Skip to main content
sharethis
  • แม้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่สื่อมวลชนไทยยังคงถูกคุกคาม เซ็นเซอร์ และดำเนินคดี ส่วนคดีนักข่าวที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ยังไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษ
  • ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนมีทั้ง 1. ทางกายภาพที่เป็นภัยต่อชีวิตโดยตรง 2. ทางโครงสร้าง เช่น กฎหมาย การกำกับดูแลที่คลุมเครือ ไม่เป็นธรรม โครงสร้างตลาดไม่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเสรีและการนำเสนอเนื้อหาหลากหลาย กลไกเชิงองค์กรที่ไม่ส่งเสริมสิทธิ-สวัสดิภาพของคนทำงาน 3. ทางวัฒนธรรม คือวิธีคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
  • ท่ามกลางการชุมนุมมากกว่าพันครั้ง มีสื่อมวลชนถูกจับกุมขณะทำหน้าที่อย่างน้อย 5 คน ถูกยิงกระสุนยางอย่างน้อย 14 คน ถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 3 คน และบาดเจ็บจากวัตถุคล้ายระเบิด พลุ หรือปะทัด อย่างน้อย 4 คน
  • ผู้ถูกจับและได้รับบาดเจ็บทั้งหมดมีสัญลักษณ์แสดงตนเป็นสื่อมวลชน และส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บขณะยืนรวมกันเป็นกลุ่ม ขณะที่ศาลยังไม่เคยเรียกผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวนเพื่อคุ้มครองการทำงานของสื่อมวลชนแม้แต่ครั้งเดียว
  • การฟ้องปิดปากเป็นอีกอีกวิธีที่มักถูกใช้คุกคามการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะในประเด็นความขัดแย้งบนฐานทรัพยากร โครงการพัฒนา และสิทธิแรงงาน
  • สื่อมวลชนในสถานการณ์ชายแดนใต้เสี่ยงต่อการถูกติดตามคุกคาม หรือควบคุมตัวตามอำเภอใจ รวมถึงคุกคามไปที่แหล่งข่าวเพื่อกดดันไม่ให้สื่อมวลชนรายงานข่าว
  • หลายกรณีที่การทำร้ายร่างกายสื่อมวลชนถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เช่น กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่ผู้สื่อข่าว หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ปรากฏภาพใช้มือทำท่าคล้ายชกหรือตบผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยมีผู้สื่อข่าวรายหนึ่งอธิบายว่าเป็นเพียงการหยอกล้อ
  • นักวิชาการและสื่อมวลชนอิสระเห็นว่า การคุกคามสื่อมวลชนทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน รวมถึงขาดพื้นที่คลี่คลายความขัดแย้ง ขณะที่ผู้ประสานงาน DemAll ชี้ว่า สื่อมวลชนอิสระเสี่ยงต่อการคุกคามมากขึ้น และสื่อมวลชนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางใจจากการเผชิญความรุนแรง
  • อาจารย์นิเทศศาสตร์ชี้ว่า การยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตยเป็นปัจจัยสำคัญในการยุติความรุนแรงต่อสื่อมวลชน โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันยืนยันว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ และต้องมีกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริง สร้างกระบวนการรับผิดชอบที่ไม่ใช่แค่ลงโทษผู้ก่อความรุนแรง รวมถึงมีกลไกคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

สถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทย

ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) จัดระดับให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะ “ไร้เสรีภาพ” อย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ก่อนจะยกระดับเป็น “มีเสรีภาพบางส่วน” หลังมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 และกลับมาสู่สถานะ “ไร้เสรีภาพ” ในอีก 1 ปีให้หลัง

สำหรับเสรีภาพสื่อมวลชนของไทยในปี 2562 ฟรีดอมเฮาส์ระบุในรายงานเสรีภาพโลกประจำปี 2563 ว่า ประกาศ คสช. ที่มีเนื้อหาควบคุมการทำงานของสื่อมวลชนถูกยกเลิก หลังสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การเซ็นเซอร์ การคุกคาม และดำเนินคดีภายใต้รัฐบาลทหาร แต่กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป

ฟรีดอมเฮาส์ยังระบุถึงกรณีนักข่าวชาวเบลเยี่ยมถูกควบคุมตัวไปจากที่พัก หลังพยายามสัมภาษณ์นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกทำร้ายร่างกายในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และกรณีที่ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี จากการทวีตเกี่ยวกับสิทธิแรงงานในฟาร์มไก่แห่งหนึ่งด้วย

ด้านรายงานเสรีภาพโลก ประจำปี 2564 ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอาศัย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่มีเนื้อหาจำกัดการรายงานของสื่อมวลชน ร่วมกับ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี และทำให้สื่อมวลชนเผชิญกับการดำเนินคดี รวมถึงคำขอให้ลบเนื้อหา มีนักข่าวถูกจับกุมขณะรายงานการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และรัฐบาลร้องขอต่อศาลให้ปิดสำนักข่าวอย่างน้อย 4 แห่ง

ส่วนดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2564 โดยผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders: RSF) ระบุว่า สถานการณ์เสรีภาพสื่อหลังการเลือกตั้งปี 2562 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาก่อนหน้ามากนัก ยังคงมีการตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยกฎหมายที่เข้มงวด โดยกระบวนการยุติธรรมที่พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง

นอกจากนี้ RSF ยังกล่าวถึง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ที่เพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร และอาจเป็นภัยคุกคามต่อข้อมูลออนไลน์ รวมถึงการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี เป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนละสื่อมวลชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

ขณะที่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2563 ทำให้สื่อมวลชนเซ็นเซอร์ตนเองขนานใหญ่ โดยข้อเรียกให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกลบออกจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนกระแสหลักอย่างเป็นระบบ

