Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แถลงการณ์ 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง
คัดค้านโครงการขยายท่าเรื
อแหลมฉบังเฟส 3

.......................................

ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม มีแผนงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงแหลมฉบัง-นิคมฯ ทวายในพม่า และได้ไฟเขียวให้มีการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โดยตั้งงบประมาณจากภาษีประชาชนเพื่อถลุงถึง 3.5 หมื่นล้าน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์เกี่ยวกับการรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ให้ได้ถึง 18.8 ล้านตู้ต่อปี พร้อมขยายเส้นทางคมนาคม ถนน-รถไฟทางคู่ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีนั้น

การผลักดันของรัฐบาลดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่นำไปสู่การสร้างความเดือดร้อนของชาวบ้าน ชาวประมง และทำลายฐานทรัพยากรของแผ่นดินอย่างมหาศาล โดยมิได้มีการทบทวนเลยว่าโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 1 และเฟส 2 ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาและความหวาดผวาให้เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมอย่างไร และรัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแต่อย่างใด อันเป็นการขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 หลายมาตรา

ทั้งนี้นับแต่รัฐบาลใช้อำนาจออกกฎหมายเวนคืนที่ดินมาตั้งแต่ปี 2516 ในจำนวนถึง 6,340 ไร่ และเปิดดำเนินการท่าเรือเฟส 1 มาตั้งแต่ปี 2534 และขยายเฟส 2 ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้วว่า ท่าเรือแห่งนี้ได้สร้างผลกำไรและผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลมากมาย แต่ทว่าได้ก่อปัญหาและทำลายวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่อำเภอบางละมุงและใกล้เคียงให้ล่มสลายไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยที่รัฐบาลหรือผู้ประกอบการนายทุนมิได้รับผิดชอบหรือเอื้อประโยชน์ใด ๆ ให้เกิดขึ้นกับชาวประมงและชาวชุมชนใกล้เคียงเหล่านั้นเลย อีกทั้งการสร้างท่าเทียบเรือและการถมทะเล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลเวียนของกระแสน้ำทะเล การเกิดตะกอนขุ่นข้นในท้องทะเล และเกิดขยะอุตสาหกรรมและขยะก่อสร้างที่ไร้ที่มาเกลื่อนกลาดในท้องทะเลใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายพื้นที่ของตำบลบางละมุง ของจังหวัดชลบุรีเกิดการกัดเซาะของน้ำทะเลทำให้ชายหาดที่สวยงามและเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวและตลิ่งเสียหายไปเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ นอกจากนั้นการบริหารจัดการท่าเรือดังกล่าวในด้านสิ่งแวดล้อมผิดพลาดบ่อยครั้งก่อให้เกิดการรั่วไหลและการระเบิดของสารพิษในตู้คอนเทนเนอร์ต่าง ๆ ทั้งที่ปรากฎเป็นข่าวและไม่เป็นข่าวต่อสื่อสารมวลชน

การที่รัฐบาลเร่งรีบตอบสนองแต่เฉพาะกลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์แต่เพียงอย่างเดียวในการขยายท่าเรือขนาดใหญ่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกเป็นเฟสที่ 3 โดยต้องถมทะเลและใช้พื้นที่ถึง 1,600 ไร่ และต้องขุดร่องน้ำในทะเลทำแอ่งจอดเรืออีกถึง 18 เมตร โดยมีท่าเทียบเรือยาว 4,500 เมตร เพื่อจัดทำท่าเทียบเรือย่อย 29 ท่า ประกอบด้วย 1) ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ 3 ท่า 2)ท่าเทียบเรือขนส่งรถยนต์ 4 ท่า 3) ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า 3 ท่า 4)ท่าเทียบเรือขนส่งตู้สินค้า 18 ท่า และ 5) อู่ต่อและซ่อมเรือ 1 ท่า นั้นเข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน อันเป็นโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2550 และพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม 2535 ที่ยังไม่ผ่านฉันทามติหรือการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านและทั่วถึงทุกพื้นที่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน พ.ศ.2548

สมาคมฯจึงขอคัดค้านโครงการดังกล่าวอย่างถึงที่สุด และหากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังเดินหน้าโครงการดังกล่าวโดยไม่ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้องเสียก่อน สมาคมฯจักได้ร่วมมือกับชาวบางละมุงในการใช้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อยับยั้งหรือเพิกถอนโครงการดังกล่าวโดยทันที

ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2555

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net