Skip to main content
sharethis

6 ต.ค. 53 - ผอ.วิจัยฯ ทีดีอาร์ไอเผยปัญหาแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยต้องการการบริหารจัดการที่ดี ด้านจำนวนมีมากเกินพอแล้วไม่จำเป็นต้องรับเพิ่มอีก  ผลสำรวจพบแรงงานข้ามชาติจำนวนมากอยู่โดยผิดกฎหมาย เปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนนายจ้าง ทำงานไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาตอยู่ในสภาพ “บัตรสี...มั่วไปหมด” เสนอฝ่ายนโยบายใส่ใจยกเครื่องการดูแลแรงงานต่างด้าวให้เหมาะสม ขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาสัญชาติตั้งศูนย์ตรวจให้เสร็จก่อนข้ามแดน  ปิดช่องขบวนการตบทรัพย์แรงงาน  เรียกร้องนายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผย ผลสำรวจแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติใน 5 จังหวัดที่มีการใช้งานจำนวนมากคือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี กว่า 600 คน จากอาชีพประมงและต่อเนื่องประมง   คนทำงานตามบ้าน และก่อสร้าง   พบว่า มีแรงงานจำนวนมากได้เปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนนายจ้าง ทำงานไม่ตรงตามอาชีพที่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะมีบัตรสีตามอาชีพที่ทางราชการออกให้  การทำงานผิดประเภทและการหลบหนีถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย  แรงงานบางส่วนที่ไม่ต่ออายุบัตรอนุญาตก็ถือเป็นความผิดและได้กลายสภาพเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

“เมื่อดูบัตรสี พบว่า ประมาณร้อยละ50 มีการเปลี่ยนสภาพนายจ้างไปแล้ว  เรียกว่าตอนนี้ “บัตรสีมั่วไปหมด” เป็นการสมยอมทั้งตัวแรงงานและนายจ้างไม่ทำตามกติกาของกฎหมายที่กำหนด  เช่น เจ้าหน้าที่พบอยู่ในงานก่อสร้างแทนที่จะอยู่ในงานประมง เป็นต้น “

โดยกระบวนการแรงงานที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติก็ต้องกลับไปเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ส่วนคนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเคยได้รับบัตรอนุญาตแล้วเมื่อบัตรหมดอายุก็ต้องไปต่ออายุหรือหากจะเปลี่ยนอาชีพเปลี่ยนนายจ้างใหม่ก็ต้องไปยื่นขอใบอนุญาต( work permit) ที่ถูกต้อง

ปัจจุบันกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจากการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบแรก และอนุญาตให้อยู่ได้ชั่วคราวสองปีระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาตินั้น มีความคืบหน้าไปมาก มีแรงงานที่ผ่านพิสูจน์สัญชาติแล้วราว 1 แสนคนที่รอการขอ work permit ตามขั้นตอน  ซึ่งนายจ้างที่ต้องการสามารถมาผ่านกระบวนการนำแรงงานเหล่านี้ไปทำงานได้อย่างถูกต้อง เป็นช่องทางปกติที่ทำได้อยู่แล้ว

 “ทำไมนายจ้างไม่ใช้ช่องทางปกติใช้แรงงานถูกกฎหมาย ในเมื่อกระบวนการที่เป็นอยู่นายจ้างสามารถเอาคนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วกลับมาทำงานได้และมีจำนวนเพียงพอ”

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้แรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นทุกปี จากราว 3.5 แสนคนเพิ่มเป็นราว 2 ล้านคนในปัจจุบัน  ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเอาคนใหม่มาเพิ่มกับคนเก่าซึ่งยังไม่ได้ถูกผลักดันออกไป แต่ไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายอยู่ในที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังเปิดช่องทางให้นายจ้างที่ต้องการใช้แรงงานราคาถูกไปร่วมมือกับนายหน้าจัดหาแรงงานเถื่อนและเจ้าหน้าที่ทุจริตบางคน เกิดขบวนการตบทรัพย์แรงงาน ซึ่งในภาพรวมแล้วประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์  นายจ้างได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว และเป็นการเอาเปรียบนายจ้างที่ทำถูกกฎหมาย ซ้ำยังสร้างพฤติกรรมทางด้านธรรมาภิบาลที่เลวร้าย  ทำให้เกิดการเลียนแบบกับแรงงานต่างด้าวอื่น ๆ  ทำให้กฎหมายหรือกติกาของเราไม่ดำเนินไปในแนวทางที่ถูกต้อง และเมื่อมีจำนวนมากขึ้นจนแยกแยะไม่ออก ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบการคุ้มครองดูแลที่ไทยรับผิดชอบ

แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำนวนเพียงพอหรืออาจจะเกินพอด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องเปิดรับคนใหม่เข้ามาอีกหากมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ดี   โดยแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่เข้าทำงานในโครงสร้างแรงงานระดับล่าง(คนไทยไม่ทำ)ต้องมีจำนวนที่เหมาะสมกับความต้องการใช้งานจำเป็นแท้จริง(ไม่ใช่โควตาเผื่อสำรองของผู้ประกอบการ) จึงจะเกิดประโยชน์  หากนายจ้างยังติดกับการใช้แรงงานราคาถูกและใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเกินไปจนขยับมาทับซ้อนกับโครงสร้างแรงงานระดับกลางที่คนไทยทำอยู่  จะเกิดผลกระทบทันทีและค่อนข้างรุนแรง คือ แรงงานไทยถูกแย่งงาน  ค่าจ้างแรงงาน   และการจัดการคุ้มครองดูแลตามกฎหมาย

ดร.ยงยุทธ เสนอด้วยว่า หากกระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวคือการฟอกตัวคนผิดให้เข้ามาอยู่ในประเทศได้อย่างถูกต้อง ก็ควรไปตั้งจุดตรวจสอบที่ชายแดน “ฟอก”ให้เบ็ดเสร็จโดยขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพิสูจน์สัญชาติและรับเฉพาะคนที่ประเทศเพื่อนบ้านให้การรับรองแล้วเท่านั้น  กระบวนการเช่นนี้จะช่วยตัดขบวนการตบทรัพย์หากินกับแรงงาน    นายจ้างก็สามารถไปรับแรงงานกลุ่มที่ถูกกฎหมายได้เลย  แล้วมาขอ work permit  ให้ถูกต้องซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ทำลายระบบเดิม แต่ทำลายระบบผิดกฎหมายที่เป็นอยู่นี้ได้ 

ผลการสำรวจพบด้วยว่า มีนายจ้าง 17% ไม่จ่ายค่าจ้าง 20กว่า%จ่ายค่าจ้างต่ำกว่า แล้วก็อีก 20 กว่า % ลดค่าจ้างโดยที่ไม่บอกเหตุผล ซึ่งหมายความว่าในกระบวนการบางอย่างนายจ้างปัดความรับผิดชอบไปไว้กับลูกจ้าง แล้วหักค่าใช้จ่ายโดยที่ไม่บอกลูกจ้าง ทำให้ได้ค่าจ้างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งในกระบวนการได้แรงงานต่างด้าวราคาถูกมาทำงาน   นายจ้าง(บางส่วน)สมยอมให้นายหน้าจัดหางานดำเนินการแทนแล้วนายหน้าฯเรียกรับค่าใช้จ่ายสูงเกินซ้ำเติมจากลูกจ้างอีก เช่น ค่ากรอกเอกสารบางอย่างจ่ายจริงแค่ไม่กี่สิบบาทแต่เรียกเก็บจากลูกจ้างหลายร้อยบาท  รัฐต้องเข้าไปดูแลอย่าให้นายหน้าฯเหล่านี้ผลักภาระและไปขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะในระดับล่างซึ่งได้ค่าจ้างต่ำอยู่แล้ว 

ดร.ยงยุทธ กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นความจำเป็นต้องเปิดรับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มอีก เพราะจำนวนที่มีอยู่เพียงพอแล้ว แต่ต้องการการบริหารจัดการให้ดี   ขณะเดียวกันในกระบวนการตรวจสอบสัญชาติเพื่อความถูกต้องก็ยังต้องทำต่อไป  การใช้แรงงานต่างด้าวโดยผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่ถูกต้องนี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก อีกทั้งยังช่วยลดปัญหากระบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวและการทุจริตของเจ้าหน้าที่บางคนที่เอื้อประโยชน์ให้กับขบวนการเหล่านี้ซึ่งเป็นการเอาเปรียบแรงงาน  และที่สำคัญหากยังปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้ดำเนินอยู่ต่อไปจะยิ่งทำให้มีการละเมิดกฎหมายกันมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง    กระบวนการภาครัฐต้องให้ความสำคัญและใช้กลไกที่มีอยู่จัดให้มีหน่วยงานพร้อมจำนวนเจ้าหน้าที่เพียงพอกับการดูแลแรงงานต่างด้าวนับล้านคน

นอกจากนี้ การเปิดรับแรงงานต่างด้าวเข้ามามากๆ แล้วไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของอุตสาหกรรม  มีผลทำให้ชะลอการเติบโตของประเทศ จนประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไปหมดแล้ว และหากยังเป็นอย่างนี้ บางอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงแรงงานต่างด้าวอย่างเดียวหากวันหนึ่งแรงงานต่างด้าวพร้อมใจกับกลับประเทศอุตสาหกรรมอาจชะงักและเจ๊งกันระนาวก็เป็นได้ .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net