รัฐบาลไทยยังใช้วิกฤตการระบาดของโควิด-19 ออกกฎหมายห้ามการรายงานข้อมูลเท็จหรือก่อให้เกิดความหวาดกลัว ทั้งยังจับกุมหรือส่งกลับนักข่าวหรือบล็อกเกอร์ชาวกัมพูชา จีน และเวียดนาม ที่ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยให้กลับไปเผชิญการจำคุกในประเทศเหล่านั้น

ด้านข้อมูลจาก UNESCO observatory of killed journalists ระบุว่า ประเทศไทยไม่มีนักข่าวถูกฆาตกรรมตั้งแต่ปี 2556 อย่างไรก็ตาม นักข่าว 2 ราย ที่เสียชีวิตระหว่างรายงานข่าวการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ ส่วนอีก 3 รายไม่มีข้อมูลการสอบสวน

นิยามความรุนแรงต่อสื่อมวลชน

พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเรื่องวารสาศาสตร์กับสถานการณ์ความขัดแย้ง กล่าวว่า งานของสื่อมวลชนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรง เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นหน้าด่านในการค้นหาข้อเท็จจริง ตั้งคำถาม ตรวจสอบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งหลายกรณีเป็นสถานการณ์ที่มีความรุนแรง เสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพจิตของคนทำงาน รวมถึงความมั่นคงยั่งยืนขององค์กร

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ กล่าวเพิ่มว่า ความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตของผู้สื่อข่าวอาจเกิดจากการเข้าไปในสถานที่และปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยตรงเพื่อเก็บข้อมูล เช่น ในการรายงานข่าวการชุมนุมประท้วง การปะทะกันระหว่างผู้มีอาวุธ เหตุการณ์ความไม่สงบ สงคราม การก่อการร้าย รวมถึงสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยพิบัติ หรือการตรวจสอบการใช้อำนาจในทางที่ผิดของรัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยข้อมูลจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Project Journalists: CPJ) พบว่า มีสื่อมวลชนเสียชีวิตจากการรายงานข่าวประเด็นการเมือง ทุจริต สิทธิมนุษยชน มากกว่าการรายงานข่าวสงคราม

ทั้งนี้ พรรษาสิริให้ข้อมูลว่า หากพิจารณาจากรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงต่อสื่อมวลชน ที่จัดทำโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรระหว่างประเทศ จะสอดคล้องกับทฤษฎีเรื่องความรุนแรงที่ Johan Galtung นักวิชาการด้านสันติศึกษาเสนอไว้ โดยแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1. ความรุนแรงทางตรงหรือความรุนแรงเชิงกายภาพ (direct/physical violence) คือ เหตุการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิตโดยตรงและมักจะเป็นเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ ทำร้าย ทำให้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย คุกคามทางเพศ ลักพาตัว กักขังหน่วงเหนี่ยว รวมถึงการฆาตกรรม

2. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) คือ กลไกทางกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงโครงสร้างตลาดที่ไม่เอื้อให้สื่อมวลชนทำงานได้อย่างอิสระ โดยพรรษาสิริยกตัวอย่างความรุนแรงเชิงโครงสร้าง 4 กลไก ดังนี้

  1. กลไกทางกฎหมายที่กว้างขวางคลุมเครือ หรือไม่เป็นธรรม เช่น การดำเนินคดี คำสั่ง ประกาศ หรือมาตรการที่ปิดกั้นสิทธิการสื่อสาร ทั้งเสรีภาพสื่อ สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น อาทิ การขู่ว่าจะดำเนินคดีฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารราชการที่มีบทลงโทษสื่อมวลชน
  2. กลไกการกำกับดูแลที่คลุมเครือและไม่เป็นธรรม การให้ใบอนุญาต การสอบสวน ลงโทษ สั่งปิดช่องทางนำเสนอ การเซ็นเซอร์เนื้อหาทั้งก่อนและหลังการเผยแพร่ หรือการกีดกันว่าไม่ใช่พวกเดียวกันจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น การปฏิเสธไม่ให้เป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่อ
  3. โครงสร้างตลาดที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขันอย่างเสรีและการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น
    • การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับสื่อแพร่ภาพกระจายเสียงที่เน้นผลประโยชน์ทางธุรกิจของรัฐมากกว่าประโยชน์สาธารณะและสิทธิการสื่อสารของประชาชน ส่งผลให้คลื่นวิทยุชุมชนของประชาชนหายไป ขณะที่ช่องบริการสาธารณะก็นับรวมสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (TV5HD) และผู้เป็นเจ้าของโครงข่าย (MUX) คือ องค์กรรัฐ ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก รัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส ซึ่งไม่ต่างจากการที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ครองคลื่นความถี่ในสมัยก่อน ซึ่งพรรษาสิริเห็นว่า เป็นก้าวที่ถดถอยมากของการปฏิรูปโครงสร้างสื่อ
    • กำแพงกีดกั้นการเข้าสู่การประกอบการสูง (entry barrier) เช่น ต้องมีต้นทุนสูง หากไม่ใช่ทุนใหญ่ก็ยากจะประกอบธุรกิจสื่อ อคติทางอัลกอริทึ่มของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่เน้นยอด engagement ซึ่งเอื้อการแพร่กระจายข้อมูลบิดเบือน-ข้อมูลเท็จ การแบ่งรายได้จากโฆษณาและยอดการเข้าชมกับผู้ผลิตเนื้อหาที่ไม่โปร่งใส
  4. กลไกเชิงองค์กรที่ไม่ส่งเสริมสิทธิ-สวัสดิภาพของคนทำงาน เช่น บทบาทของสหภาพแรงงานในการต่อรองเรื่องสิทธิแรงงาน การยืนหยัดในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยไม่เน้นการทำงานหลังบ้านหรือล็อบบี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าจะให้ความสำคัญต่อเสรีภาพการแสดงออก

3. ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (cultural violence) คือ วิธีคิดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนของสถาบันที่มีอำนาจ ผู้บริหารและคนทำงานสื่อ และสังคมที่ไม่เอื้อให้สื่อมวลชนทำงานได้อย่างอิสระ เช่น

