Skip to main content
sharethis

27 ต.ค. 2549 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. เวลา 18.00 น. นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างที่มี นายพรชัย อยู่ประยงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ได้พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่อนุกรรมการค่าจ้าง 76 จังหวัดเสนอมา


 


โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างตั้งแต่ 3-7 บาท โดยจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้น 3 บาทมี 1 จังหวัด คือ จ.น่าน จังหวัดที่ได้รับการปรับเพิ่ม 4-5 บาท มี 30-40 จังหวัด เช่น จ.ภูเก็ต ปรับเพิ่ม 5 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับการปรับเพิ่ม 7 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550


 



นายพนัส กล่าวว่า การพิจารณาปรับค่าจ้างครั้งนี้ ที่ประชุมฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ได้พิจารณาด้วยเหตุผล โดยการปรับขึ้นค่าจ้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เพิ่มขึ้น 7 บาท เนื่องจากเห็นว่ากรุงเทพฯ ไม่ได้รับการปรับค่าจ้างทุกปี โดยในช่วงรัฐบาลทักษิณ การปรับค่าจ้างเป็นผลจากที่ถูกฝ่ายการเมืองแทรก ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างมีแรงกดดันให้พิจารณากลางปีด้วย


 



ส่วน จ.น่าน ที่มีการปรับขึ้นเพียง 3 บาท ถือว่าต่ำที่สุด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำมากเพียงร้อยละ 2 โดยเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้คณะกรรมการค่าจ้างมีความเป็นห่วงว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรจะเป็นอัตราที่ใช้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าว โดยจะส่งเสริมให้แรงงานไทยพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยที่ให้ปรับเพิ่ม 233 บาททั่วประเทศ เป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าเป็นการนำเสนอเพื่อปลุกกระแสข่าว



 


อนึ่ง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างกลางเคยพิจารณาและมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใน 34 จังหวัด ตั้งแต่อัตรา 1-7 บาท ไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่ามีผลกระทบจากราคาค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.แรงงานในขณะนั้น ไม่ได้ลงนามในประกาศกระทรวง เรื่องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้เหตุผลว่า การปรับค่าจ้างในบางจังหวัดเพียง 1 บาท เป็นอัตราที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งยังกล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ปีละหนึ่งครั้ง


 


...........................


ที่มา: http://www.komchadluek.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net