Skip to main content
sharethis

ประมวล 4 วาทะของ ‘เดสมอนด์ ตูตู-ดาไลลามะ-ชิริน เอบาดี-มาลาลา ยูซัฟซัย’ ถึงอองซานซูจีเหตุเพิกเฉยมาตรการทหาร ต่อชาวโรฮิงญา อัด หันหลังให้ประชาธิปไตย ค่างวดขึ้นสู่อำนาจด้วยการเงียบงันนั้นแพงเกิน ไม่มีใครใหญ่กว่าใครแม้มีปืนและความเชื่อต่างกัน  เรียกร้องวีรสตรีคนเดิมออกมาประณามและหยุดความรุนแรง ใช้สันติวิธี มนุษยธรรมแก้ปัญหา

เรื่อยมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศพม่าหลังกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิม Arakan Rohingya Salvation Army (ARSA) โจมตีจุดตรวจบริเวณชายแดน สถานีตำรวจและฐานทัพในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ส่งผลให้รัฐบาลพม่าใช้มาตรการทางทหารโต้ตอบด้วยการเข้าปิดล้อม โจมตี และเผาบ้านเรือนในเขตชุมชน Maungdaw Buthidaung และ Rathedaung ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 270,000 คนพยายามหลบหนีจากเมียนมาร์

ท่ามกลางสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนบนฐานความแตกต่างทางสัญชาติ ศาสนาผ่านกำลังอาวุธ ก็ยังไม่มีเสียงของอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2534 ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรครัฐบาล และตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการใช้ความรุนแรงต่อคนในประเทศ โดยประชาคมนานาชาติและบุคคลสาธารณะหลายคนต่างออกมากดดันท่าทีที่เงียบงันของเธอ ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายอื่นที่ออกมาเรียกร้องให้อองซานซูจีเชิดชูรางวัลที่ตนได้รับด้วยการมองหาทางออกอย่างสันติวิธี โดยประชาไทรวบรวมถ้อยแถลงของเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ 4 คน ได้แก่สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู ดาไลลามะที่ 14 ชิริน เอบาดี และมาลาลา ยูซัฟซัย

สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ พ.ศ. 2523

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2560 สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู นักเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวแห่งแอฟริกาใต้ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2523 เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอองซานซูจี เรียกร้องให้ผู้นำเมียนมาร์ออกมาเป็นตัวแทนให้กับสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื้อความจดหมายมีต่อไปนี้

จดหมายเปิดผนึกจากสาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู ถึง อองซานซูจี

ตอนนี้ฉันแก่ชรา เสื่อมสภาพและเกษียณอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องตระบัดคำสัญญาที่จะไม่พูดถึงเรื่องสาธารณะด้วยความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้งต่อความทุกข์ยากของโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในประเทศท่าน

เธอคือน้องสาวที่ฉันรักยิ่ง เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ฉันวางรูปเธอเอาไว้บนโต๊ะเพื่อระลึกถึงความอยุติธรรมและความเสียสละที่คุณต้องอดทนด้วยความรักและพันธสัญญาต่อประชาชนเมียนมาร์ เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของความถูกต้อง ในปี 2553 พวกเรายินดีที่เธอถูกปล่อยตัวจากการกักขังไว้ที่บ้าน และในปี 2555 พวกเราเฉลิมฉลองการลงเลือกตั้งของเธอในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน

การก้าวขึ้นสู่พื้นที่สาธารณะช่วยบรรเทาความกังวลของเราในเรื่องความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา แต่สิ่งที่บางคนเรียกว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ และที่บางคนเรียกว่า ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบช้าๆ’ ยังคงมีอยู่และในปัจจุบันเพิ่งถูกปลุกเร้าขึ้นมา ภาพความเจ็บปวดของชาวโรฮิงญาทำให้พวกเราเจ็บปวดและสะพรึงกลัว

พวกเรารู้ ว่าเธอเองก็รู้ว่ามนุษย์อาจจะเคารพและบูชาในสิ่งที่ต่างกัน แม้บางกลุ่มอาจมีอาวุธมากกว่าอีกฝ่าย แต่ไม่มีใครที่เหนือกว่าและด้อยกว่าใคร โดยเนื้อแท้แล้วพวกเราก็เป็นสมาชิกของครอบครัวแห่งมนุษย์เป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่มีความแตกต่างโดยธรรมชาติระหว่างชาวพุทธและมุสลิม และไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ฮินดู ชาวคริสต์หรือคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าก็กำเนิดเกิดมาเพื่อรักอย่างไม่มีอคติ การเลือกปฏิบัตินั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ มันเป็นสิ่งที่ถูกสอนสั่งมาต่างหาก