  • ความคิดความเชื่อต่อเรื่องที่สังคมห้ามพูด ห้ามตั้งคำถาม หรือมองว่าเบี่ยงเบนไปจากกรอบศีลธรรมอันดี ความสงบเรียบร้อย ซึ่งบางครั้งไม่สอดคล้องกับคุณค่าสากลของสังคมประชาธิปไตยที่ส่งเสริมความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน หรือแนวคิดเรื่องพลเมืองโลก เช่น เรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ศาสนา ความเป็นรัฐชาติ (พุทธ-ราชาชาตินิยม) เมื่อสื่อตั้งคำถามต่อประเด็นเหล่านี้ก็จะถูกป้ายสีตีตรา เช่น เป็นส่วนหนึ่งของพวกชังชาติ-ผังล้มเจ้า หรือกรณีที่ฐปนีย์ เอียดศรีไชย รายงานเกี่ยวกับชาวโรฮิงญาที่อพยพมาทางเรือ ก็ถูกโจมตีว่าไม่รักชาติ เห็น “คนอื่น” ดีกว่า
  • ทัศนคติของบุคคลในรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เห็นว่าการตรวจสอบ การตั้งคำถามของสื่อมวลชนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เช่น กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หรือการตอบโต้แบบดุเดือด ข่มขู่ หรือไม่ยอมตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารหน่วยงานรัฐ หรือการสั่งสอนว่าสื่อต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ เป็นต้น
  • วัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยม เช่น ความเป็นเจ้าของ ระบบอาวุโส สังคมแบบชายเป็นใหญ่ ต้องเป็นหญิงแกร่ง มีวิถีชีวิตแบบเดียวกับผู้ชาย จึงจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุน รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามทางเพศ การขาดความไหวรู้เรื่องเพศสภาพ (gender sensitivity) การแบ่งชนชั้นระหว่างนักข่าวส่วนกลาง นักข่าวท้องถิ่น/สตริงเกอร์ ที่เป็นเหมือนลูกจ้าง ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในการทำงานข่าว จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพมากนัก

น้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง การจับกุม ทำร้ายร่างกาย พลุ: สื่อมวลชนตกเป็นเป้าความรุนแรงในสถานการณ์การชุมนุม

ม็อบเดตาไทยแลนด์รวบรวมข้อมูลการชุมนุมสาธารณะในประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 ถึง 29 ต.ค. 2564 พบว่า มีการชุมนุมอย่างน้อย 1,291 ครั้ง และถูกสลายการชุมนุมอย่างน้อย 58 ครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมเหล่านี้ มีสื่อมวลชนถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน ถูกยิงกระสุนยางเท่าที่มีรายงานอย่างน้อย 14 คน ถูกทำร้ายร่างกายอย่างน้อย 3 คน และบาดเจ็บจากวัตถุคล้ายระเบิด พลุ หรือปะทัด อย่างน้อย 4 คน ผู้ถูกจับและได้รับบาดเจ็บทั้งหมดมีสัญลักษณ์แสดงตนเป็นสื่อมวลชน และส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บขณะยืนรวมกันเป็นกลุ่ม แยกจากผู้ชุมนุม

การใช้อาวุธสลายการชุมนุมครั้งแรก เริ่มเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 2563 ต่อมาเจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธสลายการชุมนุม เมื่อ 16 ต.ค. 2563 กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกควบคุมตัวขณะถ่ายทอดสดสถานการณ์วันนั้น  โดยถูกเคเบิลไทร์รัดข้อมือไพล่หลังกว่า 2 ชั่วโมง และถูกตั้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ก่อนได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในพื้นที่เพื่อรายงานสถานการณ์ได้รับผลกระทบทางร่างกาย เช่น มีอาการแสบระคายเคืองผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ

กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท ขณะถูกจับกุม

กิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท ขณะถูกจับกุม

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังคงใช้อาวุธสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยยกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปรากฏการใช้กระสุนยางเป็นครั้งแรกใน #ม็อบ17พฤศจิกา ปี 2563 ที่หน้ารัฐสภา และเริ่มจับกุมโดยปรากฏภาพใช้กำลังทำร้ายร่างกายในที่เกิดเหตุที่ #ม็อบ13กุมภา ปี 2564 หน้าศาลหลักเมือง

#ม็อบ16มกรา 2564 ตำรวจจับกุมผู้ทำกิจกรรมเขียนป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมารวมตัวชุมนุมแสดงความไม่พอใจที่แยกสามย่านเพื่อกดดันให้ปล่อยผู้ถูกจับกุม ขณะตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าล้อมพื้นที่เพื่อสลายการชุมนุม มีเสียงระเบิดดังขึ้น 1 ครั้ง บริเวณหน้าห้างจามจุรีสแควร์ ธนกร วงศ์ปัญญา ผู้สื่อข่าวเดอะสแตนดาร์ดได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดที่ต้นขาด้านซ้าย

นอกจากกิตติแล้ว บัญชา (สงวนนามสกุล) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวแนวหน้า เป็นอีกคนที่ถูกจับกุมระหว่างปฏิบัติหน้าที่รายงานเหตุการณ์ #ม็อบ28กุมภา 2564 หน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

บัญชาให้สัมภาษณ์ผ่านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่วิ่งเข้ามารวบตัว กดลงกับพื้น ถูกเตะ และถูกกระบองตี ก่อนใช้เคเบิลไทร์รัดข้อมือ แม้จะแสดงตัวเป็นสื่อมวลชน แต่บัญชายังถูกตั้งข้อหา ก่อนอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเช่นเดียวกับผู้ชุมนุมอื่น ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน, ข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ, ข้อหามั่วสุมใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

