั้งมีประวัติอันยาวนานเป็นของตัวเอง ส่วนในกรณีอังกฤษหรือสหราชอาณาจักรก็มีไอร์แลนด์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเผชิญหน้ากับสหราชอาณาจักร


 


ในส่วนต่างของประเทศไทยนั้นมีราชการส่วนกลางโบราณที่สุด การปกครองมาจากส่วนกลางจำนวนมาก แต่ในส่วนกลางเองกลับมีคนในส่วนภูมิภาคจำนวนน้อย และเมื่อชั้นบนหรือส่วนกลางไปแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ก็ไม่มีเอกภาพเลย เมื่อมองจากชั้นบนก็คือกรุงเทพส่งหน่วยงานไปแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้กว่า 200 หน่วย แค่หน่วยข่าวกรองอย่างเดียวมีจำนวนเกือบสิบหน่วยก็ทะเลาะอย่างแน่นอน ตรงนี้เป็นความยุ่งยากของส่วนกลางไทย ที่เป็นรัฐโบราณคือส่วนกลางลงไปทำเองเป็นจำนวนมาก


 


ประสบการณ์สามทศวรรษที่ผ่านมา ในญี่ปุ่นและอังกฤษมีการจัดการที่ดีมากจริงๆ โดยอังกฤษมอบอำนาจไปถึงทางนิติบัญญัติในขอบเขตของรัฐบาลกลางด้วยซ้ำ ทั้งๆที่รัฐเดี่ยวโดยทั่วไปจะมอบหรืออำนาจเชิงบริหารเท่านั้นไปให้ภูมิภาค อังกฤษจึงเป็นรัฐเดี่ยวสมัยใหม่ที่ไปไกลกว่าการแบ่งอำนาจให้เป็นเรื่องใหญ่ที่ก้าวหน้า ส่วนญี่ปุ่นเองก็จะไม่ให้ส่งทุกหน่วยจากส่วนกลางลงไปแก้ปัญหา แต่จะส่งผ่านหน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ มีทบวงภูมิภาค เช่น ทบวงฮอกไกโด และส่วนล่างก็มีการปกครองส่วนท้องถิ่นรองรับ


 


ถ้าเข้าใจพัฒนาการของรัฐเดี่ยวที่ก้าวหน้าไปแบบนี้ รัฐเดี่ยวสมัยใหม่จึงไม่ใช่เรื่องการมอบอำนาจหรือแบ่งอำนาจเล็กๆน้อยๆไปให้ท้องถิ่น แต่ต้องคิดไปไกลกว่านั้นพอสมควร ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ หากที่ภาคใต้จะตรากฎหมายหรือมีรูปแบบการศึกษาของตัวเองในขอบเขตที่ส่วนกลางคอยกำกับดูแล เพราะตอนนี้ไทยก็มีศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองอยู่ หากส่วนภูมิภาคมีการตรากฎหมายขัดแย้งกับส่วนกลางหรือรัฐธรรมนูญ ศาลก็สามารถตีความได้


 


ระบบการจัดการของรัฐเดี่ยวสมัยใหม่คือต้องการเห็นความหลากหลาย แต่ขอพูดแบบตรงไปตรงมาเราคิดถึงความเป็นเอกภาพของคนในชาติ ความเป็นเอกภาพภูมิภาค ความเป็นเอกภาพของจังหวัด ถ้าทำอะไรแปลกแยกไปจากนี้เรารับไม่ได้เลย


 


ความเป็นเอกภาพเป็นอะไรที่เชยที่สุด ความเป็นเอกภาพนั้นเป็นรัฐเดี่ยวชั้นอนุบาล จริงอยู่ว่าในช่วงแรกของการสร้างรัฐเดี่ยวเอกภาพเป็นสิ่งรวม แต่เมื่อไปอีกขั้นหนึ่งความเป็นเอกภาพจะกลายเป็นอุปสรรคของการปกครอง รัฐเดี่ยวสมัยใหม่ต้องการความเป็นอิสระในขอบเขตที่ส่วนกลางอนุญาต


 


ดังนั้นขอวาดภาพฝันๆไว้ว่าถ้าอยากเห็นการคลี่คลายในภาคใต้ ต้องไม่คิดว่าปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ผู้มีอิทธิพลหรืออะไรก็ตาม ปัญหาใหญ่สุดคือระบบการปกครองของเราเองหรือการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งถ้าจะเปลี่ยนก็มี 2 สูตร


 


หากเปลี่ยนโดยใช้สูตรอังกฤษจะแรงมากๆ เพราะอาจต้องถึงขั้นที่ส่วนกลางยังไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา คือต้องเห็นการฆ่าที่กรุงเทพฯก่อน ส่วนกลางถึงจะหลั่งน้ำตาว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมให้ปกครองตัวเอง คงต้องรอให้ถึงเวลานั้น ดังนั้นส่วนกลางต้องตัดสินใจ อาจทำในเรื่องให้มีทบวงในสามจังหวัดโดยเฉพาะ ให้กำกับดูแลหน่วยงานเดียว ส่วนหนึ่งคือคล้ายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)แต่เข้มข้นกว่า หรืออาจต้องมีสภาเฉพาะแบบอังกฤษ เช่น มีสภาในไอร์แลนด์ ได้รับมอบอำนาจขั้นสูงในการตรากฎหมายบางประการในขอบเขตที่ส่วนกลางอนุญาต


 


ความยุ่งยากของเราไม่ใช่การทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) หรือเทศบาลเข้มแข็ง แต่อยู่ที่ชั้นสองคือภูมิภาคต้องดีพอสมควร ถ้าดีชั้นล่างก็จะถูกกำกับดูแลให้ทำงานไปในเกณฑ์ที่ดี ในอังกฤษมีสภาแบบนี้ถึง 8 แห่ง


 


ส่วนสูตรญี่ปุ่น คือ มีทบวงเป็นของจังหวัด เช่น ทบวงโอกินาว่า หรือฮอกไกโด และไม่ได้กระทบการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือ อบจ.