น้องสาวที่รัก ถ้าราคาค่างวดทางการเมืองที่ต้องจ่ายเพื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดของเมียนมาร์คือความเงียบงัน ราคานั้นก็ย่อมเป็นราคาที่สูงยิ่ง ประเทศที่ไม่มีสันติภาพในตัวเอง ล้มเหลวในการรับรู้และปกป้องเกียรติและคุณค่าของประชาชนทุกคนนั้นไม่นับว่าเป็นประเทศเสรี

การที่สัญลักษณ์แห่งความถูกต้องมาเป็นผู้นำประเทศเช่นนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากัน เรื่องนี้จึงยิ่งเพิ่มความเจ็บปวดให้กับพวกเรา

จากภาพความโหดร้ายที่ได้พบเห็น เราจึงภาวนาให้เธอจงกล้าหาญและกลับมาเป็นเช่นเดิมอีกครั้ง เราภาวนาให้เธอออกมาพูดเพื่อความยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน เราขอภาวนาให้เธอออกมาขัดขวางวิกฤตการณ์ที่กำลังทวีความรุนแรงและนำพาประชาชนกลับไปสู่เส้นทางแห่งความถูกต้อง

ขอพระเจ้าอวยพร

ด้วยรัก

สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู

ชิริน เอบาดี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ พ.ศ. 2547

 

เมื่อ 7 ก.ย. 2560 เว็บไซต์ดอยช์เวลล์ (DW) สื่อจากเยอรมนีรายงานว่า ชิริน เอบาดีได้วิพากษ์วิจารณ์อองซานซูจีระหว่างการสัมภาษณ์กับทาง DW ใจความว่า

“ฉันเคยสนับสนุนอองซานซูจีในช่วงที่เธอถูกคุมขังในบ้านในฐานะนักโทษทางการเมือง”

เอบาดีกล่าวถึงมุมมองผิดๆ ของคนที่มองอองซานซูจีว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

“เธอไม่เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แต่เป็นนักการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้งในปี 2533 แต่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาร์คุมขังไว้ ซูจีเลือกที่จะขัดขืนด้วยสันติวิธีจากภายในคุกแทนที่จะปลุกปั่นผู้สนับสนุน เป็นวิธีเดียวกันกับที่เมห์ดี คาร์โรบี และฮอสเซน โมซาวี สองผู้นำฝ่ายค้านชาวอิหร่านที่ถูกคุมขังในบ้านเป็นเวลา 6 ปีทำ”

“แต่เธอหันหลังให้ประชาธิปไตยเมื่อขึ้นสู่อำนาจ ประชาธิปไตยหมายถึงการที่ประชาชนทั่วประเทศมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน แต่จากสภาพความเป็นจริงที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากไม่ได้รับสัญชาติ ทั้งยังถูกโจมตีจากกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงและทหารพม่า”

เอบาดีให้ความเห็นต่อเสียงเรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลเพิกถอนรางวัลโนเบลสันติภาพ โดยระบุว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันและเป็นหน้าที่ของผู้ได้รับรางวัลที่จะคงไว้ซึ่งเกียรติแห่งรางวัลนั้น

“ซูจีได้รับรางวัล (โนเบลสาขาสันติภาพ) จากการใช้สันติวิธีต่อต้านขัดขืนต่อการปราบปราม เธอสมควรที่จะได้รับรางวัลแล้ว ส่วนหลังจากได้รับรางวัลแล้วเจ้าของรางวัลจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคณะกรรมการรางวัลโนเบล แต่ขึ้นอยู่กับเจ้าของรางวัลว่าจะให้เกียรติกับรางวัลนั้นหรือเปล่า ซึ่งอองซานซูจีทำไม่ได้”

ดาไลลามะที่ 14 เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พ.ศ. 2532

 

เมื่อ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ผู้สิ่อข่าวของ วอยซ์ออฟอเมริกา โต๊ะทิเบตได้รายงานเนื้อความของจดหมายจากดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถึงอองซานซูจี เพื่อร้องขอให้เธอและทางการพม่าหาทางแก้ไขปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมอีกครั้ง