#ม็อบ20มีนา 2564 การชุมนุมเรียกร้องให้จำกัดอำนาจกษัตริย์ที่สนามหลวง ผู้สื่อข่าว 3 ราย โดย 2 ใน 3 เป็นผู้สื่อข่าวหญิง ถูกยิงกระสุนยางใส่ขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณถนนข้าวสาร ได้แก่ พนิตนาฏ พรหมบังเกิด ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกกระสุนยางบริเวณศีรษะจนเกิดรอยช้ำในสมอง ต้องพักรักษาตัวในห้อง ICU 1 คืน ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยาง 2 นัด บริเวณลำตัวด้านหลัง และธัญญลักษณ์ วรรณโคตร ถูกกระสุนยางที่ขา ทั้ง 3 คน มีสัญญลักษณ์แสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชนชัดเจน

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่หลังใน #ม็อบ20มีนา

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่หลังใน #ม็อบ20มีนา

#ม็อบ18กรกฎา 2564 กลุ่มเยาวชนปลดแอกเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ตั้งแนวกีดขวางการเคลื่อนขบวนที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ บริเวณนั้น ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวพลัสเซเว่น ถูกยิงกระสุนยางเป็นคนแรกของวันเข้าบริเวณสะโพก ขณะยืนรวมกลุ่มกับผู้สื่อข่าว มีสัญลักษณ์ชัดเจน และไม่มีการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังมีผู้สื่อข่าวถูกยิงกระสุนยางอีก 2 ราย ได้แก่ พีระพงษ์ พงษ์นาค ช่างภาพมติชนทีวีถูกกระสุนยางที่บริเวณแขนด้านซ้าย และชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ ช่างภาพเดอะแมตเทอร์ ถูกกระสุนยางบริเวณแขนซ้าย

#ม็อบ10สิงหา 2564 เริ่มเกิดผู้ชุมนุมอิสระที่มักจะมารวมตัวกันที่แยกดินแดง โดยมีเป้าหมายเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี ก่อนจะถูกเรียกว่ากลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” ภายหลัง วันดังกล่าว ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวและผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ถูกกระสุนยางที่บริเวณขา ขณะที่ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อย 2 คน

ส่วนการชุมนุมของมวลชนอิสระทะลุแก๊ซที่แยกดินแดง #ม็อบ11สิงหา 2564 ไลลา ตาเฮ ช่างภาพอิสระ ที่ส่งภาพให้กับสำนักข่าว Benarnews และ Rice Media Thailand ถูกตำรวจใช้กระบองตีเฉี่ยวแขน ถูกเลนส์กล้องถ่ายภาพเสียหาย

สภาพความเสียหายของกล้องถ่ายภาพของไลลา ตาเฮ ช่างภาพอิสระ

สภาพความเสียหายของกล้องถ่ายภาพของไลลา ตาเฮ ช่างภาพอิสระ

#ม็อบ13สิงหา 2564 มีสื่อมวลชนถูกยิงกระสุนยางอย่างน้อย 3 คน ทราบเบื้องต้น คือ ตะวัน พงศ์แพทย์ ช่างภาพคณะก้าวหน้า และพิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีถูกยิงบริเวณข้อพับขา เขาให้สัมภาษณ์ผ่านมติชนออนไลน์ด้วยว่า ถูกยิงขณะยืนรวมตัวหลบฝนกับสื่อมวลชนมากกว่า 10 คน ทุกคนสวมปลอกแขนสื่อมวลชน แต่ตำรวจกลับเดินแถวมายิงกระสุนยางใส่ ทั้งที่พยายามแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน ไม่ว่าจะชูแขนที่มีปลอกแขน ชูกล้อง หรือชูขาตั้งกล้อง พิชิตศักดิ์ให้ข้อมูลด้วยว่า จุดเดียวกันนั้นมีช่างภาพหญิงคนหนึ่งถูกยิงบริเวณขาด้วย

ส่วน #ม็อบ15สิงหา 2564 มีสื่อถูกยิงกระสุนยางอย่างน้อย 2 คน โดยข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ช่างภาพวอยซ์ทีวี ถูกยิงบริเวณขา

#ม็อบ21สิงหา 2564 ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เปิดเผยว่า ผู้สื่อข่าว The Reporters ถูกวัตถุบางอย่างกระแทกเข้าที่หมวกนิรภัยที่สวมอยู่ด้านขวาอย่างแรง เกิดเสียงดัง และควัน ก่อนกระเด็นตกลงพื้น ขณะรายงานสดสถานการณ์ใกล้แยกดินแดง ส่งผลให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดเกือบทั้งหมด ต้องพักและสังเกตอาการอย่างน้อย 3 เดือน

#ม็อบ29สิงหา 2564 ที่แยกดินแดง เนชั่นออนไลน์รายงานว่า ศุภชัย เพชรเทวี ผู้สื่อข่าวเนชั่น ถูกกระสุนยางยิงใส่บริเวณกกหูขวา ด้านสยามรัฐรายงานว่า มีพลุถูงยิงเข้ามาในกลุ่มนักข่าวที่กำลังเสนอข่าว ทำให้ฉัตรอนันต์ ฉัตรอภิวัน ถูกสะเก็ดพลุได้รับบาดเจ็บที่มือซ้าย และวราพงศ์ น้อยทับทิม ช่างภาพเครือเนชั่น มีรอยฟกช้ำที่มือขวา

เดือน ก.ย. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมอย่างน้อย 5 คน ใน #ม็อบ13กันยา แยกดินแดง ผู้สื่อข่าวเกือบ 20 คน ถูกฉายเลเซอร์ใส่ ก่อนมีกระสุนยางยิงมาจากกรมดุริยางค์ทหารบก ทั้งที่กลุ่มผู้สื่อข่าวอยู่คนละฝั่งถนนกับผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ ใน #ม็อบ13กันยา ตำรวจยังจับกุมณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร และผู้สื่อข่าวพลเมืองหญิงจากเพจปล่อยเพื่อนเรา ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะทั้งคู่กำลังถ่ายทอดสดสถานการณ์ที่แยกดินแดง โดยใช้เคเบิลไทร์รัดข้อมือด้วย

ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร ถูกจับกุมขณะรายงาน #ม็อบ13กันยา

ณัฐพงศ์ มาลี ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวราษฎร ถูกจับกุมขณะรายงาน #ม็อบ13กันยา

#ม็อบ27กันยา ผู้สื่อข่าวหญิงจากเพจกะเทยแม่ลูกอ่อนถูกตำรวจผลักดันและพยายามจับกุม แต่มีประชาชนช่วยไว้ได้ทัน

#ม็อบ28กันยา ณัฐนนท์ เจริญชัย ผู้สื่อข่าว The Reporters เปิดเผยว่าถูกรถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดใส่จนล้มลงขณะรายงานการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่แยกนางเลิ้ง ขณะนั้นเขายืนรวมอยู่กับสื่อมวลชนที่กำลังถ่ายทอดสดอีกไม่ต่ำกว่า 10 คน

#ม็อบ6ตุลา ปี 2021 “แอดมินนินจา” สื่อมวลชนอิสระช่อง Live Real ถูกจับกุมขณะถ่ายทอดสดสถานการณ์บริเวณแยกดินแดงทั้งที่มีสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน

#ม็อบ29ตุลา ปี 2021 การชุมนุมเพื่อไว้อาลัยวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนวัย 15 ปี ที่มาร่วมชุมนุมหน้า สน.ดินแดง ก่อนถูกยิงเสียชวิต มีรายงานว่าตำรวจยิงกระสุนยางจากรถกระบะที่กำลังเคลื่อนที่ใส่ประชาชนและสื่อมวลชนที่อยู่บนทางเท้าในเขตดินแดง ขณะที่ไอลอว์รายงานว่า ตำรวจยึดโทรศัพท์ของสื่อพลเมืองเพจกะเทยแม่ลูกอ่อนด้วย

ตำรวจพยายามยึดโทรศัพท์ของสื่อมวลชนอิสระ เพจกะเทยแม่ลูกอ่อน

ตำรวจพยายามยึดโทรศัพท์ของสื่อมวลชนอิสระ เพจกะเทยแม่ลูกอ่อน (ภาพจาก iLaw)

ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าว 3 คน ได้แก่ ศรายุธ ตั้งประเสริฐ, ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์, และชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ ที่ฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้คุ้มครองการทำงานขอสื่อมวลชน แต่จนถึงปัจจุบัน ศาลแพ่งยังไม่เคยเรียกผู้เกี่ยวข้องมาไต่สวน รวมถึงยกฟ้องในคดีของศรายุธ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อาจทำตามคำขอที่ให้ศาลสั่งห้ามการสลายการชุมนุม และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

เน้นดำเนินคดี: การรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งฐานทรัพยากร โครงการพัฒนา ประเด็นสิทธิแรงงาน และการฟ้องปิดปาก

ในความขัดแย้งบนฐานทรัพยากร โครงการพัฒนา และสิทธิแรงงาน ไม่พบความรุนแรงทางกายภาพมากนัก นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา การคุกคามการทำงานของสื่อมวลชนมักมาในรูปแบบของการดำเนินคดีจากการเผยแพร่ข่าวเป็นส่วนใหญ่

กรณีคุกคามที่ทำให้สื่อมวลชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ได้แก่ กรณีสื่อมวลชนถูกขู่ห้ามทำข่าวเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรเหมืองแร่ ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า อิสณา อุดมศิลป์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และลัดดา มณีรัตน์ ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส พร้อมด้วยทีมข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ทีมข่าวสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ถูกรถขับตามประกบขณะเก็บภาพประกอบแหล่งต้นน้ำในพื้นที่ จากนั้นมีชายอ้างว่าเป็นตัวแทนบริษัทที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่มาสอบถามว่าเป็นผู้สื่อข่าวใช่หรือไม่ พร้อมห้ามไม่ให้ทำข่าวเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อนขับตามประกบจนกว่ารถของทีมสื่อมวลชนจะออกจากพื้นที่รับฟังความเห็น

ส่วนการฟ้องคดี สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคดีฟ้องปิดปาก (strategic lawsuits against public participation: SLAPPs) ในประเทศไทยไว้ 195 คดี ตั้งแต่ปี 2003ในจำนวนนี้มีสื่อมวลชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 10 คดี

หากนับตั้งแต่ปี 2019 พบว่า มีผู้สื่อข่าวถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาทผู้สื่อข่าว VoiceTV คดีละเมิดอำอาจศาลของสฤณี อาชวานันทกุล และบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ และคดีเหมืองแร่ไทยในเมียนมาร์ฟ้องหมิ่นประมาทปรัชญ์ รุจิวนารมย์ อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

คดีฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาทสุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี จากการทวีตรายงานข่าวคำพิพากษาคดีระหว่างบริษัทธรรมเกษตรกับผู้ใช้แรงงานชาวพม่า ที่ศาลสั่งให้เจ้าฟาร์มไก่จ่ายเงินชดเชยแก่แรงงาน เมื่อ 14 ก.ย. 2560

สุชาณี คลัวเทรอ (ภาพจาก iLaw)

สุชาณี คลัวเทรอ (ภาพจาก iLaw)

คดีนี้ ชาญชัย เพิ่มพล เข้าแจ้งความที่ สภ.โคกตูม จ.ลพบุรี เมื่อ 16 พ.ย. 2560 แต่อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่ามีเจตนานำเสนอข่าวคำพิพากษาในฐานะสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ได้จงใจให้บริษัทธรรมเกษตรเสียหาย

