Skip to main content
sharethis

ยืนยันเสรีภาพสื่อ-เสรีภาพทางวิชาการ ชี้ กสทช. ในฐานะองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ชาติ ต้องอดทนต่อการตรวจสอบ-วิพากษ์วิจารณ์ แนะ กสทช. ถอนฟ้อง-ร่วมเวทีถกกันด้วยหลักการ ไม่ใช่ข่มขู่ด้วยกฎหมาย

(5 ก.ย.56) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไทยพีบีเอส และ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมแถลงข่าว กรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งประกอบด้วยพันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ นายสุทธิพล ทวีชัยการ พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงาน กสทช. โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz โดยกล่าวหาว่า บุคคลทั้งสองได้ใส่ความโจทก์ ทำให้เกิดความเสียหายนั้น

ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง กล่าวว่า กรณีที่ถูกฟ้องเกี่ยวข้องกับรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรายงานข่าวการหมดอายุของสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz  โดยรายงานการแถลงข่าวอ้างอิงงานวิจัย ที่ อ.เดือนเด่น และ อ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ร่วมงานด้วยมีการนำเสนอข้อมูลอ้างอิงจากการศึกษาของสถาบันอนาคตประเทศไทย ถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เมื่อ กสทช. ตัดสินใจต่ออายุสัญญาสัมปทานอีก 1 ปี และได้สัมภาษณ์ อ.เดือนเด่น อ.จันทจิรา และ เลขา กสทช. เพื่อความรอบด้านในการรายงาน

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ หนึ่งในผู้ถูกฟ้อง กล่าวว่า ประเด็นที่ กสทช. ฟ้องนั้น มีสองประเด็น คือ หนึ่ง คืออ้างว่าตนเองพูดว่า ถ้าทำตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ชุดของตนเอง จะทำให้ประมูลทัน ซึ่งยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าจะทันแน่ๆ แต่ที่สำคัญกว่านั้น ตั้งคำถามถึง กสทช.ว่า ทำไมจึงไม่เปิดเผยรายงานของคณะอนุกรรมการต่อสาธารณะให้รับทราบและตอบคำถามด้วยว่า ได้ดำเนินการตามนั้นหรือไม่

สอง กสทช.ฟ้องว่า ตนเองกล่าวหาว่า กสทช.ทำให้เกิดความเสียหาย 1.6 แสนล้านบาท เดือนเด่น กล่าวว่า ไม่เคยบอกว่าเป็นความเสียหายจริงที่เกิดกับประเทศไทย เพียงแต่เปรียบเทียบจากรายงานของสถาบันอนาคตประเทศไทยในกรณี 3G และกรณีอังกฤษ ซึ่งประเมินค่าความเสียหายเป็นมูลค่า 5-7 เท่าของมูลค่าคลื่นความถี่ เพื่อต้องการให้ กสทช. ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชน ว่าเคยคำนึงถึงต้นทุนตรงนี้หรือไม่ ซึ่ง กสทช.กลับไม่มีการทบทวน และฟ้องตนเอง

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หรือการใส่ความเท็จ โจมตีการทำหน้าที่ สร้างความเสียหายต่อบุคคลตามที่มีการกล่าวหา โดยเดือนเด่นได้ทำหน้าที่นักวิชาการ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร เสนอความเห็นต่อสาธารณะ ซึ่งก็สามารถถูกตรวจสอบกลับได้ โดยหักล้างด้วยหลักการ และข้อมูล ส่วนสาธารณะจะเชื่อใครก็เป็นดุลพินิจของเขา

สมเกียรติ กล่าวว่า กรณีนี้มีทางออกที่สร้างสรรค์ได้มากกว่านี้ คือหาก กสทช. เห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่นักวิชาการให้ต่อสาธารณะคลาดเคลื่อนไม่เป็นจริงก็สามารถให้ข้อมูลข่าวสารชี้แจง ซึ่ง กสทช. ก็ทำไปแล้ว แต่หากอยากหักล้างข้อมูล ก็ทำได้โดยจัดเวทีสาธารณะ โต้กันบนเวที ไม่ใช่การข่มขู่