 


การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องคิดเชิงการบริหารจัดการ อย่าไปคิดที่การอบรมกล่อมเกลา ประชาสัมพันธ์ ปราบปราม เพราะปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ประชาชนกับภาครัฐ


 


000000


 


ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี


นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


เมื่อสองปีก่อนเกิดเหตุการณ์ในภาคใต้ที่มีคำอธิบายอย่างมากมายหลากหลาย แม้แต่ในพื้นที่เองก็สับสน จึงหันไปเริ่มต้นศึกษาที่ความรุนแรงในลักษณะข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่ออธิบาย โดยการค้นข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี เพื่อหาภาพสถิติความรุนแรงที่เกิดขึ้น แหล่งข้อมูลหนึ่งคือสื่อต่างๆ อีกส่วนหนึ่งก็นำมาจาก ศอ.บต.ในสมัยที่หน่วยงานนี้ยังมีชีวิตอยู่


 


จากการศึกษาทำให้ได้ฐานข้อมูลพบว่า กราฟความรุนแรง พ.ศ. 2546 - 2547 พุ่งโด่งอย่างฮวบฮาบ จนเป็นจุดที่น่าสังเกต หากมองในแง่ของนักวิเคราะห์สังคมจะเห็นว่าต้องมีอะไรบางอย่างเป็นแรงขับหรือตัวจุดชนวนที่สำคัญต้องมีความหมาย ความรุนแรงก็ไม่ตกลงมาจนเข้าสู่ปีที่สามแสดงถึงการมีความหมายในเชิงคุณภาพที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมบางอย่างในพื้นที่


 


รูปแบบความรุนแรงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นการลอบสังหารโดยใช้ปืนและรถมอร์เตอร์ไซค์ เหยื่อมีทั้งประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป้าหมายหลักคือประชาชนที่คละไปทั้งพุทธและมุสลิม แต่น่าสังเกตว่ามุสลิมอาจตกเป็นเหยื่อมากกว่าเล็กน้อย


 


นอกจากนี้รูปแบบของการโจมตีไม่ใช่การสุ่ม จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 80 กว่าเปอร์เซ็นเชื่อว่ามีกลุ่มกระบวนการเป็นผู้กระทำ เช่น อาจมีการส่งสัญญาณเตือนก่อนการโจมตี ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์เป็นความรุนแรงจากเรื่องส่วนตัว และประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะการเก็บผู้ที่เชื่อว่าเป็นสายของกระบวนการเคลื่อนไหวโดยการอุ้มฆ่า นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากงานวิจัย


 


หากภาพรวมเหล่านี้เป็นจริงก็หมายถึงในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ ส่วนแนวคิดการทำงานของกระบวนการอาจนำไปเชื่อมกับมิติทางประวัติศาสตร์ การกดขี่ข่มเหง และความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นพลังผสมผสานที่ท้าทายอำนาจรัฐอย่างรุนแรงและเป็นระบบ ส่วนการตอบโต้แบบแรงมาก็แรงไปจะกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ


 


อย่างไรก็ตามในขณะที่รัฐมีสายเหยี่ยวก็มีสายพิราบด้วย เหตุการณ์จึงยังไม่ได้รุนแรงไปกว่านี้ แต่จะไม่ยุติในเวลาอันใกล้ ส่วนการเสนอทางแก้ไขของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)นั้นเป็นการมองภาพระบบโครงสร้างและแก้ปัญหาในภาพใหญ่ จะช่วยจำกัดขอบเขตความรุนแรงในภาพใหญ่ให้ลดลงมาเรื่อยๆได้


 


การเคลื่อนไหวที่เป็นตอนนี้มองว่าคือต่อสู้เพื่อปกป้องอัตลักษณ์ไม่ว่าจะด้วยเงื่อนไขใดหรือใครทำก็ตามจะมีความรู้สึกร่วมกัน ดังนั้นขอเสนอทางแก้ไขว่าน่าจะมีการทำโครงสร้างการปกครองเพื่อกระจายอำนาจใหม่


 


จากการสำรวจความเห็นของผู้นำศาสนาในพื้นที่พบว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการปกครองในพื้นที่รูปแบบใหม่ที่ควรมีหลักของศาสนาอิสลามมาผนวกภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เช่น สภาซูรอ กฎหมายอิสลามหรือชาริอะห์ ซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่รักษาอัตลักษณ์เอาไว้ได้ โดยผู้เสนอแนวคิดเหล่านี้ระบุว่าทำภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ โดยปกติรัฐก็เปิดโอกาสในหลายพื้นที่อยู่แล้ว เช่น พัทยาหรือกรุงเทพ แต่ในสามจังหวัดภาคใต้ให้เพิ่มลักษณะพิเศษทางศาสนาเข้าไป


 


ส่วนจะให้แยกเป็นเขตปกครองพิเศษไปเลย มีความเห็นในพื้นที่เพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มอง พื้นที่ต้องการการออกแบบรูปแบบการปกครองที่เหมาะเพื่อแก้ปัญหามากกว่า ถ้าผู้รู้รัฐศาสตร์ทั้งหลายมาช่วยกันก็จะหารูปแบบในการแก้ปัญหาระยะยาวได้


 


หมายเหตุ


เสวนานี้จัดขึ้นวันที่ 14 มิถุนายน 2549 เนื่องในวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ"ความรุนแรงและปัญหาทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ : การรับรู้และข้อพิจารณารูปแบบการบริหารการปกครอง" ณ ห้องทวีแรงขำ (ร.103) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net