Skip to main content
sharethis



5 พ.ย. 2549 สถาบันพระปกเกล้าจัดงาน "การปฏิรูปรัฐธรรมนูญ : มุมมองเชิงเปรียบเทียบ" โดยเชิญนักวิชาการจากต่างประเทศเข้าร่วมเสวนาด้วย ภายในกลุ่มย่อยซึ่งอภิปรายกันในประเด็น "ดุลยภาพและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร" ซึ่งสังคมการเมืองไทยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นำมาสู่วิกฤตการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องจากฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยนายกฯที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร นั้นเข้มแข็งเกินไปในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติก็อ่อนแอเกินจะตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ และดูเหมือนว่าจำเลยที่ 1 ก็หนีไม่พ้นรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นเอง



 


Dr. Kevin Tan จากสิงคโปร์ และ Prof. Andrew Harding จากแคนาดาได้แลกเปลี่ยนในมุมมองที่ต่างไป โดยหยิบยกข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ของไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีมากฉบับหนึ่งของโลก ทว่าทำไม ภายหลังกลับรู้สึกว่ากลไกประชาธิปไตยล้มเหลวไปได้ ล่าสุด การปฏิรูปการเมืองของไทยกลับหันหลังมาตั้งต้นที่การแก้รัฐธรรมนูญอีกแล้ว


 


 


0 0 0


 


Dr. Kevin Tan


 


"


เราต้องยอมรับว่าฝ่ายทหารและกษัตริย์


เป็นสถาบันที่มีอำนาจยืนยงมาเป็นเวลานานแล้ว


นี่ก็เป็นเรื่องของคนไทยที่จะต้องตกลงกันเองว่า


จะให้ระบบกษัตริย์ และทหารมีอำนาจแค่ไหนอย่างไร


เพราะอำนาจพวกนี้มันมีจริงๆ


"


 


Dr. Kevin Tan จากสิงคโปร์ กล่าวว่า ในการแบ่งแยกอำนาจของไทยนั้น อาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีเฉพาะสำหรับประเทศไทย ว่านอกเหนือจากหลักการแบ่งแยกอำนาจเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่าง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการแล้วนั้น เพื่อจะแก้ไขปัญหาทางการเมือง บางทีอาจจะต้องนำเอาสถาบันกษัตริย์และทหารซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมาตลอด เข้ามาพิจารณาวางบทบาทหน้าที่แล้วกำหนดในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนไปเลย…


 


สำหรับประเทศไทยนั้น จริงๆ แล้ว มีพลังอยู่ 5 ประการ คือ กษัตริย์ และทหารเพิ่มเข้ามา เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะคุยภายใต้บริบทของประเทศไทย เราไม่สามารถที่จะพูดถึงเรื่องหอคอยงาช้าง แต่เราต้องยอมรับว่าฝ่ายทหารและกษัตริย์เป็นสถาบันที่มีอำนาจยืนยงมาเป็นเวลานานแล้ว


 


แน่นอนสำหรับผมเป็นชาวต่างประเทศ ก็คงไม่มาพูดคุยว่า อันไหนดีที่สุดสำหรับประเทศไทย แต่ผมพูดข้อเท็จจริงทางการเมือง นี่ก็เป็นเรื่องของคนไทยที่จะตกลงกันเองว่าจะให้ระบบกษัตริย์ และทหารมีอำนาจแค่ไหนอย่างไร เพราะอำนาจพวกนี้มันมีจริง ๆ


 


และการพัฒนาทางด้านการเมืองและรับธรรมนูญของไทยก็มีการพูดคุยกันมาก จะว่าไปแล้วก็เป็นผีหรือคำสาปจากปี 2535 อย่างที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ระบุว่า ประเทศไทยจะมีรัฐบาลพลเรือนซึ่งทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหาร ซึ่งก็จะผ่านระยะฮันนีมูนช่วงหนึ่ง จากนั้นก็มีข่าวลือเรื่องคอร์รัปชั่น แล้วก็เกิดวิกฤต จากนั้นก็เกิดภาวะทำงานไม่ได้ และท้ายที่สุดก็มีการแทรกแซงจากมือที่ 3 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มีการรัฐประหาร มีการเขียน ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่


