Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ต้องประกันความอิสระและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริงในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพือปฏิรูปการเมือง


 


ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุลแถลงยืนยันจะให้มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลเรือน และสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะถอนตัวเออกภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2549 นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นด้วยและขอสนับสนุนการตัดสินใจเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพื่อการนี้จึงขอเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วและยกเลิกคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎอัยการศึก และการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน


 


สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพื่อนำไปสู่การปฏิรูกทางการเมืองที่ประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน และความเป็นธรรมอย่างแท้จริง และทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีในเจตนารมณ์สร้างสรรค์ของคณะปฏิรูปฯ และเป็นหลักประกันให้การดำเนินการต่างๆ ได้เป็นไปเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีข้อเสนอแนะเร่งด้วยก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวดังนี้


 


1. ควรนำบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเฉพาะหวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และตัดข้อความว่า "ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ" ซึ่งจากประสบการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพบว่าข้อความดังกล่าวกลับกลายไปเป็นเพครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


2. ต้องกระกันความอิสระ และการมีส่วนร่วมของภาคสังคมอย่างแท้จริงในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นดำเนินการด้านต่างๆ กล่าวคือ


 


            2.1 สภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องมีความอิสระ ประกอบด้วยตัวแทนที่คัดเลือกกันเองจากภาคส่วนสังคมต่างๆ อย่างชัดเจน ทั่วถึง และทุกระดับขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับสมัชชาแห่งชาติลงไปถึงระดับสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ


 


            2.2 กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องเป็นไปอย่างจริงจัง เริ่มกันตั้งแต่ก่อนยกร่าง โดยอาศัยการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับิ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นพัฒนาการล่าสุดประกอบเป็นหลักการและแนวทางให้ทุกภาคส่วนสังคมได้รับทราบโดยตรงและทั่วถึง เพื่อเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยมีการกำหนดกลไกและขั้นตอนของกระบวนการรับฟังตลอดจนกระบวนการร่างและพิจารณาร่าง มิใช่ใช้วิธีการยกร่างก่อนแล้วจึงนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสที่ทุกภาคส่วนสังคมได้มีส่วนรับรู้เรียนรู้ และรับผิดชอบต่อความเป็นไปของประเทศชาติ โดยแท้จริง


 


            2.3 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการประชามติ ให้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และประกาศใช้ได้เลย


 


3. ในส่วนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะที่ได้ทำการศึกษาถึงแนวทางการปฏิรูปการเมืองมาโดยตลอด ทั้งก่อนและในช่วงวิกฤติความขัดแย้ง ก็ยังจะได้ดำเนินการสืบเนื่องต่อไป โดยเน้นในประเด็นเกี่ยวกับการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นส่วนต่างๆ ทั้งส่วนการปกครองท้องที่ และส่วนชุมชนฐานทรัพยากรท้องถิ่น ได้เรียนรู้เพิ่มพูนขีดความสามารถพึ่งตนเองและมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองโดยตรง และทั้งเป็นหลักประกันมิให้ต้องตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงและปลุกปั่น ชักจูงได้โดยง่าย ดังที่เป็นมาจนถึงขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากคณะปฏิรูปฯ และรัฐบาลที่ขจัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อไป


 


ทั้งหมดที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำเสนอมานี้ ก็ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เจตนารมณ์ของมหาชนคนไทย ได้รับการตอบสนองด้วยดี และหวังเป็นอย่างยิ่งส่า การดำเนินการใดๆ ในช่วงนี้ จะได้เป็นไปเพื่อเป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองเป็นหลักใหญ่ โดยการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนสังคมทั้งหลายทุกระดับ จึงจะสามรถฟันฝ่าอุปสรรคของสังคมไทยร่วมกันได้ในที่สุด


 


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


29 กันยายน 2519

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net