อย่างไรก็ตาม 1 มี.ค. 2562 บริษัท ธรรมเกษตร โดยชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสุชาณี ต่อศาลจังหวัดลพบุรี จากทวีตนี้อีกครั้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 24 ธ.ค. 2562 ให้จำคุก 2 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากเห็นว่าถ้อยคำที่สุชาณีใช้ไม่ตรงกับคำพิพากษา ทำให้บริษัทธรรมเกษตรเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เมื่อ 23 ต.ค. 2563 โดยเห็นว่า ในฐานะสื่อมวลชน สุชาณีได้ข้อเท็จจริงจากการสัมภาษณ์ลูกจ้างชาวพม่าด้วยตนเอง แม้การใช้ถ้อยคำไม่ตรงกับคำพิพากษาแต่ก็เพื่อดึงดูดความสนใจแก่ผู้อ่าน และเป็นคำที่สื่อต่างประเทศก็ใช้เช่นกัน ไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นมาเอง ถือเป็นการติชมโดยสุจริต ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างชั้นฎีกา

คดีถัดมาเริ่มในเดือน ส.ค. 2562 สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน และยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการข่าวกรุงเทพธุรกิจ ถูกตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลฎีกา จากการเขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 14 พ.ค. 2562 พาดพิงการตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้วัตถุประสงค์ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ในหนังสือบริคณห์สนธิเป็นเหตุผลในการตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่บริษัทของผู้สมัครไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี อาชวานันทกุล

คดีนี้จบลงในเดือน ต.ค. 2562 ด้วยการแถลงขอโทษของสฤณี โดยยินดีตัดถ้อยคำไม่เหมาะสมที่ใช้วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งออกจากบทความ

ส่วนคดีล่าสุด คือ บริษัท เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด บริษัทเหมืองแร่ไทยในเมียนมาร์แจ้งความหมิ่นประมาทต่อปรัชญ์ รุจิวนารมย์ บรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมขณะนั้น จากการรายงานข่าวเรื่อง “ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง” เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020 ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอัยการ

ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ที่บริษัทเหมืองแร่แห่งนี้ดำเนินคดีต่อปรัชญ์ โดยเมื่อปี 2017 บริษัทเคยฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท และนำเข้าข้อมูลเท็จตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการเขียนบทความ "เหมืองแร่ไทยทำลายแหล่งน้ำพม่า" ลง The Nation ออนไลน์ คดีจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยและบริษัทถอนฟ้อง

การรายงานข่าวในสถานการณ์ชายแดนใต้

เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นในปี 2547 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พรรษาสิริ, ณรรธราวุธ เมืองสุข ผู้ประสานงานสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Thai Media for Democracy Alliance: DemAll), และนวลน้อย ธรรมสเถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ ที่ต่างมีประสบการณ์การเกี่ยวกับการทำข่าวในจังหวัดชายแดนใต้ให้ข้อมูลคล้ายกันว่า สื่อมวลชนไม่ใช่เป้าหมายของการก่อความรุนแรง เหมือนที่เกิดขึ้นกับการรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุม แต่อาจได้รับบาดเจ็บในลักษณะของลูกหลง

อย่างไรก็ตาม นวลน้อยให้ข้อมูลว่า แม้สื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ได้เป็นเป้าความรุนแรง หรือถูกจับกุมดำเนินคดีมากเท่าการทำข่าวการชุมนุม แต่ก็ยังมีการข่มขู่และคุกคามต่อเสรีภาพของสื่อมวลชนในระดับที่น่ากังวล

นอกจากนี้ เมื่อ 24 พ.ย. 2562 เจ้าหน้าที่ไม่ทราบหน่วยเข้าตรวจค้นร้านกาแฟสดในพื้นที่ตลาดเก่า จ.ยะลา และควบคุมตัวบรรณาธิการบริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักสื่อวาร์ตานี (Wartani) 4 คน ได้แก่ รุสลาน มูซอ, มะปากรี ลาเต๊ะ, ฟาอิส, และวีรา มะแตหะ

รุสลาน มูซอ บรรรณาธิการบริหารสำนักสื่อ Wartani ให้ข้อมูลว่า ขณะที่กำลังประชุมกองบรรณาธิการเพื่อเตรียมทำประเด็นเรื่องการโจมตีป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่กว่า 10 คันรถ มาขอตรวจค้น โดยอ้างว่ามีผู้ต้องสงสัยอยู่ในร้าน กระทั่งพบตัวผู้ต้องสงสัย แต่เจ้าหน้าที่ขอตรวจบัตรประชาชนของรุสลาน และอ้างว่าหาตัวมานานแล้ว ขอนำตัวไปก่อน โดยมีผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 7 คน

รุสลานถูพาไปสอบสวนที่ สภ.ยะลา โดยไม่มีทนายความ เจ้าหน้าที่พยายามขอเก็บข้อมูล DNA แต่เขาไม่ยินยอม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อตรวจสอบเลข IMEI อ้างว่าเก็บไว้เป็นข้อมูล และถ่ายหน้าเฟซบุ๊กและไลน์ไว้ ก่อนปล่อยตัวกลับ และกำชับให้แจ้งคนอื่นว่าเป็นการเข้าใจผิด

รุสลานกล่าวว่า ผู้สื่อข่าว Wartani ถูกคุกคามมาโดยตลอด บางครั้งถูกขู่ว่าจะดำเนินคดี รวมไปถึงมีการติดตามการเดินทาง มีเจ้าหน้าที่ไปหาสมาชิกในครอบครัว หรือกระทั่งเรียกพบเพื่อให้รายงานข่าวเบาลง นอกจากการคุกคามผู้สื่อข่าวและครอบครัวแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตามไปที่บ้านแหล่งข่าว เพื่อกดดันให้ Wartani ลบข่าว หรือห้ามให้สัมภาษณ์แก่ Wartani อีกด้วย

สื่อมวลชนถูกแหล่งข่าวทำร้ายร่างกายจนอาจกลายเป็นเรื่องปกติ

สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลเป็นอีกกลุ่มที่เผชิญกับความรุนแรงทางกายภาพ เช่น กรณีของวาสนา นาน่วม เมื่อปี 2562 ปรากฏภาพที่เธอถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชกเข้าที่ท้อง

