Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จัดเวที แจงผลเสียโครงการฯ นักวิชาการชี้ไทยยังมีพลังงานลม แสงอาทิตย์ และน้ำเกินความต้องการ ย้ำที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อุบลฯ ไม่เหมาะสม ทั้งแหล่งน้ำ และความมั่นคงของประเทศ วันนี้ (8 เม.ย.54) ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี จัดเวทีเสวนาให้ความรู้เรื่องพลังงานทางเลือกและทำไมไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเชิญนักวิชาการที่ศึกษาด้านพลังงานในประเทศไทย อาทิ นายศุภกิจ นันทะวรวการ ตัวแทนมูลนิธินโยบายสุขภาพวะ และนายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ ตัวแทนกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต โดยมีตัวแทนชุมชนจากทั่วจังหวัดร่วมรับฟัง เพื่อนำความรู้ไปเผยแพร่ และกำหนดกระบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน จ.อุบลราชธานี นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาพวะกล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกระทรวงพลังงานที่ยังพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.อุบลราชธานี แม้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยุติเป็นการชั่วคราว เพราะยังเป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการหาพลังงานสำรอง และต้องการงบประมาณเพิ่มเติมจากที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ได้อนุมัติงบประมาณใช้ศึกษาประชาสัมพันธ์จำนวน 1,500 ล้านบาท ขณะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และงบประมาณจำนวนนี้ได้หมดลงตั้งแต่ปี 2553 นายศุภกิจ ให้ความเห็นอีกว่า สำหรับที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะมาสร้างใน จ.อุบลราชธานี ไม่มีความเหมาะสมทั้งด้านความมั่นคงและแหล่งน้ำใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ปรมาณู โดยด้านความมั่นคงตั้งอยู่ใกล้ชายแดนลาวมากเกินไป การดำเนินการใดๆ ต้องดูท่าทีจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนด้านแหล่งน้ำจะเกิดการแย่งน้ำในภาคเกษตรกรรมกับโรงไฟฟ้า เพราะแม่น้ำมูลคงไม่มีน้ำเพียงพอตอบสนองความต้องการให้คนทั้งสองกลุ่มได้ จึงเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ระยะยาว นอกจากนี้ นายศุภกิจ ให้ความเห็นต่อทางเลือกในการจัดหาพลังงานของประเทศไทยว่า ประเทศไทยยังมีทางเลือกใช้พลังงานอื่นอาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 พลังงานมีเอกชนเข้าดำเนินการและสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้แล้วกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และเอกชน ยังมีการลงทุนสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย จึงไม่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นในช่วง เวลา 17.30 - 21.00 น.มีการจัดเวทีเสวนาที่ลานหน้าศาลหลักเมือง เรื่อง “คนอุบลจะสูญพันธุ์หรือไม่ถ้ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวอุบลในตัวเมือง ทั้งนี้ แผนที่จัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 หรือ แผน PDP2010 (Thailand Power Development Plan 2010) ซึ่งในแผนฯได้มีการกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 30 โรง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 9 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 52,890 เมกะวัตต์ ในระยะ 20 ปี (ปี 2573)จากเดิมผลิตได้ 28,045 เมกะวัตต์ (ปี 2552) เรียบเรียงบางส่วนจาก : ASTVผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net