Skip to main content
sharethis

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน 6 องค์กร ได้แก่ สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล  (International Federation for Human Rights: FIDH) องค์การสากลว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (World Organisation Against Torture: OMCT) องค์กรผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง (Civil Rights Defender) ฟรีดอมเฮ้าส์ (Freedom House) โครงการรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปลอดการกดขี่ (Clean Clothes Campaign) และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  (Amnesty International) ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที หลังจากถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนนาน 17 เดือน หากถูกตัดสินลงโทษ เขาอาจต้องโทษจำคุกสูงถึง 30 ปี ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์บทความสองชิ้นที่เป็นการหมิ่นเบื้องสูง องค์กรเหล่านี้ยังเรียกร้องทางการไทยให้ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และให้ยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ และการควบคุมตัวโดยพลการเพื่อหาทางเอาผิดทางอาญาหรือเป็นการจำกัดการแสดงออกอย่างเสรี

ผลการไต่สวนคดีนายสมยศเป็นเหมือนบททดสอบเจตจำนงของประเทศไทยที่จะคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก องค์กรเหล่านี้กล่าว

นายสมยศได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำนับแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนเมษายน 2554 ห้าวันหลังจากเขาเริ่มรณรงค์รวบรวม 10,000 รายชื่อเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การควบคุมตัวนายสมยศระหว่างรอการไต่สวนเป็นเวลานาน ขัดแย้งอย่างชัดเจนกับพันธกรณีของประเทศไทยที่จะต้องงดเว้นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ

ในวันที่ 18 กันยายน ศาลอาญาเลื่อนการรับฟังคำพิจารณาในคดีของเขาซึ่งเดิมกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 19 กันยายนออกไป เป็นเหตุให้เขาจะต้องถูกควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนโดยไม่มีกำหนด ศาลอาญาไม่ได้แจ้งเหตุผลต่อการเลื่อนการอ่านคำพิพากษา

(หมายเหตุจากประชาไท: การเลื่อนดังกล่าวเป็นการเลื่อนอ่านคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีการยื่นให้ตีความว่า มาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนัดฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 19 ธ.ค. ทั้งนี้ การอ่านคำพิพากษา จะทำได้ต่อเมื่อทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว)

อนึ่ง ทางการไทยปฏิเสธคำขอประกันตัวของนายสมยศ 11 ครั้ง โดยที่ศาลไม่ได้ให้เหตุผลอย่างเพียงพอว่าเหตุใดจึงปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นข้อกำหนดตามมาตรา 40(7) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 107 ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญาที่จะต้องจำกัดการควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนให้เหลืออยู่เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น และเป็นไปตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาศาลไทยปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ยอมให้จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการประกันตัว ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามกติกา ICCPR ได้เตือนรัฐต่างๆ ว่า การควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนอาจถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะมีอิสรภาพและการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยห้ามการใช้คำพูดหรือการแสดงออกที่เป็นการ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” และมีการนำกฎหมายนี้มาบังคับใช้เหนือบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศในการคุ้มครองมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก ภาคประชาสังคมของไทย ครอบครัวของผู้ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการอภิปรายต่อสาธารณะเพื่อปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในระหว่างการพิจารณารายงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ตามกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระ หรือ Universal Periodic Review โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) บรรดารัฐภาคีได้มีข้อเสนอแนะสิบกว่าข้อให้ประเทศไทยแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมุ่งเอาผิดทางอาญาต่อการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสี่คนรวมทั้งนายสมยศ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมาตรา 112 ในวันที่ 19 กันยายน นายสมยศคาดหวังว่าจะได้ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยสอดคล้องกับหลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่

ผู้รายงานพิเศษด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก (UN Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression) “เน้นย้ำข้อเรียกร้องต่อรัฐทุกแห่งให้ลดการเอาผิดทางอาญาต่อการหมิ่นประมาท” ตามถ้อยความในรายงานของผู้รายงานพิเศษ (A/HRC/17/27) ที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ส่วนปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) คุ้มครองสิทธิ “ที่จะนำเสนอข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงการทำงานต่อหน่วยงานและองค์กรของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และสามารถเรียกร้องให้สังคมติดตามการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชน” ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เอาผิดทางอาญามากขึ้นต่อนักเขียนและบรรณาธิการสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์บทความซึ่งทางการถือว่าเป็นการหมิ่นเบื้องสูง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net