อย่างไรก็ตาม วาสนาชี้แจงว่าเป็นเพียงการหยอกเล่น ไทยพีบีเอสรายงานถ้อยคำของวาสนาด้วยว่า “...เป็นท่าปกติที่จะหยอกล้อ หรือแกล้งนักข่าวที่ถามเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวสายทหาร จะเดินกัดฟัน แบบหมั่นเขี้ยว เข้ามาชกไหล่ ชกแขน ชกพุงบ้าง จนกลายเป็นเรื่องปกติ”

เดือน ม.ค. 2564 นภัส ปราณีตพล ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ถูกแย่งไมโครโฟน ตบบ่า และล็อกคอ ขณะสัมภษณ์ ‘ลุงพล’ ไชย์พล วิภา ผู้ต้องสงสัยในคดีที่เด็กหญิงหายตัวไปก่อนถูกพบเสียชีวิตที่ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ซึ่งโด่งดังขึ้นมาจากการติดตามทำข่าวของสื่อมวลชนและบล็อกเกอร์

9 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่ผู้สื่อข่าวหลายสำนัก หลังถูกถามเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในขณะที่ยังเป็นหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ เคยโยนเปลือกกล้วย สาดน้ำ โยนซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โยนกล่องชุดตรวจวัณโรค และมีภาพตบศีรษะสื่อมวลชนด้วย

3 ก.ย. 2564 อีกครั้งที่ปรากฏภาพ พล.อ.ประวิตร ใช้มือสัมผัสที่ใบหน้าผู้สื่อข่าวชายด้วยอาการฉุนเฉียว และใช้กำปั้นชกที่หน้าผู้สื่อข่าวหญิง หลังถูกถามเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ พล.อ.ประวิตร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

ผลกระทบจากความรุนแรง

พรรษาสิริกล่าวว่า การที่สื่อมวลชนถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงในระดับต่างๆ เป็นการลิดรอนและคุกคามสิทธิทางการสื่อสารของประชาชน เพราะประชาชนจะไม่ได้รับข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนรอบด้าน รวมถึงไม่มีเวทีในการแลกเปลี่ยน อภิปราย ถกเถียงเพื่อให้เกิดข้อสรุปหรือข้อตกลงบางประการ โดยเฉพาะในความขัดแย้งและวิกฤตที่สังคมต้องการข้อเท็จจริงที่รอบด้านและการพูดคุย เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งหรือเดินหน้าไปอย่างไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ พอสื่อมวลชนถูกคุกคาม ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระเสรี ประชาชนก็ขาดอำนาจในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง รวมถึงขาดอำนาจต่อรองกับสถาบันที่มีอำนาจด้วย

สอดคล้องกับที่นวลน้อยกล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็นเงื่อนไขการทำงานของสื่อมวลชน ที่อาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กน้อย แต่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันแทบจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ หรือเรียกได้ว่า New normal 

“ถ้าเกิดสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดงมันถูกปฏิบัติซ้ำอยู่เรื่อยๆ เราจะได้ New normal ลักษณะที่ว่า ต่อไปถ้ามีการชุมนุม สมมติชุมนุมที่ราชดำเนิน เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของการจับกุม ห้ามสื่อเข้าไปทำ หมายความว่าสายตาของสาธารณะไปไม่ถึงในบางจุดบางที่ และเราก็จะยอมรับเรื่องนี้เป็น New normal” นวลน้อยกล่าว

ด้านณรรธราวุธ แสดงกังวลต่อความปลอดภัยของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนอิสระ โดยเห็นว่า สื่อมวลชนอิสระมักจะรายงานประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่กล้ารายงาน ทำให้พวกเขาต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับการคุกคาม กดดัน ทั้งจากกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ หรือประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ถูกนำเสนอ

นอกจากผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตที่เห็นได้ชัดเจน ผู้ประสานงาน DemAll ยังกล่าวถึงผลกระทบทางจิตใจที่เกิดแก่สื่อมวลชนว่า ผู้สื่อข่าวปัจจุบันเป็น PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือเป็นโรคที่เกิดจากการเผชิญความรุนแรงทางจิตใจอย่างกระทันหันจำนวนมาก หลายคนตื่นเช้ามาต้องไปติดตามการชุมนุมและเจอกับภาวะของความรุนแรง การยิงน้ำ ยิงกระสุนยาง มีพลุ มีดอกไม้ไฟ มีเสียงดัง ตู้ม! อยู่เป็นประจำ โดยไม่รู้ว่าพลุจะถูกแขนขาขาดหรือเปล่า ไม่รู้ว่าจะโดนกระสุนยางบาดเจ็บหรือเปล่า

“ความกลัว ความกังวลมันกัดกินใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะตอนนี้ลาออกก็ตกงาน การโยกย้ายในวงการสื่อไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ก็ต้องอดทนทำกันต่อไป ถ้าที่ไหนมี บ.ก. ดี ก็จะเดินไปบอก บ.ก. แล้ว บ.ก. รับฟังเขา อาจจะหาวิธีการเปลี่ยนทีมอะไรต่างๆ ที่จะออกไปเผชิญปัญหานั้นก็สับเปลี่ยนกันไป แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วมันน้อยนะ” ณรรธราวุธกล่าว

ข้อเสนอเพื่อยุติความรุนแรงต่อสื่อมวลชน

พรรษาสิริเสนอว่า การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยที่ปกป้องและรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสิทธิการสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพูด การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะยุติความรุนแรงต่อสื่อมวลชน โดยเมื่อเกิดความรุนแรง ทุกภาคส่วนควรมีกระบวนการสอบสวนหาข้อเท็จจริง สร้างกระบวนการรับผิดชอบที่ไม่ใช่แค่ลงโทษผู้ก่อความรุนแรง และมีกลไกคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ยังมีข้อเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ดังนี้

