Skip to main content
sharethis
อดีตเสนาธิการกองทัพเซิร์บบอสเนีย รัตโก มลาดิช ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และโทษฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จากเหตุการณ์สังหารหมู่ กวาดต้อนจับกุมผู้คนและไล่ผู้คนออกจากพื้นที่ในช่วงปี 2535-2538 รวมถึงมีเหตุการณ์จับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติเป็นตัวประกันด้วย
 
25 พ.ย. 2560 ในการพิจารณาขั้นสุดท้าย ศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาคดีอดีตผู้นำยูโกสลาเวีย (ICTY) ตัดสินให้ รัตโก มลาดิช อดีตเสนาธิการกองทัพเซิร์บบอสเนีย มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและละเมิดกฎหมายสงครามหรือธรรมเนียมสงคราม จากอาชญากรรมที่เขาและกองกำลังเชิร์บก่อไว้ในช่วงยุคสงครามบอสเนียระหว่างปี 2535-2538 ทำให้เขาถูกลงโทษด้วยการจำคุกตลอดชีวิต
 
มลาดิช ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในโทษฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงการใช้กำลังปราบปราม กำจัด สังหาร และปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในการบังคับย้ายถิ่นฐานประชาชนในพื้นที่สเรเบรนีตซาในปี 2538 และการกระทำโหดร้ายอื่นๆ เช่นการสังหาร ก่อการร้ายต่อพลเรือนในซาราเยโว รวมถึงมีการจับเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นตัวประกัน
 
ก่อนหน้านี้ มลาดิชเคยถูกตัดสินให้พ้นจากความผิดในกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายพื้นที่ของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาช่วงปี 2535 อย่างไรก็ตาม ในการตัดสินครั้งล่าสุดศาล ICTY ระบุว่ามลาดิชเคยเข้าร่วมหรือให้การสนับสนุนกลุ่มร่วมมือก่ออาชญากรรมใน 4 พื้นที่ กลุ่มเหล่านี้มีอยู่ในช่วงยุคก่อนสงครามบอสเนียจนถึงสิ้นสุดสงคราม เป็นกลุ่มที่พยายามกวาดล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิม ชาวโครแอต ออกจากพื้นที่ที่ชาวเซิร์บอ้างว่าเป็นของตน
 
ผู้พิพากษากล่าวว่ากองกำลังชาวเซิร์บสังหารชาวมุสลิมและชาวโครแอตของบอสเนียจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่บังคับย้ายถิ่นฐานจากบ้านตัวเอง ผู้พิพากษา อัลฟอนส์ ออร์รี กล่าวว่าเป็นสภาพการณ์ที่โหดร้าย คนที่พยายามปกป้องบ้านตัวเองถูกใช้ความรุนแรงอย่างไร้ปราณี มีการสังหารหมู่ บางคนถูกทุบตี ผู้ก่อเหตุหลายคนที่จับตัวชาวมุสลิมไว้แสดงออกให้เห็นว่าไม่ได้เคารพในศักดิ์ศรีหรือชีวิตของมนุษย์เลย
 
อาชญากรรมที่ทหารระดับสูงผู้นี้เคยก่อไว้ยังรวมไปถึงการจับกุมคุมขังผู้คนไว้ในเรือนจำ ซึ่งมักจะอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ป่าเถื่อน ผู้ต้องขังมักจะถูกทารุณกรรม ทุบตีทำร้าย ข่มขืน รวมถึงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หลังจากนั้นจึงถูกส่งตัวออกนอกเขตปกครอง
 
โดยที่มลาดิชเป็นตัวการใหญ่ของการก่อเหตุเหล่านี้ทั้งหมด ในแง่ของการสร้างเป้าหมายให้มีการขจัดคนเชื้อชาติอื่นออกจากพื้นที่บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา รวมถึงเกื้อหนุนกลุ่มอาชญากรในการก่อการร้ายอย่างการใช้สไนเปอร์และยิงอาวุธระเบิดเพื่อสร้างความหวาดผวาแก่ประชาชนในซาราเยโว ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเรือนหมื่น ประชาชนเต็มไปด้วยความเดือดร้อนกลัวว่าคนที่พวกเขารักจะถูกยิงด้วยสไนเปอร์หรือถูกระเบิด นั่นทำให้มลาดิชถูกตัดสินให้มีความผิดฐานก่อการร้าย โจมตีพลเรือนอย่างผิดกฎหมาย และฆาตกรรม
 
นอกจากนี้มลาดิชยังเคยก่อตั้งกลุ่มอาชญากรที่เอาไว้จับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นเป็นตัวประกันโดยเฉพาะเพื่อบีบเค้นให้นาโตหยุดการโจมตีทางอากาศต่อพื้นที่ของกลุ่มบอสเนียเซิร์บ ซึ่งเขาถูกตัดสินให้มีความผิดฐานจับคนเป็นตัวประกันด้วย
 
ในกรณีสังหารหมู่ปี 2538 ศาลระบุว่ามลาดิชเข้าร่วมในการกวาดล้างกลุ่มชาวบอสเนียมุสลิม มีการบังคับไล่ที่เด็ก ผู้หญิง และคนชรา ชาวบอสเนียมุสลิมออกจากพื้นที่และมีการจับตัวชายชาวบอสเนียมุสลิมจากฐานทัพของยูเอ็นไปคุมขังชั่วคราว ก่อนจะนำขึ้นรถโดยสารไปพร้อมกับกลุ่มคนที่พยายามหลบหนีเพื่อไปสังหารตามที่ต่างๆ ในกรณีนี้ทำให้มลาดิชถูกตัดสินให้มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ล่าสังหาร ฆาตกรรม ทำลายล้าง และบังคับให้ออกจากพื้นที่โดยไร้มนุษยธรรม
 
กลุ่มที่ถูกตัดสินคดีในครั้งนี้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน โดยถ้าหากมีการรับอุทธรณ์จะมีการพิจารณาคดีอีกครั้งในชั้นศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อกลไกตกค้าง (International Residual Mechanism for Criminal Tribunals หรือ MICT) 
 
ถึงแม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นตั้งแต่ราว 25 ปีที่แล้วแต่ก็เพิ่งมีการดำเนินคดีเมื่อปี 2555 มีการไต่สวนพยาน 592 ปาก และสืบหลักฐานเกือบ 10,000 ชั้น มีการไต่สวนคดีรวมเวลา 530 วัน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงราว 2,000 ชิ้น และมีการพิสูจน์โต้แย้งในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อปลายปี 2559
 
นังตั้งแต่มีการก่อตั้ง ICTY ศาลนี้สั่งตัดสินผู้คนที่ละเมิดกฎมนุษยธรรมไปแล้ว 161 ราย จากความขัดแย้งในพื้นที่ยูโกสลาเวียช่วงปี 2534 ถึง 2544 มีการสรุปคดีไปแล้ว 155 คดี และมีที่อยู่ระหว่างกระบวนการ 6 คดี
 
 
เรียบเรียงจาก
 
ICTY convicts Ratko Mladić for genocide, war crimes and crimes against humanity, UN ICTY, 22-11-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net