Skip to main content
sharethis
30 มี.ค. 2559 นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย และเศรษฐกิจไทย ในปี 2559 ว่า เอดีบีปรับลดการคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยในปี 2559 โตร้อยละ 3 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.5 และจีดีพีจะเร่งตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2560 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศสำคัญยังขยายตัวได้ไม่เข้มแข็ง โดยการประเมินในครั้งนี้ยังไม่ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนเมษายนได้ แต่ผลต่อจีดีพีทั้งปีมีน้อยมาก โดยตัวขับเคลื่อนเศรษบกิจสำคัญ คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปี คาดว่าในปีนี้จะมีการเริ่มดำเนินการใน 20 โครงการมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ หากการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนดจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชนให้ลงทุนตาม โดยประเมินการลงทุนภาครัฐปียี้ขยายตัวร้อยละ 10
 
ขณะที่การส่งออกในปีนี้ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ติดลบร้อยละ 1 ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวร้อยละ 1 ในปี 2560 โดยต้องจับตาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เชื่อมโยงต่อการส่งออกไทย ซึ่งเอดีบี ทำการศึกษาว่า หากอัตราการเติบโตของจีนชะลอลงอีกร้อยละ 0.85 จากที่คาดการณ์ว่าโตร้อยละ 6.5 จะมีผลกระทบต่อจีดีพีประเทศเกิดใหม่ และไทยลดลงร้อยละ 0.3 อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเล็กน้อยในปีนี้ และเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า เมื่อโครงการลงทุนภาครัฐเดินหน้าต่อเนื่อง
 
ไอเอ็มเอฟคาดเศรษฐกิจไทยปี 59 โต 3%
 

เช่นเดียวกับไอเอ็มเอฟ ที่เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 โดยไอเอ็มเอฟ โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 เริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ชะลอลงในช่วงก่อนหน้าจากปัญหาทางการเมือง โดยขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 หากมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3 ในปี 2559 และขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2560

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นและราคาพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการลงทุนภาครัฐยังจะเป็นแรงส่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไป ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะกลับเป็นบวกได้ในปี 2559 แต่อาจใช้เวลาในการปรับเข้าสู่ค่ากลางของเป้าหมายเงินเฟ้อ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะทยอยปรับลดลงและอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น

เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟมองความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่า มาจากปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากขึ้น และส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินโลกอาจก่อให้เกิดการไหลออกของเงินทุน และทำให้ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้น สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ ได้แก่ การเบิกจ่ายในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งหากล่าช้ากว่าคาดจะกระทบอุปสงค์ในประเทศได้ และหากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องนานกว่าที่คาด อัตราดอกเบี้ยและภาระหนี้ที่แท้จริงจะปรับสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลต่อการบริโภค และในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงอาจส่งผลต่อฐานะของสถาบันการเงินได้

อย่างไรก็ดี พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งของไทยจะเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเสนอให้ทางการไทยดำเนินการใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคแบบผ่อนคลายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการเจริญเติบโตทั้งระยะสั้นและระยะยาว 2) รักษาเสถียรภาพการเงิน และ 3) เพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ

 
เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net