1. รัฐบาล หน่วยงานรัฐ และองค์กรกำกับดูแล ควรบังคับใช้นโยบายและกฎหมายบนพื้นฐานการรับรองสิทธิในการสื่อสารของประชาชน ส่งเสริมความหลากหลายในนิเวศการสื่อสาร และการแข่งขันที่เป็นธรรม สร้างความเข้าใจ และฝึกอบรมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อให้เข้าใจบทบาทให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง

นอกจากนี้ รัฐบาล หน่วยงานรัฐ และองค์กรกำกับดูแลต้องเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในทุกระดับ และไม่ยอมรับความรุนแรงว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

2. ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรมีบทบาทในการแก้ไขกฎหมายที่จะคุกคามต่อเสรีภาพของประชาชน รับประกันการเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยในการนำเสนอข้อเท็จจริง อภิปราย ถกเถียง เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง

3. องค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพสื่อ ควร ยึดมั่นในสิทธิทางการสื่อสารและเสรีภาพของประชาชน พร้อมทำความเข้าใจกับความรุนแรงประเภทต่างๆ และบทบาทที่องค์กรจะทำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง เช่น การอบรม เผยแพร่ข้อมูล โดยไม่ใช้ความรุนแรงในกระบวนการหาข้อมูลและรายงานข่าว และรับรองสิทธิแรงงานของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ

นอกจากนี้ องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ควรมีแผนรับมือ ป้องกันเหตุรุนแรง และสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกัน เมื่อเกิดความรุนแรงต่อสื่อมวลชนต้องรีบสื่อสารไปยังภาคและสาธารณะในทันที

4. ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ควรสร้างความร่วมมือกับองค์กรสื่อเพื่อทำให้นิเวศข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ส่งเสริมสิทธิการสื่อสารของประชาชน ส่งเสริมการแข่งขันที่เสรี เป็นธรรม มีแนวทางกำกับดูแลเนื้อหาที่เป็นความรุนแรงหรือกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนและสื่อมวลชน อย่างทันท่วงที และปกป้องความเป็นส่วนตัวของสื่อมวลชน

5. ประชาชนและภาคประชาสังคม ต้องช่วยกันทำความเข้าใจว่าเสรีภาพของประชาชนและเสรีภาพสื่อสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อเป็นแนวร่วมในการปกป้ององค์กรสื่อ-ปกป้องสิทธิการสื่อสารของพลเมือง พร้อม ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พยายามไม่ใช้แนวทางที่เป็นความรุนแรงตอบโต้ ให้ความรุนแรงเป็นทางเลือกสุดท้าย

ด้านณรรธราวุธ เสนอว่า ขั้นตอนเร่งด่วน คือ ต้องสื่อสารกับสังคม และสังคมต้องเรียนรู้ที่จะมีวุฒิภาวะในการที่จะเปิดรับพื้นที่การเติบโตของสื่อใหม่ ขณะที่องค์กรวิชาชีพต้องสื่อสาร ทำงานเชิงรุกที่จะปกป้องผู้สื่อข่าวข่าวภาคสนาม เช่น มีวอร์รูมในการติดตามสถานการณ์ชุมนุม ออกแถลงการณ์อย่างทันท่วงที ตั้งผู้ประสานงานในพื้นที่ภาคสนาม เมื่อมีปัญหาต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ได้ คุยกับผู้ชุมนุมได้ ผู้สื่อข่าวข่าวสามารถส่งเสียงเรียกร้องนำเสนอปัญหาได้ทันที และได้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าไม่ใช่ตามหาฟุตเทจทีหลัง

นอกจากนี้ ผู้ประสานงาน DemAll กล่าวว่า องค์กรวิชาชีพต้องมีความกล้าหาญในการส่งข้อเรียกร้องกับรัฐ หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ให้รัฐตระหนักว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เช่น การแบนไม่ทำข่าว หรือเอากล้องไปวางไว้แต่ไม่ส่งผู้สื่อข่าวไป หรือให้นักข่าวสวมชุดเกราะเป็นสัญลักษณ์ว่าต้องเผชิญหน้ากับสงคราม ในขณะที่สื่อมวลชนเองก็ต้องพัฒนายกระดับตัวเอง เพิ่มต่อมในการระแวดระวังที่จะถูกครอบงำจากรัฐให้มากขึ้นเช่นกัน

ด้านณัฐพงศ์ มาลี จากสำนักข่าวราษฎร เสนอว่า ต้องรับรองการมีอยู่ของสื่อออนไลน์ ต้องรับรองการมีอยู่ของสื่ออิสระ องค์กรวิชาชีพ ประชาชน และรัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าโลกสมัยนี้เปลี่ยนไปแล้ว สื่อมวลชนไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่ช่องหลัก ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในโทรทัศน์ ไม่จำเป็นที่จะต้องกางหนังสือพิมพ์มา ตอนนี้เป็นโลกออนไลน์ เป็นโลกไร้พรมแดน ใครๆ ก็เป็นสื่อมวลชนได้ แต่ต้องมีหลักการ มีจรรยาบรรณในการรายงานข่าวอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา

ขณะที่นวลน้อยมีข้อเสนอต่อวสื่อมวลชนว่า ท่ามกลางสภาวะความไม่ไว้วางใจกันในสังคม นักข่าวต้องแสดงตัวให้ชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าใกล้แหล่งข่าว ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือสถานการณ์ซับซ้อน ควรมีเพื่อนสื่อมวลชนช่วยกันระแวดระวังภัย และเข้าไปทำข่าวมากกว่า 1 คน

“นักข่าวไม่มีอาวุธ นักข่าวไม่มีอะไรอย่างใดอื่น นอกจากความจริงใจของตัวเอง ควาามโปร่งใสของตัวเอง แล้วก็ผลงานของตัวเองที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยให้กับตัวเอง” นวลน้อยกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net