 


ผมคิดว่าประเทศไทยนั้น ยึดติดในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญมาก ชอบร่างฯ ใหม่ แล้วก็กลับไปสู่วงจรเดิมๆ โดยที่ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปจากวงจรที่ว่านั้นได้ เนื่องจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการร่วมกันร่างของอำนาจระดับบน แต่การร่างรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ก็เมื่อประชาชนยอมรับร่วมกัน


 


ข้อที่น่าสนใจก็คือ เราต้องพิจารณาว่ามีอะไรผิดที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนที่ศึกษารัฐธรรมนูญในเอเชียก็พูดกันบ่อยๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ของประเทศไทยเป็นฉบับที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งในโลก แต่เกิดอะไรขึ้น


 


ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2540เป็นฉบับที่ดีฉบับหนึ่งของโลกนั้น เพราะอย่างน้อยที่สุดมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และนี่เป็นข้อดีมากๆ ถ้าเกิดไม่มีการรัฐประหาร


 


ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการนำรัฐธรรมนูญมาใช้ต่างหาก สิ่งที่ผมกังวลอยู่ก็คือว่า ผู้นำของประเทศไทยคิดว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ปัญหาได้ แต่ปัญหาการเมืองไทยมันลึกไปกว่านั้นนะ เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญจะแก้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ยามหัศจรรย์ ที่ว่าจะเขียนร่างฯ ใหม่แล้วจะแก้ปัญหาได้ เรื่องที่สำคัญไม่ใช่เรื่องดุลยภาพของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารแต่ว่าปัญหาอยู่ทีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างหาก


 


ผมขอพูดถึงบริบทนอกประเทศไทย ผมอยากจะแนะนำประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร รูปแบบแรก ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารแข็งแรงเท่ากันก็จะเกิดการแยกอำนาจที่เข้มแข็งแต่ก็มีอุปสรรคว่า ถ้าต่างฝ่ายต่างแข็งมันก็ทำงานกันไม่ได้


 


รูปแบบต่อไปคือ ฝ่ายบริหารอ่อนแอ ฝ่ายนิติบัญญัติแข็งแรง เช่น ในระบบประธานาธิบดีของอเมริกาก็เคยประสบปัญหานี้ รัฐบาลก็จะค่อนข้างปวกเปียก


 


รูปแบบที่ 3 ต่างฝ่ายต่างอ่อนแอ ก็อาจจะมีบุคคลที่ 3 มาเกี่ยวข้อง เช่น กรณีของประเทศไทย ก็มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง


 


เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปคาดว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นฝ่ายเดียวที่จะควบคุมฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญฉบับ 1997 มีการบัญญัติให้มีหน่วยงานอิสระที่จะควบคุมฝ่ายบริหารซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แม้แต่สิงคโปร์เราก็ไม่มีและกำลังฝันอยู่


 


ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือว่า หน่วยงานอิสระเหล่านี้ไม่สามารถทำงานของตัวเองได้อย่างดี ก็อาจจะเป็นเพราะทักษิณหรืออะไรก็ตาม นี่คือประเด็นที่สำคัญมากๆ ไม่ว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะแข็งแรงพอหรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือหน่วยงานอิสระเหล่านี้เอง


 


เพราะฉะนั้น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติแข็งแรงกว่าฝ่ายบริหาร เพราะว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน แต่สิ่งที่ต้องทำคือ จะทำอย่างไรให้หมาเฝ้าบ้าน ซึ่งได้แก่องค์กรอิสระได้ทำงานได้อย่างแข็งแรงมากกว่า


 


0 0 0


 


Prof. Andrew Harding


 


"


อาจจะเป็นการผิด


ที่เราพยายามใช้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหา


เราให้ความสำคัญกับคนพวกนี้มากไปหรือเปล่า


เราอย่าไปคิดหรือคาดหวังมากกับนักกฎหมาย


แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการพัฒนาระบอบการเมือง


อย่าไปคิดว่าเพราะการเมืองมันล้มเหลวแล้วไปหาทางออกอย่างอื่น


"