นอกจากนี้ สมเกียรติ ฝากคำถาม 10 ข้อ ถึง กทค. ให้ตอบต่อสาธารณชน ดังนี้

1.ทราบหรือไม่ว่าสัมปทานของทรูมูฟและดีพีซีจะหมดอายุในวันที่ 15 ก.ย.
2.เมื่อสัมปทานหมดอายุ กม.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดให้เอาคลื่นความถี่มาประมูล ไม่สามารถจัดสรรได้ด้วยวิธีอื่น เมื่อดูเอกสาร กสทช. จะพบว่าตั้งแต่จัดทำแผนแม่บท เอกสารของ กสทช. ก็ระบุชัดว่าต้องประมูล
3.จริงหรือไม่ที่แผนแม่บทก็กำหนดให้เอาคลื่นความถี่คืนมาประมูล
4.จริงไหมที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช. ก็เคยมีความเห็นคล้ายกันว่า คลื่นเมื่อหมดสัมปทาน ไม่สามารถขยายต่อไปได้ และสอดคล้องกับนักกฎหมายอื่นใช่หรือไม่
5.การที่ กทค. ไม่ทำตามกฎหมาย แผนแม่บท โดยออกประกาศที่อาจจะขัดกฎหมาย ได้เคยปรึกษาหน่วยงานภายนอก เช่น กฤษฎีกา หรือไม่
6.ได้แจ้งให้ผู้บริการทราบแต่เนิ่นๆ หรือไม่ว่าสัมปทานจะหมดลงแล้ว
7.ได้ห้ามผู้ประกอบการจำหน่ายบริการที่เกินกว่าอายุสัมปทานหรือไม่
8.ได้ปรับปรุงการให้บริการเพื่อให้โอนย้ายค่ายได้สะดวกมากขึ้นหรือไม่ หากมี มาตรการเยียวยาวก็ไม่จำเป็น
9.ได้จ้างที่ปรึกษาออกแบบการประมูลคลื่นความถี่ 1800 หรือไม่
10.เวลากว่า 420 นับแต่ประกาศแผนแม่บท เมื่อ เม.ย. 55 จนถึงออกประกาศ หากทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เวลาดังกล่าวเพียงพอหรือไม่


มาลี บุญศิริพันธ์ ประธานกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส กล่าวว่า เมื่อทราบว่าไทยพีบีเอสและนักวิชาการถูกฟ้องนั้น ตกใจมาก เพราะไม่คิดว่าในยุคที่กำลังปฏิรูปสื่อ ประชาชนกำลังตระหนักในสิทธิการรับสารของตนเอง และเราก็ภูมิใจว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ข้อมูลไปได้ทั่วถึง สื่อกลับถูกฟ้องในประเด็นของสาธารณะ

ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ไทยพีบีเอส ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ ก็ตาม ซึ่งกระทบต่อประโยชน์และสิทธิที่พึงได้ของประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของสื่อสาธารณะ แต่ยังเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่มีคุณภาพ ที่ต้องทำให้ประชาชนมีคุณภาพ มีข้อมูลในการตัดสินใจด้วย

กรณีที่ถูกฟ้อง เป็นเรื่องที่ไม่อาจรับได้ เนื่องจากสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะ ไทยพีบีเอส เกิดจากความไม่พอใจสื่อที่ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง เรื่องใดที่มีความคลุมเครือ สับสน ประชาชนเข้าใจยาก ต้องนำเสนอ เมื่อนำเสนอแล้ว หากฝ่ายตรงข้ามต้องการโต้ตอบ ชี้แจง เราเปิดพื้นที่ให้อยู่แล้ว กรรมการนโยบาย มีนโยบายเคร่งครัดว่าการรายงานข่าว ต้องลุ่มลึกรอบด้าน เสมอภาค และสมดุล เพียงโทรศัพท์มาฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมสนองตอบทันที

วิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า การฟ้องควรเป็นมาตรการสุดท้าย การเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรสาธารณะ ทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรมหาศาลของประชาชน ต้องถูกจับตามอง ไม่น่าจะเป็นสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด พร้อมเสนอว่า องค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ประชาชนต้องอดทนอดกลั้นมากกว่าบุคคลทั่วไป

วิสุทธิ์ กล่าวว่า กังวลว่าการฟ้องเช่นนี้ จะทำให้เกิดความหวาดกลัว จนทำให้สื่อมวลชนอื่นๆ ระมัดระวัง หรือนำเสนอข้อมูลที่ลดโทนการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น หรือนักวิชาการนำเสนองานวิจัยที่สังคมต้องรับรู้ได้ไม่ครบถ้วน

วิสุทธิ์ ชี้ว่า ตีความว่าในคำฟ้องซึ่งระบุว่า การฟ้องทำได้ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นการข่มขู่ ขอให้ กสทช.ทบทวนเรื่องนี้ใหม่ โดยน่าจะถอนฟ้อง และหากยังติดใจเรื่องการนำเสนอข่าวนั้น ยืนยันว่า สื่อทุกสื่อเปิดกว้างอยู่แล้ว องค์กรวิชาชีพก็อาสาเป็นตัวกลางให้มีเวทีถกกันได้ พ้นยุคของการปิดปากสื่อ ปิดกั้นความคิดของนักวิชาการ และปิดหูปิดตาประชาชนแล้ว ต้องเปิดกว้างและอดทนกว่านี้ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์มหาศาลของประเทศชาติ

จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อเห็นข่าวแล้วรู้สึกประหลาดใจ เพราะนี่เป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ และคนที่เป็นข่าวก็เป็นบุคคลสาธารณะ เมื่อมีความขัดแย้ง ก็ต้องพูดจากัน ไม่ใช่ใช้อำนาจหรือข่มขู่ ทางที่ดีที่สุด คือ กทค.ควรถอนฟ้อง และมาพูดคุยกัน

ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ขอให้สื่อจับตาสถานการณ์นี้ นี่คือสัญญาณเตือนและมีความหมาย ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคนที่ถูกฟ้อง ถ้าองค์กรที่อาสาพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติเป็นแสนล้าน มีทัศนคติและท่าทีต่อการวิจารณ์เช่นนี้ สื่อต้องมองสถานการณ์ให้ละเอียด อย่างรู้เท่าทัน และทำงานอย่างระมัดระวัง ส่วน กทค. ซึ่งล้วนเป็นผู้ใหญ่นั้น เมื่อลูกน้องเสนออะไรมาก็ควรพิจารณาดีๆ เพราะอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้

ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญของสังคมเกี่ยวกับบรรยากาศการใช้เสรีภาพ ซึ่งวันนี้ทุกฝ่ายได้แสดงจุดยืน เริ่มจากผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 คน ทั้งนี้ สังคมมอบหมายให้ กสทช.จัดสรรคลื่นฯ เพื่อประโยชน์และเป็นธรรม แต่เท่าที่ติดตาม มีสัญญาณหลายอย่างน่ากลัว เช่น ระเบียบประกาศรายการเนื้อหาวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า กสทช.ในฐานะองค์กรที่ปฏิรูปสื่อ กลับมีความคิดย้อนยุค ทำร้ายเสรีภาพสื่อ และกรณีนี้เป็นการใช้กฎหมายข่มขู่ และทำลายเสรีภาพทางวิชาการ สุดท้าย องค์กรที่น่ากลัวและท้าทายสื่อมากสุด คือ กสทช. ที่สื่อต้องจับตามอง

นอกจากการแถลงข่าว ปรีดา เตียสุวรรณ์ กลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย และรสนา โตสิตระกูล ตัวแทนกลุ่ม 40 ส.ว. ได้มอบดอกไม้ให้กำลังใจผู้ถูกฟ้องทั้งสองด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net