Skip to main content
sharethis

25 ปีหายนะภัย "เชอร์โนบิล" สำรวจอนาคตพลังงานผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ เอ็นจีโอพลังงานถามสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าผิด หรือคาดการณ์เกินจริง

26 เม.ย. 2554 เนื่องในวันครบรอบ 25 ปี หายนะภัยนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลในปี 2554 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรีนพีซ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกและเตือนสติสังคมไทยให้พิจารณาอดีตภาพและ มองอนาคตพลังงานด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ ในเวทีสาธารณะ “วิกฤตฟูกูชิมะและอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในสังคมไทย ในวาระครบรอบ 25 ปี หายนะภัยเชอร์โนบิล”

 

สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายในหัวข้อ มองญี่ปุ่นผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ ว่าจากเหตุการณ์หายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ทำให้เรามองญี่ปุ่นได้ 3 แบบ

1.ทำให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นมีวินัย อดทน ไม่มีความวุ่นวาย มีการจัดองค์กรต่างๆ ดี มีความรู้เรื่องนิวเคลียร์ดี เรียกได้ว่าญี่ปุ่นมี ‘Safety Culture’ แม้ว่าสถานการณ์โดยรวมจะมีความโกลาหลอยู่บ้าง แต่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

2.เป็นโอกาสให้หลายฝ่ายๆ ได้รีบปรับตัวใหม่ เช่น นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ ของออสเตรเลียลงไปดูถึงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย แล้วประกาศทันทีว่าแผนการสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์ของออสเตรเลียคงต้องหยุด

3.สิ่งที่เราเรียนรู้จากเหตุการณ์ฟูกูชิมะคือ วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้เหนือองค์ความรู้ใดๆ ที่ญี่ปุ่นมี เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้แทบเป็นไปไม่ ได้เลย เมื่อความเสี่ยงเกิดขึ้นจริงจึงไม่มีองค์ความรู้ที่จะรับมือกับผลกระทบที่ ตามมา

สุริชัย เพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นมีกฎหมายเกี่ยวกับความเสียหายจากนิวเคลียร์ แต่ไทยไม่มีแม้แต่กฎกระทรวง เราควรใช้โอกาสนี้ร่วมกันคิดถึงสิ่งที่ท้าทายสังคมทั้งสังคม ไม่ใช่แค่กลุ่มการเมืองหยิบมาใช้หาเสียงแบบฉาบฉวย

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิพากษ์ “องค์ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน” ว่า โดยหลักการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีหน้าที่ทำน้ำให้เดือดเป็นไอน้ำไปปั่น กังหันผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมันดูงี่เง่าเมื่อคิดว่าวิทยาการเทคโนโลยีของมนุษย์ก้าวมาถึงจุดสูงส่ง แต่มาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อทำให้น้ำเดือด

จากนั้นธาราได้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ เช่น ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฯ (PDP 99-01) มีการใช้งบประมาณด้านการสื่อสารสาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชนเมื่อปี 2552 มากที่สุด โดยใช้ไปกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์และซื้อสื่อ ด้านมหาวิทยาลัยหาดใหญ่สำรวจเมื่อปี 2552 พบประชาชนภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แม้ว่า กฟผ. ได้สำรวจตามมาพบประชาชนทั่วประเทศ 64% เห็นด้วยให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ 66% ไม่เห็นด้วยที่จะให้สร้างในจังหวัดของตัวเอง และได้เปิดเผยข้อมูลเปรียบเทียบผลกระทบจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์ โนบิลกับฟูกูชิมะในหลายด้านเช่น เขตกักกันรังสี ได้ข้อสรุปว่าในที่สุดแล้วความเสียหายไม่ได้แตกต่างกันเลย

“ไปอ่านรายงานดู แล้วเราจะพบว่าเราไม่รู้อะไรเลย มันอาจไม่ใช่องค์ความรู้อะไร เป็นแค่รายงานการทำงานขององค์กรรัฐ..” ธารา บัวคำศรี กล่าว

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง วิเคราะห์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนาม ในฐานะที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดว่า จริงๆ แล้วเวียดนามไม่ได้ขาดกำลังการผลิตติดตั้งที่สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง สุด (Peak Demand) ของประเทศแต่อย่างใด แต่ขาดกำลังการผลิตที่พึ่งพิงได้ ซึ่งหมายถึงพลังงานน้ำในเขื่อนที่อาจขึ้นๆ ลงๆ แต่นี่เป็นเพียงปัญหาจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเท่านั้น เอง ถ้าบริหารจัดการกำลังการผลิตที่มีอยู่ให้ดี ก็จะเป็นกำลังการผลิตที่พึ่งพิงได้โดยไม่จำเป็นต้องหันไปอ้างพลังงาน นิวเคลียร์ว่ามั่นคงกว่า

วิฑูรย์ ยังฟันธงว่า ในปี ค.ศ.2025 ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของเวียดนามจะไม่เกิน 40,000 เมกะวัตต์อย่างแน่นอน แต่ปัจจุบันเวียดนามคาดการณ์ไว้ถึง 80,000 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลอะไรบางอย่าง และเชื่อมโยงมาถึงประเทศไทยว่า การคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทยในแผน PDP 2010 ก็สูงเกินจริงเช่นกัน พร้อมแนะแนวทางที่ไม่ต้องเดินไปสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยหันมามุ่งมั่นในแนว ทางประหยัดพลังงาน เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้ามาใช้หลอดแบบประหยัด รวมถึงการใช้พลังงานทางเลือกอื่น

และว่าลึกๆ แล้วจะไม่มีการปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยที่ มหาอำนาจ (สหรัฐอเมริกา) ไม่ใส่ใจ อเมริกาจึงพยายามผลักดันให้ไทยหรือสิงคโปร์ให้ดึงการสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ของเวียดนามเข้ามาอยู่ในเวทีอาเซียนให้ได้ และเมื่อดูแนวโน้มโดยรวมปัจจุบันและอนาคตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกสร้างที่ เอเชียมากขึ้น ขณะที่ยุโรปนั้นจะไม่เพิ่มเลย

สุริชัย ได้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ด้วยว่า “หลายคนพูดกันมาก เดี๋ยวเวียดนามแซงเราบ้าง เดี๋ยวเวียดนามล้ำหน้าบ้าง ผมถามว่าล้ำหน้าไปสวรรค์หรือไปนรก...”

ขณะที่วิฑูรย์ย้ำปิดท้ายว่า ความจำเป็นของนิวเคลียร์ไม่มีเลย มันเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม ในอนาคตเราทุกคนจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย ไม่ได้บริโภคไฟฟ้าเช่นปัจจุบันอีกต่อไป เช่น ถ้าเราติดแผงโซล่าร์เซลล์เอง เราก็เป็นผู้ผลิตแล้ว ความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของการคาดการณ์พลังการใช้ไฟฟ้าผิด หรือคาดการณ์เกินจริง.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net