 


 


Prof. Andrew Harding จากแคนาดา - กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญสำคัญมาก เพราะว่าถ้ากระบวนการมันถูกต้องผลก็จะออกมาดี มันไม่ใช่เรื่องของการเอาผลอย่างเดียว แต่กระบวนการต้องดีเป็นที่ยอมรับด้วย ผลที่จะได้ก็จะออกมาดีเป็นที่ยอมรับ ผมเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ของไทยนั้นทำให้เกิดผลเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งในโลก


 


โดยทั่วไปการร่างฯ จะดีที่สุด ถ้ามีตัวแทนหรือองค์กรจากฝ่ายต่างๆ จำนวนมาก และก็มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยร่างฯ ในประเด็นทีเกี่ยวข้องอื่นๆ และก็เราก็จะต้องมีการทำประชามติ เพื่อให้เห็นชอบกระบวนการ ซึ่งก็เขียนไว้รัฐธรรมนูญเฉพาะกาลแล้ว


 


แต่ผมขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นเรื่องการประชามติ เพราะปรากฏว่าหลายประเทศในยุโรปเปิดให้มีการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรป แต่ผลที่ได้คือการปฏิเสธรัฐธรรมนูญของยุโรป ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะสันนิษฐานเอาเองว่า ประชาชนจะให้ความเห็นชอบ เพราะว่าการลงประชามติเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง เกี่ยวข้องกับเวลา เกี่ยวข้องกับความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปมา


 


จุดเข็งของรัฐธรรมนูญปี 2540 นั้นดีอยู่แล้วสำหรับฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ปัญหาคือการมีฝ่ายนิติบัญญัติอ่อนแอเกินไป และผมก็ไม่เห็นด้วยว่า หากทั้งสองฝ่ายแข็งแรงแล้วการเมืองจะติดล็อก


 


ประเด็นต่อไปก็คือ ผมเห็นว่านายกฯ ไม่ควรจะมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการยุบสภา และระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไม่ควรเกิน 2 สมัย


 


อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญของไทยซึ่งบัญญัติให้รัฐสภาเป็นผู้รับประกันความอิสระของหน่วยงานอิสระเป็นเรื่องที่ชาญฉาดมาก และแม้จะทำไม่ได้ในทางปฏิบัติก็ไม่ควรจะเอาเหตุที่ปฏิบัติไม่ได้ก็โยนมันทิ้งไปหมดเลยทั้งกระบิ วิธีการก็คือว่า ต้องพิจารณาว่าบทบาทใดที่เป็นไปได้ และจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นในทางปฏิบัติ


 


นอกจากนี้เราควรจะมานั่งคิดว่า จะทำให้รัฐประหารมันไม่จำเป็นและเป็นไปไม่ได้ในอนาคตได้อย่างไร เราทำได้ แต่เราไม่กล้าที่จะทำหรือเปล่า เราควรเขียนในรัฐธรรมนูญว่า จะทำอย่างไรให้การรัฐประหารเป็นไปไม่ได้ เราต้องนั่งลงคิดเรื่องทหาร เพราะการที่ให้พื้นที่กับทหาร ก็คือการไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย และอาจจะเป็นการผิดที่เราจะพยายามใช้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหา เราให้ความสำคัญกับคนพวกนี้มากไปหรือเปล่า เราอย่าไปคิดหรือคาดหวังมากกับนักกฎหมาย แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการพัฒนาระบอบการเมือง อย่าไปคิดว่าเพราะการเมืองมันล้มเหลวแล้วไปหาทางออกอย่างอื่น


 


สุดท้าย การร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่การจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ต้องมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนด้วย เหมือนอย่างที่รัฐธรรมนูญปี 2540 เคยทำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมเป็นห่วงที่สุดขณะนี้ก็คือ องค์ประกอบของคนร่างรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net