Skip to main content
sharethis

'เรืองไกร' ร้องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า หัวหน้า คสช. ไม่ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57/57  และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดขวาง พรรคการเมือง ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานไว้

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย

10 พ.ย.2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 พ.ย.60) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เดินทางมายื่นคำร้องใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ยกเลิกประกาศ คสช.ที่ 57 /2557  และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เข้าข่ายเป็นการกระทำขัดขวาง ไม่ให้พรรคการเมือง นักการเมือง ดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560  ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา 45 และเป็นการกระทำตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

เรืองไกร กล่าวว่า นับแต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีผลใช้บงคับเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2560 และมีการกำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แต่หัวหน้า คสช.กลับมีท่าทีที่จะยังไม่ต้องการให้มีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเหล่านั้นได้ และมีการให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า หากพรรคการเมืองดำเนินการไม่ทันตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะขยายเวลาให้ โดยได้พิจารณาแล้วว่าไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพทางการเมือง บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 โดยให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายนั้นก็คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่คุ้มครองให้พรรคต้องทำกิจกรรมตามห้วงเวลาตามที่กฎหมายกำหนด แต่หัวหน้า คสช. หรือท่านนายกฯ กลับมาบอกว่าตรงนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ ทำให้ต้องมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระทำต้องห้าม ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องมาร้องต่อศาล เพราะผมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถือเป็นผู้ที่รับผลกระทบโดยตรง เพราะการที่ไม่ปลดล็อก ถือว่าขัดต่อเสรีภาพของบุคคล จึงขอให้ศาลวินิจฉัยแล้วสั่งให้หัวหน้า คสช. หรือนายกรัฐมนตรี หยุดและเลิกกระทำนั้นเสีย แล้วให้พรรคการเมือง หรือคนที่ประสงค์จะตั้งพรรคการเมืองได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด” เรืองไกร กล่าว

เรืองไกร กล่าวด้วยว่า การที่หัวหน้า คสช. อ้างว่า ประกาศ คสช.ที่ 57 /2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ได้นั้น ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 3 กำหนดไว้อยู่แล้วว่า หากกฎหมายนั้นมีผลบังคับใช้ กฎหมายอื่นใดที่ขัดหรือแย้งก็ให้สิ้นสภาพไป ดังนั้นจะต้องถือว่าทั้ง 2 คำสั่ง คือ คำสั่งที่ 57 ที่ออกโดย พ.ร.ป.พรรคการเมืองปี 2550 และคำสั่งที่ 3 เป็นคำสั่งที่ห้ามเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมาตรา 3 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง บัญญัติว่ากฎหมายใดที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้ให้สิ้นสภาพไป ดังนั้นคำสั่งที่ 57 ก็ไม่สามารถที่จะมาบังคับใช้ได้อีก ขณะเดียวกันคำสั่งที่ 3 ก็ไม่น่าจะมาใช้ได้ เพราะคำสั่งที่เป็นเรื่องการชุมนุม ไม่เกี่ยวกับการประชุมพรรคการเมือง อีกทั้งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ที่ 12/52 ที่เคยวินิจฉัยเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไว้ว่าในการประกอบกิจการที่ประกาศคณะปฎิวัติห้ามไว้ หากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ก็ให้ประกาศนั้นสิ้นสภาพไป

รายงานระบุด้วยว่า สำหรับคำวินิจฉัยที่ เรืองไกรอ้าง เป็นกรณีที่ผู้ประกอบกิจการร้านข้าวต้ม  ไอ-เฮีย ถูกจับกุม ฐานขายอาหารและเครื่องดื่มในเวลาห้าม ขัดประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 252 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2515  ซึ่งผู้ประกอบกิจการได้ร้องต่อศาลยุติธรรม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศฉบับดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 29  และ 43  ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้หรือไม่

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ คสช. ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 โดยระบุว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการจัดทำนโยบายพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนและสมาชิกพรรคด้วย พรรคการเมืองคงจะต้องลงไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจึงอาจเป็นช่องทางหรือข้ออ้างให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกดังเช่นได้มีข้ออ้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทำให้สังคมมองได้ว่า คสช.เล่นการเมืองและเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ หรือเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ คสช.หนุนหลังมีความพร้อมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เรื่อง ขอให้ คสช. ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557

