Skip to main content
sharethis

องค์กรช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติแนะให้แรงงานวางตัวเป็นกลางไม่ยุ่งการเมืองไทย เผยเป็นเรื่องที่คนไทยต้องแก้ไขกันเอง ไม่มีนโยบายส่งเสริม ขณะที่ผู้นำไทใหญ่ระบุ แรงงานส่วนใหญ่ไม่สนใจการเมือง เพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพ แต่อาจมีบางส่วนถูกนายจ้างชักชวนร่วมชุมนุม

 
สืบเนื่องจาก นปช. เตรียมจัดชุมนุมใหญ่เพื่อประท้วงขับไล่รัฐบาล ตามกำหนดเดิมจะมีการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. - 14 ธ.ค. 52 และคนในรัฐบาลกล่าวหาว่าจะมีแรงงานข้ามชาติจะเข้าร่วมชุมนุมด้วย โดยทางรัฐบาลได้สั่งการหน่วยด้านความมั่นคงจับตาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้รายงานสถานประกอบการและนายจ้างให้เตือนลูกจ้างไม่เข้าร่วมชุมนุมด้วยโดยระบุจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ทั้งผู้นำชุมชนไทใหญ่ และองค์กรช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ต่างแสดงความเป็นห่วงเช่นเดียวกัน โดยต่างแนะให้แรงงานข้ามชาติวางตัวเป็นกลาง
 
นายจ๋อน ประธานกลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA – Worker Solidarity Association) จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทางกลุ่มของตนได้เตือนและทำความเข้าใจแรงงานที่เป็นสมาชิกเกี่ยวกับการวางตัวกับสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดการอบรมเป็นประจำทุกเดือนซึ่งได้ขอให้แรงงานวางตัวเป็นกลาง ไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองฝ่ายใด เพราะเป็นเรื่องภายในที่คนไทยต้องแก้ไขกันเอง ซึ่งในส่วนแรงงานเปรียบเสมือนเป็นแขกที่มาอาศัยเท่านั้น
 
ขณะที่นายอ่องเท ประธานสมาพันธ์แรงงานข้ามชาติ (MWF – Migrant Worker Federation) กล่าวว่า องค์กรไม่มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของไทย ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกของ MWF ไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการชุมนุมหรือมีการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเมืองไทย และทางองค์กรจะยึดปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไป
 
“เราเป็นเพียงประชาชนที่หลบหนีความทุกข์ยากจากบ้านเกิดเข้ามาอาศัยเพื่อทำงานเลี้ยงตัวเอง ซึ่งต้องการใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ เราไม่ส่งเสริมแรงงานข้ามชาติยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากพบว่ามีแรงงานที่เป็นสมาชิกองค์กรของเราคนใดประพฤติผิดนโยบาย เราจะทำการถอดถอนการเป็นสมาชิกทันที” นายอ่องเท กล่าว
 
ทางด้านผู้นำชุมชนชาวไทใหญ่ท่านหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่คงไม่สนใจที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของไทย เพราะต้องใช้เวลาทำงานเลี้ยงตัวเอง แต่อาจมีบางกลุ่มบางส่วนที่ทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ที่แบ่งฝ่ายแบ่งสีทางการเมืองชักชวนไปร่วมชุมนุมด้วย อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าแรงงานข้ามชาติควรวางตัวเป็นกลาง เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนจะพ่ายแพ้หรือชนะย่อมไม่เกิดผลดี ในเมื่อหนีร้อนมาพึ่งเย็นก็ไม่ควรที่จะสร้างความเดือดร้อนอีก
 
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ นายจีระศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมจัดหางาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมพร้อมที่จะจัดการกับแรงงานต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมาย โดยสั่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานต่างด้าวอย่างใกล้ชิด เรื่องของสิทธิการชุมนุมของแรงงานต่างด้าวหากเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมายนั้น สามารถทำได้ เช่นการชุมนุมเรียกร้องเรื่องการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม แต่ถ้าหากเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือกระทบกับความมั่นคงของ ประเทศ ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการอยู่ในราชอาณาจักรตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองทันที
 
ส่วนกรณีของนายจ้าง ที่ปล่อยให้แรงงานต่างด้าวออกไปร่วมชุมนุม หากสืบทราบว่ารู้เห็นเป็นใจด้วย ก็จะมีความผิดตามมาตรา 63 ว่าด้วยการนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ที่เป็นการอุปการะหรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกกับคนต่างด้าวให้เข้ามาใน ราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และในมาตรา 64 หากนายจ้างให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมาพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
 
นายจีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนอยู่แล้วทั้งสิ้น 3.6 แสนคน และที่จดทะเบียนรอบใหม่ครั้งล่าสุดอีกจำนวน 1.5 ล้านคน โดยแยกเป็นแรงงานกัมพูชา 1.6 แสนคน และแรงงานลาวอีก 1.6 แสนคน ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานสัญชาติพม่ามากสุด จากนี้จะมีการรายงานการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานต่างด้าวไปยังผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด เพื่อประสานกับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงโดยตรง ทางกรมจัดการจัดหางานก็จะขึ้นบัญชีดำสถานประกอบการที่พบว่ามีส่วนรู้เห็น เป็นใจให้แรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง โดยในการขอโควต้านำเข้าแรงงานต่างด้าวครั้งต่อไป อาจต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด
 

 
สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) เป็นสำนักข่าวอิสระจัดตั้งโดยกลุ่มชนไทยใหญ่พลัดถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org และภาษาไทยใหญ่ที่ www.mongloi.org
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net