Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นที่ทราบกันว่าเป้าหมายของ ‘เทพเทือก’ ในการชุมนุมประท้วงครั้งนี้คือสิ่งที่เขาเรียกว่าการ ‘กวาดล้างระบบทักษิณ’ โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่มุ่งทำให้องค์กรของรัฐไม่อาจปฏิบัติงานตามปกติได้ (disorganised) หรือตัดแยกองค์กรออกจากรัฐบาล หรือทำให้องคาพยพของรัฐกลายเป็นอัมพาต เพื่อมุ่งให้เกิด ‘ภาวะรัฐล่ม’ (failed state) กล่าวคือส่วนหัวไม่อาจบังคับอวัยวะได้

ภาวะรัฐล่มมีผลให้รัฐบาลไร้ความหมาย ไม่สามารถปกครอง หรือสั่งการองค์กรใต้บังคับบัญชา ลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในอินเดียเมื่อครั้งคานธีจัดการชุมนุมเรียกร้องเอกราชด้วยวิธีอหิงสา(non-violence) ทว่าใช้การดื้อแพ่งที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ‘อารยะขัดขืน’(civil disobedience) ยุทธศาสตร์ของคานธีได้ผลอย่างยิ่ง ด้วยว่า’ความชอบธรรม’อยู่กับฝ่ายต่อต้าน ผู้คนทั้งชาติหันมาเข้าข้างคานธี ในทางกลับกัน ‘มวลมหาประชาชน’ ปฏิเสธความร่วมมือกับรัฐบาลอาณานิคมของอังกฤษ นั่นทำให้รัฐบาลไม่อาจบังคับบัญชาองค์กรของรัฐหรือประชาชนได้ ท่านที่ดูภาพยนต์เรื่องคานธีคงประจักษ์แจ้งถึงประเด็นนี้

ยุทธศาสตร์ ‘แบบเทพเทือก’ ก็คล้ายกัน มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะภาพลักษณ์ของรัฐบาลตกต่ำอย่างยิ่งอันเนื่องมาจากการผ่านพรบ.นิรโทษกรรม และการถูกกล่าวหาในประเด็นคอร์รัปชั่นและความล้มเหลวด้านการบริหารประเทศ และเมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นั่นยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลลดถอยลงอย่างน่าใจหาย

ในการชุมนุมวันแรกๆ ผู้คนเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านอย่างล้นหลาม สำนักข่าว CNN แถลงว่าผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงอาจมีถึง 2 ล้านคน หลายคนกล่าวว่าในวันนั้นผู้คนมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงของไทย มากกว่าเมื่อครั้ง 14 ตุลาคม 2516 เสียอีก ‘เทพเทือก’ ประกาศว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมในการปกครองประเทศแล้ว เขาและ ‘มวลมหาประชาชน’ จะร่วมกันกวาดล้าง ‘ระบบทักษิณ’ และจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาประชาชน’ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย

จากนั้นเป็นการดำเนินการเชิงรุกเพื่อ ‘disorganised’ อำนาจการปกครองของรัฐบาล เช่นการเคลื่อนไหวแบบดาวกระจายบุกยึดที่ทำการของรัฐทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ประกาศขอให้ประชาชนงดเว้นการเสียภาษี การกดดันสื่อโทรทัศน์ให้งดเว้นการเสนอข่าวฝ่ายรัฐบาล และหันมาเสนอข่าวของฝ่ายต่อต้านให้มากขึ้น การเรียกร้องให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจรวมทั้งภาคเอกชนหยุดงานทั้งประเทศที่เรียกว่า ‘general strike’ ทั้งหมดเพื่อทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะ ‘รัฐล่ม’

โชคไม่ดี, ดูเหมือนว่ามาตรการเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ประชาชนผู้เข้าร่วมลดน้อยลงอย่างมาก การยึดสถานที่ราชการแม้ทำได้หลายแห่งในกรุงเทพฯ แต่ตามหัวเมืองการยึดศาลากลางมีอยู่เพียงประปราย ผู้คนไม่เห็นด้วยกับมาตรการงดเสียภาษี การกดดันสื่อโทรทัศน์ทำให้ฝ่ายประท้วงเสียภาพอย่างรุนแรงทั้งได้รับการคัดค้านจากทุกสารทิศ อีกทั้งมาตรการการหยุดงานไม่เป็นผลตามความคาดหมาย

สถานการณ์ดูคล้ายกับว่าผู้คนแยกแยะออกว่าสิ่งไหนควรเข้าร่วม และสิ่งไหนไม่ควร ที่ร้ายก็คือยิ่งดำเนินมาตรการมากเท่าไร ภาพลักษณ์ของฝ่ายประท้วงยิ่งลดลง ขณะฝ่ายรัฐบาลทรงตัวหรือไม่ก็กระเตื้องขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะการมีไหวพริบในการเดินหมากทางการเมือง

