Skip to main content
sharethis

แม้ว่าจะไม่ได้มีเสรีภาพสื่อมาตั้งแต่แรก แต่คอสตาริก้าก็เป็นประเทศที่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยกย่องว่าคุ้มครองเสรีภาพสื่อได้ดีกว่าประเทศเจริญแล้วอย่าง อังกฤษ แคนาดา หรือสหรัฐฯ พัฒนาการที่ดีขึ้นของคอสตาริก้ารวมถึงหลายประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาทำให้องค์กรยูเนสโกยกให้คอสตาริก้าเป็นเจ้าภาพร่วม

เมื่อวันที่ 2-4 พ.ค. ที่ผ่านมาองค์กรยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลประเทศคอสตาริก้าร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อโลกในกรุงซาน โฮเซ่ ประเทศคอสตาริก้า โดยประธานาธิบดีลอร่า ชินชิลา ผู้ได้รับการยกย่องเรื่องพันธกิจในการให้เสรีภาพสื่อและเสรีภาพการแสดงออกในประเทศ ได้ประกาศเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา

วาระการประชุมเสรีภาพสื่อของปีนี้ให้ความสำคัญเรื่องแผนการของสหประชาชาติต่อความปลอดภัยของนักข่าวและประเด็นเรื่องการที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ (Impunity) โดยเน้นความสนใจไปยังส่วนภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นพิเศษ

โดยสาเหตุที่องค์กรยูเนสโก้เลือกประเทศคอสตาริก้าเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้เนื่องมาจากการที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคละติกอเมริกามีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญเรื่องการปกป้องเสรีภาพสื่อและความปลอดภัยของนักข่าว แม้ว่าประเทศอย่างเม็กซิโกและฮอนดูรัสยังคงเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับการทำงานข่าว

อิรินา โบโควา ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโกกล่าวว่า "การจัดงานที่มีความโดดเด่นมากอย่างงานวันเสรีภาพสื่อโลก จะช่วยเน้นย้ำความสำเร็จของประเทศคอสตาริก้าและประเทศละติดอเมริกาทั้งหมดในเขตนี้ รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณเรื่องพันธกิจต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ"

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ยกย่องให้ประเทศคอสตาริก้าเป็นประเทศสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนท่ามกลางความไร้ขื่อแปที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ในหมู่ประเทศอเมริกากลาง และยังเป็นประเทศที่คุ้มครองเสรีภาพสื่อได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศรวมถึง สหรัฐฯ, อังกฤษ, แคนาดา และ ออสเตรเลีย

คอสตาริก้า ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 18 ของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อประจำปี 2013 ของ RSF เพิ่มขึ้นมาหนึ่งอันดับจากปี 2012 โดยที่ไม่มีนักข่าว คนทำงานสื่อ หรือชาวเน็ตคนใดที่ถูกสังหารหรือถูกจำคุกเลย

ล่าสุดในที่ประชุมพิเศษขององค์การรัฐอเมริกัน (OAS) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2013 คอสตาริก้าได้ร่วมกับประเทศโคลัมเบีย, ปานามา, อุรุกวัย, เม็กซิโก, จาไมกา, แคนาดา และสหรัฐฯ ในการลงมติไม่เห็นชอบต่อความพยายามของเอกวาดอร์ในการปฏิรูปคณะกรรมการพิเศษเพื่อเสรีภาพในการแสดงออกของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนรัฐอเมริกัน (IACHR) ซึ่งมีผู้โหวตสนับสนุนคือ เวเนซุเอลลา, โบลิเวีย และนิคารากัว ข้อเสนอปฏิรูปของเอกวาดอร์จะเป็นการลดบทบาทของคณะกรรมการพิเศษฯ ในการปฏิบัติงานอย่างเป็นอิสระน้อยลง ในแง่ของการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและปกป้องนักข่าวในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ประเทศคอสตาริก้าก็เพิ่งแสดงผลงานสนับสนุนเสรีภาพสื่ออย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยการอภิปรายและมีมติให้ปฏิรูปกฏหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ โดยเฉพาะในกฏหมายด้านการหมิ่นประมาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีนักข่าวของคอสตาริก้าจำนวนหนึ่งถูกสั่งจำคุกตามมาตราที่ 7 ของกฏหมายการพิมพ์ปี 1902 ที่ระบุให้มีการลงโทษจำคุกนักข่าว บรรณาธิการ และเจ้าของสื่อเป็นเวลา 120 วัน หากพบว่ามีการกระทำผิดจริงในข้อหาหมิ่นประมาทและ 'ดูแคลน' โดยที่ข้อกล่าวหาผู้สื่อข่าวทั้งสองรายถูกสั่งยกฟ้อง และศาลสูงของคอสตาริก้าก็มีการสั่งยกเลิกข้อบัญญัติการจำคุกในกรณ๊การหมิ่นประมาทในวันที่ 17 ก.พ. 2010

รัฐบาลคอสตาริก้ายังได้เคยออกกฏหมายอาชญากรรมข้อมูลข่าวสารเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2012 ซึ่งเป็นที่ต่อต้าน โดยกฏหมายฉบับนี้ระบุว่าผู้ที่เผยแพร่ 'ข้อมูลลับทางการเมือง' จะต้องโทษจำคุก 10 ปี ในมาตรา 288 ของกฏหมายฉบับนี้ระบุอีกว่าข้อมูลดังกล่าวรวมถึง 'ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเรื่องที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงทางกองทัพหรือความสัมพันธ์กับนานาชาติ'

แต่หลังจากที่มีประชาชนออกมาต่อต้านกฏหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลคอสตาริก้าก็ให้คำมั่นว่ากฏหมายใหม่จะไม่ถูกนำมาใช้กับผู้สื่อข่าว จนกระทั่งศาลสูงของคอสตาริก้าได้สั่งยกเลิกมาตราดังกล่าวหลังจากที่นักข่าวแรนดอล ริเวร่า ฟ้องว่ามาตราดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ และเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ก็มีการลงมติในสภาให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฏหมาย 'ข้อมูลลับทางการเมือง' ทั้งหมด

เมื่อปี 1993 องค์การสหประชาชาติได้จัดให้วันที่ 3 พ.ค. ของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อโลกเพื่อเป้นการสร้างความตระหนักในการรักษาเสรีภาพในการแสดงออกตามมาตราที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่กำหนดให้เป็นวันที่ 3 พ.ค. เนื่องจากเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศปฏิญญาวินด์ฮุค (Declaration of Windhoek) ซึ่งเป็นแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการของเสรีภาพสื่อร่างโดยกลุ่มนักข่าวหนังสือพิมพ์ชาวแอฟริกันในปี 1991


เรียบเรียงจาก
Costa Rica and press freedom: What you need to know, ifex, 02-05-2013


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/World_Press_Freedom_Day
http://www.unesco.org/new/en/unesco/events/prizes-and-celebrations/celebrations/international-days/world-press-freedom-day/costa-rica-2013/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net