Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 55 - สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เชิญร่วมสนับสนุนสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค โดยมีรายละเอียดดังนี้ ...

 

ที่ ส.อ.ย.ท. พิเศษ/2555

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรื่อง เชิญร่วมสนับสนุนสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค

เรียน ประธานสหภาพแรงงาน

สิ่งที่ส่งมาด้วย แถลงการณ์สหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค

จากสถานการณ์เกิดปัญหาพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กับบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีการเลิกจ้างคณะกรรมการบริหารสหภาพฯ และขัดขวาง แทรกแซง การดำเนินกิจกรรมสหภาพฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 จนกระทั่งเหตุการณ์บานปลายและขยายวงกว้าง เนื่องจากบริษัทฯ ได้จ้างฝ่ายทรัพยากรบุคคลมาใหม่ (เป็นทนายความ) เพื่อต่อสู้กับสหภาพฯ โดยเฉพาะมีการเลิกจ้าง คณะกรรมการลูกจ้าง ผู้แทนการเจรจา และตักเตือนคณะกรรมการเพิ่มขึ้น เหตุการณ์ได้พัฒนาขึ้น มีการงด O.T. ประท้วง นัดหยุดงาน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ทางสหภาพฯได้มีการยื่นหนังสือต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนสหภาพฯต้องนำเรื่องส่งถึงกระทรวงแรงงาน แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนถึงปัจจุบันทางสหภาพฯพร้อมสมาชิกได้รวมตัวชุมนุมกันที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งทางสภาฯ ก็ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด เพื่อให้การต่อสู้รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชน ตามสิทธิอันชอบธรรมของลูกจ้าง 

ดังนั้นเพื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาบรรลุข้อยุติด้วยดี ทางสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์ แห่งประเทศไทย  จึงใคร่ขอความร่วมมือมายังทุกท่านเพื่อให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

จึงเรียนมาเพื่อทราบ และใคร่ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

(นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล)

เลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

 

อนึ่งข้อมูลจากแถลงการณ์สหภาพแรงงานชินเอไอเทคได้ระบุถึงปัญหาที่คนงานโดนกระทำไว้ดังนี้

บริษัทชินเอ ไฮ-เทค จำกัด ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยการฉีดอลูมิเนียม ส่งให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทุกแบรนด์ทั้งในและนอกประเทศ เช่น ในสายการผลิตของโตโยต้า  ฮอนด้า อีซูซุ นิสสัน เป็นต้น บริษัทฯได้ตั้งอยู่ในประเทศและพัฒนาอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันสามารถขยายสาขาออกได้จำนวน ๓สาขาใหญ่ๆ ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ๒โรงงาน และอยุธยาอีก ๑โรงงาน

สหภาพแรงงานชินเอไฮเทค จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘  จากสภาพปัญหาภายในที่พนักงานไม่ได้รับการดูแล เช่น พนักงานระดับปฏิบัติการไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้างเลยแม้แต่บาทเดียวนับสิบปี พนักงานซับคอนแทรคจะได้รับสวัสดิการ และโบนัสน้อยกว่าพนักงานประจำ การละเมิดสิทธิพื้นฐานเช่นถูกบังคับให้ทำโอทีใครไม่มาจะออกหนังสือเตือน ต้องทำงานตั้งแต่ ๘.๐๐-๒๐.๐๐น.ทุกวัน ได้หยุดเฉพาะวันเปลี่ยนกะนั้นก็คือได้หยุดแค่เดือนละ ๑วัน ทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำเกิดปัญหาครอบครัว และปัญหาสุขภาพ นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ ๕ปีที่แล้ว

ปีแรกที่มีสหภาพฯก็เกิดการกระทบกระทั้งกันบ้างเพราะทางบริษัทฯยังไม่เข้าใจหลักการแรงงานสัมพันธ์ ส่วนตัวสหภาพฯเองก็ยังไม่ได้ชี้แจงนโยบายให้ชัดเจน แต่เมื่อประธานบริษัทฯลงมาพุดคุยกับทางสหภาพฯปัญหาทุกอย่างก็คลี่คลายลง  ทั้งสหภาพฯและบริษัทฯก็ดำรงอยู่อย่างเกื้อกูลตลอดมา เช่นในปีที่บริษัทฯประสบปัญหาเศรษฐกิจปี๕๒ สหภาพฯก็ยื่นข้อเสนอขอลดโบนัสตัวเองเพื่อช่วยประคองโดยทางบริษัทฯไม่ได้ร้องขอ  ต่อมาปี๕๓ บริษัทฯเริ่มฟื้นตัวทางสหภาพฯก็ตัดสินใจไม่ยื่นข้อเรียกร้องในปีนั้นเพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน  ต่อมาปี๕๔ เมื่อบริษัทฯฟื้นคืนสภาพปกติทางบริษัทฯก็ตอบแทนน้ำใจแก่สหภาพฯโดยการสนับสนุนเวลาในการทำกิจกรรมของสหภาพฯ พร้อมทั้งยังมอบเงินสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน

แต่เมื่อต้นปี ๕๕ นี้ ทางนายจ้างได้จ้างวานคนนอกเข้ามาล้มสหภาพฯ หันมาเป็นศัตรูกับลูกจ้างที่ร่วมสร้างบริษัทฯนี้ขึ้นมา มีการขออำนาจศาลเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง ๒ ท่านแต่เมื่อศาลพิจารณาพิพากษายกคำร้อง ทางบริษัทฯกลับไม่ยอมรับการตัดสิน ไม่ยอมรับพนักงานทั้งสองกลับเข้าทำงาน สหภาพฯยื่นข้อเรียกร้องขอปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง ยื่นแก่นายจ้างในวันที่ ๒ เม.ย.๕๕ มีการเปิดการเจรจา แต่ในระหว่างการเจรจานายจ้างได้สั่งพักงานกรรมการสหภาพฯเริ่มตั้งแต่วันที่๙ เม.ย.๕๕ จำนวน๔ท่าน โดยไม่มีการสอบสวนในความผิดที่ตั้งมา และยังข่มขู่ให้สมาชิกสหภาพฯลาออกจากการเป็นสมาชิกภาพ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนในวันที่ ๒๗ เม.ย.๕๕ สหภาพฯแจ้งเจ้าหน้าที่แรงงานขอใช้สิทธินัดหยุดงานตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๒๘ เม.ย.๕๕ เวลา๑๘.๐๐น. เป็นต้นไป สมาชิกสหภาพฯทั้งหมด๒,๐๐๐คน ได้รวมตัวกันนัดหยุดงานและรวมตัวที่ศาลากลาง จ.นครราชสีมา หลังจากการนัดหยุดงานนายจ้างได้ออกคำสั่งเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพฯ และสมาชิกสหภาพฯ จำนวน๑๗๖คน แล้วยังออกหนังสือข่มขู่พนักงานที่ออกมาชุมนุมอีกคนละ๒๐๐ล้านต่อคน ออกโดยสำนักงานทนายความชัยรัตน์ ทัดเทียม

ทางสหภาพฯได้กำหนดแนวทางไว้สองทางดังนี้ คือ ๑.นายจ้างต้องรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ  หรือ ๒.เลิกจ้างแล้วจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างทุกคนที่ไม่ต้องการกลับเข้าทำงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net