เป็นที่น่าสังเกตว่าฝ่ายรัฐบาลวางตัว ‘เชิงรับ’ หรือเป็น ‘passive action’ ขณะฝ่ายตรงข้ามเดินหมาก ‘เชิงรุก’ หรือเป็น ‘active action’ รัฐบาลประกาศไม่ใช้มาตรการรุนแรงตอบโต้เพื่อ “ปกป้องผู้เดินขบวน” ปล่อยให้ฝ่ายประท้วงยึดสถานที่ทำงานของรัฐอย่างง่ายดาย ทั้งแถลงว่ายินดีเจรจาหรือกระทั่ง “พร้อมจะเสียสละ” ตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ยิ่งกว่านั้น, มวลชนเสื้อแดงยอมสลายม็อบนัยว่าเพื่อ “ป้องกันมิให้เกิดการปะทะ” ทั้งหมดนี้ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นไปตามแผนการรับมือที่วางไว้อย่างชาญฉลาด และไม่ยอมตกหลุมพราง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งได้แก่ ‘การเจรจา’ ขณะผู้คนหลายกระแสเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งเจรจากัน รัฐบาลออกมาตอบรับทันที แต่ฝ่ายประท้วงปฏิเสธ นั่นเพราะการเจรจาต่อรองมิใช่ยุทธศาสตร์ของ ‘เทพเทือก’ สิ่งที่เขาต้องการคือการทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสลายไปโดยปริยายหลังจากยึดอำนาจและจัดตั้งสภาของ ‘มวลมหาประชาชน’ ดังนั้น, การต่อรองให้ยุบสภาหรือนายกฯลาออกมิใช่คำตอบของยุทธศาสตร์นี้

แผนการดังกล่าวก็คล้ายกับที่ครั้งหนึ่งนายกรัฐมนตรีเยลซินของสหภาพโซเวียตริบเก้าอี้ประธานาธิบดีของกอร์บาชอฟด้วยการเรียกประชุมผู้นำของรัฐต่างๆเพื่อจัดตั้งสมาพันธ์ของอดีตประเทศในสหภาพโซเวียต นั่นมีผลให้สหภาพโซเวียตล่มลงอย่างเป็นทางการ และเก้าอี้ประธานาธิบดีในฐานะผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตก็พลอยหายไปด้วยโดยอัตโนมัติ

ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์น่าจะรู้ทันแผนการดังกล่าว พวกเขาในด้านหนึ่งปล่อยให้ผู้ประท้วงยึดหน่วยงานของรัฐ ขณะอีกด้านจัดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต่อไปได้ตามปกติ ในด้านหนึ่งทำลายภาพลักษณ์ของฝ่ายตรงข้าม แต่อีกด้านกู้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลคืนมา ในด้านหนึ่งเรียกร้องการเจรจาทั้งที่รู้ว่าศัตรูไม่มีวันเจรจา แต่หากไม่เจรจาภาพลักษณ์ที่เสียหายไม่ได้ตกอยู่กับฝ่ายรัฐบาล แต่อยู่กับฝ่ายตรงข้าม

ที่ได้เปรียบเชิงกลก็คือ หากผู้นำการประท้วงมาขึ้นโต๊ะเจรจา การต่อรองคงหนีไม่พ้นเรื่องการให้รัฐบาลยุบสภาหรือลาออก หรือเลือกตั้งใหม่ และหากเป็นเช่นนั้น ยิ่งลักษณ์อาจยังคงเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน, หรือยังคงมีส่วนร่วมในเลือกตั้งใหม่, หรือในการปฏิรูปประเทศไทย และย่อมหมายความว่าฝ่ายตรงข้ามไม่มีทางขจัด ‘ระบบทักษิณ’ ออกไปได้จากการเมืองของไทย อย่าลืมว่ารัฐบาลยังมีพลังสีแดงที่พร้อมจะเคลื่อนไหวตอบโต้อยู่ในมือ

เผือกร้อนถูกโยนกลับมายัง ‘เทพเทือก’ และพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เก็บซ่อนยุทธศาสตร์และความกลัดกลุ้มไว้อย่างมิดชิด พวกเขาจะประกาศชัยชนะได้อย่างไรหากชัยชนะหมายถึงการผูกขาดความชอบธรรมเอาไว้ให้ได้ แต่ความชอบธรรมของตนยิ่งหดหายลงไปทุกที หมายถึงการทำให้รัฐล่ม แต่ภาวะเช่นนั้นดูยังไกลเกินเอื้อม ด้วยว่าการยึดที่ทำการของรัฐดูจะไร้ความหมายไปเสียแล้ว อีกทั้งการจัดตั้งสภาประชาชนที่ผู้คนยังไม่ทราบที่มาที่ไป ดูว่าอาจไร้ความชอบธรรมรองรับ

ในขณะนี้ กระทั่ง ‘เสียงบริสุทธิ์’ กำลังกลายเป็นเสียงที่แตกแยก เหล่านักวิชาการและนักวิเคราะห์เริ่มตั้งคำถามต่อขบวนการต่อต้าน คนเหล่านั้นเบื่อหน่ายความขัดแย้งที่บ่อนทำลายชาติและหาข้อยุติไม่ได้ พวกเขาจึงพากันเรียกร้อง ‘การปฏิรูปประเทศไทย’ ที่แท้จริง การปฏิรูปดังกล่าวถูกเสนอเข้ามาเป็นครั้งที่สามแล้ว จนบัดนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากมันถูกนำไปผูกติดอยู่กับการทำลายล้าง ‘ระบบทักษิณ’

คำถามคือการปฏิรูปโดย ‘มวลมหาประชาชน’ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากตัดหุ้นส่วนคู่ขัดแย้งออกไป? ‘มวลมหาประชาชน’ ที่กล่าวอ้างเพื่อการปฏิรูปได้รวมกลุ่มเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยไว้ด้วยหรือไม่? หากไม่, ความขัดแย้งจะยุติลงโดยการปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมได้อย่างไร? ‘เทพเทือกจะนำพา ‘มวลมหาประชาชน’ ไปทางไหน? จะปิดเกมความขัดแย้งและก้าวลงจากเวทีอย่างสง่างามได้อย่างไร?

เหล่านี้ล้วนเป็นความกลัดกลุ้มของคนทั้งสังคม และเป็นคำถามใหญ่ที่ยังรอคอยคำตอบอยู่อย่างกระวนกระวาย.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net