ตามที่ได้มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาพรรคการเมือง และนักวิชาการบางส่วนให้ คสช. ปลดล็อค หรือยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ภายหลังที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้ประกาศใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งเดิมหัวหน้า คสช.ได้ระบุว่าจะพิจารณาหลังเสร็จงานพระราชพิธีแล้ว แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม และวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คสช. ได้ให้เหตุผลใหม่ที่ยังไม่ยกเลิกข้อห้ามพรรคการเมืองว่า บ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย โดยมีบางฝ่ายยังโจมตีกันและบิดเบือนอยู่ กฎหมายลูกอีกสองฉบับยังไม่เรียบร้อย การสรรหา กกต. 7 คนยังไม่เสร็จสิ้น และอ้างว่า คสช. อาจใช้มาตรการพิเศษและมาตรการอื่นๆ ทางกฎหมายคลี่คลายปัญหาอุปสรรคที่จะมีขึ้นกับพรรคการเมืองในอนาคตได้

พรรคเพื่อไทยพิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่พรรคการเมืองรวมถึงนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศ คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองจัดการประชุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น มิได้เป็นการขออะไรจาก คสช. เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่เป็นการขอให้ คสช. ขจัดอุปสรรคเพื่อให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น จึงเป็นการเรียกร้องให้ คสช. และหัวหน้า คสช.ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมืองนั่นเอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 45 บัญญัติให้บุคคลมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ บัดนี้เมื่อมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้ กำหนดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และบังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ ให้ดำเนินการหลายประการโดยมิได้มีข้อยกเว้นใดๆ ไว้ จึงเป็นหน้าที่ของ คสช. และหัวหน้า คสช.ที่จะต้องปฏิบัติให้ทุกอย่างดำเนินการไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง

ข้อสำคัญคือ สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัตินั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเรื่องการจัดทำข้อบังคับ การตรวจสอบสมาชิก การจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หากทำไม่ครบถ้วนก็อาจไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ เรื่องสำคัญคือในการจัดทำนโยบายพรรคนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ และต้องรับฟังเสียงของประชาชนและสมาชิกพรรคด้วย พรรคการเมืองคงจะต้องลงไปยังพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นมาประกอบการจัดทำนโยบาย การดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลา การที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองจึงอาจเป็นช่องทางหรือข้ออ้างให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกดังเช่นได้มีข้ออ้างมาแล้วหลายครั้งหลายหน ทำให้สังคมมองได้ว่า คสช.เล่นการเมืองและเอาเปรียบทางการเมือง เพื่อเปิดช่องให้หัวหน้า คสช.ปูทางไปสู่การเป็นนายกฯ คนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ หรือเปิดทางให้พรรคการเมืองที่ คสช.หนุนหลังมีความพร้อมในการเลือกตั้งให้มากที่สุด เมื่อได้พิจารณาเหตุผลข้ออ้างของ คสช.ที่ได้แถลงเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนตามที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น ถือเป็นข้ออ้างที่ไร้เหตุผลและไม่เกี่ยวข้องหรือมีน้ำหนักให้ คสช. ต้องคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองในการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพราะการรักษาความสงบเรียบร้อยมีกฎหมายให้อำนาจ คสช. และรัฐบาลในการดำเนินการอยู่แล้ว ที่ผ่านมา คสช.ก็ใช้อำนาจนี้อย่างเต็มที่มาโดยตลอด จึงไม่ควรนำเรื่องที่พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามกฎหมาย กับข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยมาปะปนกัน ส่วนกฎหมายลูกอีกสองฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็เป็นคนละเรื่องกับกฎหมายพรรคการเมืองที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติ สำหรับข้ออ้างเรื่องการสรรหา กกต. ชุดใหม่ด้วยแล้วก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบัน กกต. ชุดเดิมก็ทำหน้าที่อยู่ ทั้งยังได้ยกร่างระเบียบต่างๆ ไว้จนจะครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว จากการแถลงของ คสช.ว่าอาจใช้มาตรการเสริม ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้ในอนาคต แสดงให้เห็นว่า คสช.เองก็เล็งเห็นได้ว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้จากการไม่ยินยอมอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเห็นว่าข้ออ้างของ คสช.ทั้งหลายนั้น เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน และต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไป เพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเห็นว่าในขณะนี้บ้านเมืองมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง จึงไม่ควรที่ คสช. จะยกข้ออ้างต่างๆ เพื่อหวังอยู่ในอำนาจให้ยาวนานต่อไป การเร่งรัดรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว จึงเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า คสช.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้พรรคการเมืองได้ทำเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายบังคับ ให้ต้องทำ  คสช.ได้เรียกร้องมาโดยตลอดให้ทุกคนเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย จึงควรที่ คสช.จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย มิฉะนั้นแล้วอาจมองได้ว่า คสช.ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสียเอง 

จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

พรรคเพื่อไทย

8 พฤศจิกายน 2560

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net