Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี


 


ผอ. โรงเรียนบ้านคูเมือง เผย เน้นชุมชนถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่บุตรหลานในโรงเรียนส่งผลให้ได้รับโรงเรียนพระราชทาน ปี 2548


 


นายโกวิท บุญเฉลียว ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านคูเมือง ( อ่อนอนุเคราะห์ ) กล่าวว่าโรงเรียนบ้านคูเมือง ( อ่อนอนุเคราะห์) นั้นได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับประถมศึกษาขนาดกลาง ระดับประเทศ ปีการศึกษา 2548 ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่โรงเรียน นักเรียนและชุมชนอย่างมาก


 


สำหรับโรงเรียนบ้านคูเมือง ( อ่อนอนุเคราะห์ ) นั้น เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2461 บนพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลคูเมือง อ.วารินชำราบ จ. อุบลราชธานี ให้บริการในหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 หมู่ 4 หมู่ 6 และหมู่ 7 ทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 614 คน และครู จำนวน 35 คน อีกทั้งโรงเรียนแห่งนี้ไม่มีนักการภารโรง เนื่องจากว่านักเรียนจะทำความสะอาดโรงเรียนเอง ด้วยการเก็บขยะ ทิ้งขยะให้ถูกที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างวินัยให้กับเด็ก ๆ         


 


นอกจากนั้นทางโรงเรียนยังมุ่งเน้นการส่งเสริมในการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยให้ชาวบ้านเข้ามาฝึกทักษะอาชีพต่าง ๆ ให้แก่บุตรหลานในโรงเรียน ได้แก่ การจักสานไม้ไผ่ การทอผ้า การเล่นดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่บุตรหลานในท้องถิ่น


 


โดยขณะนี้ทางโรงเรียนก็ได้จัดตั้งวงดุริยางค์ขึ้น แต่ขาดอุปกรณ์เครื่องดนตรีต่าง ๆ อย่างไรก็ตามทางคณะครูเห็นว่าโรงเรียนมีเครื่องดนตรีพื้นบ้านหลายชิ้น จึงได้นำเอาเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น กลองยาว พิณ มาประยุกต์ใช้ในวงดุริยางค์ ได้ขอให้ชุมชนเข้ามาสอนการเล่นดนตรีให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งชุมชนเองก็ให้ความร่วมมืออย่างดี


 


อย่างไรก็ตามนายโกวิท ยังกล่าวอีกว่า การที่จะพัฒนาเยาวชนของชาติให้มีคุณภาพนั้นทั้งโรงเรียนกับชุมชนจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เด็ก เยาวชนได้รับประโยชน์มากที่สุด และเป็นคนดีของสังคมต่อไป


 


ด้านนายเรียนชัย ท่าประจง ชาวบ้านคูเมือง กล่าวว่า ตนเองเข้ามาช่วยสอนเด็กๆ เล่นดนตรีพื้นบ้าน นั้นคือ พิณ เพื่อใช้ในวงดุริยางค์ของโรงเรียนโดยไม่คิดค่าสอนแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถเล่นดนตรีและตระหนักถึงภูมิปัญญาในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งโรงเรียนและชุมชนต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน โดยชาวบ้านได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาต่าง ๆ สู่เยาวชน ส่วนโรงเรียนก็เข้าร่วมการประชุมกับชุมชนเป็นประจำเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและช่วยเหลือชุมชนด้วยเช่นกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net