Skip to main content
sharethis

โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



 


 


เชื่อได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยคงอยากให้ศาลตัดสินลงโทษจำคุกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบซึ่งเป็นคดีความอยู่ในศาลอาญาขณะนี้หลายคดี


 


ด้วยสาเหตุว่าหากถูกตัดสินลงโทษจำคุกก็จะมีผลทำให้ กกต.ที่มีอยู่ในปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเป็นลักษณะต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 (3) และหากเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับเป็นการแก้ไขสถานการณ์ความยุ่งยากของ กกต.ที่อยู่ในภาวะ "ไม่ลาออก-ไม่ตั้งใหม่"


 


แต่การที่ กกต.จะพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุมีลักษณะต้องห้ามนั้น ต้องเป็นไปตามมาตรา 106 (3) คือ "ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย" เพราะฉะนั้น จึงหมายความว่าไม่เพียงการตัดสินลงโทษจำคุกเท่านั้น แต่ในคำพิพากษาต้องไม่มีการรอลงอาญา


 


และประเด็นสำคัญอีกประเด็นก็คือ หาก กกต.ซึ่งแพ้คดีแล้วได้ยื่นประกันตัวเพื่อขอต่อสู้ในคดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลก็จะต้องปฏิเสธการให้ประกันตัวด้วย จึงจะทำให้ กกต.พ้นจากตำแหน่งไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งสองประเด็นมีสิ่งที่ควรพิจารณา ดังนี้


 


สำหรับประเด็นการรอลงอาญา คดีอาญาหลายคดีที่ผ่านมาซึ่งจำเลยเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง ในกรณีที่เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง เมื่อจะมีการลงโทษก็มักจะมีการนำเอาการปฏิบัติหน้าที่รับใช้บ้านเมืองมาเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งในการทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษแต่ให้ "รอลงอาญา" ไว้ก่อน


 


การให้เหตุผลของการรอลงอาญาว่าเนื่องจากเคยเป็นข้าราชการระดับสูง ในด้านหนึ่งก็อาจถูกโต้แย้งได้ว่าแทนที่จะนำมาเป็นเงื่อนไขของการผ่อนโทษให้เบาลง ตรงข้ามควรจะต้องลงโทษให้หนักมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน หากความผิดนั้นเป็นการกระทำในลักษณะที่เจตนาและรวมถึงเป็นกระทำที่จะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม เพื่อให้เกิดความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้นในการปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านี้


 


เมื่อพิจารณาการทำงานของ กกต.ที่ถูกฟ้องร้อง จะเห็นได้ว่าการทำงานของ กกต.นั้นมีความเกี่ยวข้องและผลที่ต่อเนื่องมาจากการทำงานอย่างมาก ฉะนั้นในกรณีที่เกิดความผิดพลาดหากต้องตัดสินลงโทษจริงๆ โดยไม่รอลงอาญาก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผลรองรับอยู่


 


ประเด็นต่อมาหากมีคำตัดสินลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา แล้วมีการยื่นขอประกันตัวโดย กกต.เพื่อต่อสู้คดีต่อ ควรจะมีการพิจารณาประเด็นอย่างไร


 


ทั้งนี้ หากอนุญาตให้มีการประกันตัว กกต.ก็จะยังไม่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากจะไม่ได้เป็นการ "ต้องคุมขังโดยหมายศาล" เมื่อ กกต.ยังอยู่ในตำแหน่งก็ทำให้ปัญหาทางการเมืองขณะนี้ยังไม่อาจคลี่คลายไปได้ ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลให้หลายคนมีความเห็นว่าเพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาทางการเมือง นอกจากตัดสินลงโทษโดยไม่รอลงอาญาแล้ว ศาลก็ไม่ควรจะอนุญาตในกรณีที่มีการขอยื่นประกันตัวเกิดขึ้นด้วย


 


แม้การวินิจฉัยในลักษณะเช่นนี้ ด้านหนึ่งดูเหมือนจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องมีการไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะมีต่อหลักการเรื่องสิทธิการประกันตัวของบุคคลที่ต้องเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาด้วย


 


การประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญซึ่งบัญญัติเพื่อให้การคุ้มครองต่อเสรีภาพของปัจเจกบุคคลจากการล่วงละเมิดของอำนาจรัฐ การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงจำกัดเสรีภาพของบุคคล จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคำตัดสินอันเป็นที่สุดจากกระบวนการยุติธรรมแล้วว่าได้กระทำความผิดและต้องถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นตราบเท่าที่ยังไม่มีการตัดสินหรือคดียังไม่ถึงที่สุด ก็ต้องถือว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาในการกระทำผิดต่างๆ ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ควรที่จะได้รับการคุ้มครองเฉกเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป


 


สิทธิประกันตัวก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานประการหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน ข้อยกเว้นของการจำกัดสิทธินี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวแล้วอาจจะมีผลกระทบบางอย่างต่อกระบวนพิจารณาคดีนั้นๆ เช่น ข่มขู่พยาน หลบหนี หรืออาจเป็นกรณีคดีอุกฉกรรจ์ที่สะเทือนความรู้สึกของสังคม เช่น ฆ่าข่มขืน ปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ จึงจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว


 


ดังนั้น สำหรับสิทธิในการประกันตัวนั้น โดยหลักจึงจะต้องให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถประกันตัว การไม่ให้ประกันตัวถือว่าเป็นข้อยกเว้นเมื่อมีเหตุผลเพียงพอรองรับ


 


ในระบบกฎหมายของไทย ความยุ่งยากของการประกันตัวอันหนึ่งก็คือ มักจะใช้หลักที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา คือไม่ให้ประกันเป็นหลัก ส่วนการประกันตัวเป็นข้อยกเว้น แนวปฏิบัตินี้ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนธรรมดาๆ ที่ไม่มีหลักทรัพย์ เงินเพียงพอในการใช้เป็นหลักฐานเพื่อประกันตัว


 


แต่ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้มีการวางหลักสิทธิประกันตัวให้มีความมั่นคงมากขึ้น โดยถือว่าการประกันตัวเป็นผู้ต้องหาเป็นสิทธิพื้นฐาน การจะไม่ให้ประกันตัวต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน แม้ว่าจะถึงปัจจุบันการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอาจยังไม่เป็นที่น่าพอใจแต่อย่างน้อยก็เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงในการตระหนักถึงสิทธิประกันตัวของบุคคลผู้เป็นจำเลยมากขึ้น


 


สำหรับคดีของ กกต.หากมีการตัดสินลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาและมีการยื่นขอประกันตัวจาก กกต.มีประเด็นต้องขบคิดก็คือว่าหากไม่ให้มีการประกันตัวกับ กกต.แล้ว จะมีเหตุผลอะไรมารองรับ คดีนี้ไม่ใช่คดีสะเทือนขวัญเหมือนการฆ่าข่มขืน อีกทั้งไม่มีวี่แววว่าผู้ตกเป็นจำเลยทั้งหมดจะหลบหนีจากการต่อสู้คดีแต่อย่างใด


 


คดีนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าในการบังคับใช้กฎหมายนั้น เราจะเคารพหลักการของกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลทั่วไปหรือไม่ หรือเราเพียงต้องการมุ่งไปที่ผลสุดท้ายแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่าวิธีการต่างๆ หรือเครื่องมือที่นำมาใช้มีเหตุผลรองรับเพียงพอหรือไม่


 


หากปล่อยให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นได้ในคดีนี้ ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจถ้าจะมีการกระทำในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นกับประชาชนคนอื่นในอนาคต ด้วยการอ้างถึงเหตุผลของประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ หรืออะไรก็ตามที


 


(อันที่จริงก็มีช่องทางกฎหมายในคดีนี้ที่จะทำให้สถานะของ กกต.พ้นจากตำแหน่งไป แต่ไม่จำเป็นต้องแนะนำในที่นี้เพราะเข้าใจว่านักกฎหมายจำนวนไม่น้อยก็พอมองเห็นอยู่)


 


มักเป็นที่เข้าใจกันว่าการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนโดยปราศจากหลักการเป็นสิ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือของเนติบริกรเป็นส่วนใหญ่ แต่เอาเข้าจริงทรรศนะหรือท่าทีของสังคมก็มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้การบังคับใช้กฎหมายลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net