“อาตมาขอเขียนจดหมายหาคุณอีกสักครั้งเพื่อแสดงความท้อแท้กับเหตุการณ์ที่น่ากังวลซึ่งดูแล้วจะย่ำแย่ลงอีก” โดยในเนื้อจดหมายได้ย้อนไปถึงการพูดคุยระหว่างทั้งสองคนเมื่อสองปีก่อน ที่ดาไลลามะขอให้อองซานซูจีใช้ “อิทธิพลเพื่อให้เกิดสันติภาพ” ในประเด็นชุมชนชาวมุสลิม

“เป็นเรื่องน่าผิดหวังที่เห็นว่าปัญหาดูจะแย่ลงและความรุนแรงได้เพิ่มขึ้น

ดาไลลามะยังได้เตือนให้เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวเมียนมาร์ผู้โด่งดังพร้อมกับเหล่าผู้นำในเมียนมาร์ว่าการไม่แก้ไขปัญหาอย่างสันติจะนำไปสู่ “การทำลายล้างและความไม่สงบต่อๆ ไป”

“อาตมาขอวิงวอนให้เธอและเหล่าผู้นำเข้าถึงทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนด้วยจิตวิญญาณแห่งสันติและปรองดอง”

“ในฐานะพุทธศาสนิกชนและผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้วยกัน อาตมาขอให้คุณและเพื่อนร่วมงานหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมอีกครั้ง”

มาลาลา ยูซัฟซัย เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ พ.ศ. 2557

 

มาลาลา ยูซัฟซัย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 17 ปีจากประเทศปากีสถานได้ทวีตแถลงการณ์ของเธอลงในทวิตเตอร์ของตัวเอง ดังนี้

ทุกครั้งที่ฉันเห็นข่าวความทุกข์ยากของชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมาร์แล้วฉันก็ใจสลาย ฉันจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

หยุดความรุนแรง วันนี้เราเห็นภาพเด็กเล็กถูกฆ่าโดยกองกำลังความมั่นคงเมียนมาร์ เด็กเหล่าไม่ได้ไปโจมตีใคร แต่ถึงกระนั้นบ้านของเด็กๆ ก็ถูกเผาทำลาย

 

 

ชาวโรฮิงญาควรได้รับสถานะพลเมืองในเมียนมาร์อันเป็นประเทศที่พวกเขาเกิดมา ถ้าเมียนมาร์ที่พวกเขาอยู่กันมาหลายชั่วอายุคนไม่ใช่บ้านของเขา แล้วที่ไหนเล่าจะเป็น

ประเทศอื่นรวมถึงปากีสถานซึ่งเป็นประเทศของฉันควรทำตามบังคลาเทศ เช่นการให้อาหาร ที่อยู่และการศึกษาให้กับครอบครัวชาวโรฮิงญาที่หลบหนีความรุนแรงและความกลัวมา

ช่วงหลายปีที่ผ่านมาฉันประณามการปฏิบัติกับชาวโรฮิงญาอย่างน่าอับอายและน่าสลดใจ ฉัน โลก และชาวมุสลิมโรฮิงญายังคงรอให้อองซานซูจี สหายร่วมรับรางวัลโนเบลเพื่อทำเช่นเดียวกัน

แปลและเรียบเรียงจาก

Deutsche Welle, 'Aung San Suu Kyi turned her back on democracy': Iranian Nobel laureate Shirin Ebadi, September 7, 2017

Voice of America,Dalai Lama Urges Aung San Suu Kyi to Resolve Rohingya Crisis, September 11, 2017

The Guardian, Desmond Tutu condemns Aung San Suu Kyi: 'Silence is too high a price', September 8, 2017

The Guardian, Malala tells Aung San Suu Kyi 'world is waiting' for her to act over Rohingya violence, September 4, 2017

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขปีที่ได้รับรางวัลที่สลับกันระหว่างชิริน เอบาดี และมาลาลา ยูซัฟซัย ในภาพประกอบให้ถูกต้อง โดยชิริน เอบาดี ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ พ.ศ. 2547 และมาลาลา ยูซัฟซัยได้รับรางวัลโนเบลเมื่อ พ.ศ. 2557 (แก้ไขเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2560 เวลา 13.09 น.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net