Skip to main content
sharethis

วงเสวนามนุษย์ซูเปอร์(มาร์เก็ต) เผยปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนปัญหา 3,362 เรื่อง ระบุปัญหาที่พบบ่อยในห้างสรรพสินค้าคือ การขายของหมดอายุ ราคาไม่ตรงป้าย อาหารมีสารพิษตกค้าง ระบุ มี.ค. นี้ เตรียมเปิดผลประเมินความโปร่งใส และความรับผิดชอบบริษัทค้าปลีก

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ร่วมกับองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “มนุษย์ซูเปอร์ (มาร์เก็ต)” ที่ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ รีดเดอร์ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยมีวิทยากรประกอบด้วย สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา food4change, ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ way magazine และจักรชัย โฉมทองดี ​​องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย

จักรชัย โฉมทองดี อธิบายว่า ในรอบเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้มูลค่าโมเดิร์นเทรด อยู่ที่ 1.8 ล้านล้าน สร้างมูลค่าจีดีพีเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ถือว่าเป็นภาคธุรกิจที่เชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งการผลิต บริการ และระบบเศรษฐกิจ จากการสำรวจพบว่าคนเมืองส่วนใหญ่เข้าร้านสะดวกซื้อทุกวัน ทำให้เรากลับมาให้ความสำคัญในมุมของผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดจนต้องการกระตุ้นผู้บริโภคและภาคเอกชนให้ตื่นตัวในการส่งเสริมห่วงโซ่อาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนผ่านนโยบายของบริษัทที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงได้เริ่มนำกรอบการประเมินความโปร่งใสและความรับผิดชอบของบริษัทค้าปลีกไทย โดยใช้เครื่องมือ food retailers accountability assessment tool ซึ่งเป็นเครื่องมือที่รู้จักและถูกใช้ในหลายประเทศทั่วโลก ครอบคลุม 4 มิติสำคัญคือ ด้านความโปร่งใส ความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสาธารณะ การเคารพสิทธิแรงงาน การส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย และการสนับสนุนบทบาทสิทธิสตรี

จักรชัย ระบุด้วยว่า หากการประเมินเสร็จสิ้นจะเผยแพร่สู่สาธารณะในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้ผู้ผลิต คู้ค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคได้รับรู้ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของบริษัทค้าปลีกด้านอาหารชั้นนำของไทยในการเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ตลอดจนให้ความสำคัญต่อความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

ด้านสารี อ๋องสมหวัง ให้ข้อมูลว่า ในปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค 3,362 เรื่องทั่วประเทศ เรื่องที่พบบ่อยที่สุดคือ อาหารหมดอายุ ความสะอาด นอกจากนั้นยังมีเรื่องราคาสินค้าไม่ตรงกับป้าย การโฆษณาคุณภาพสินค้ามากเกินความจริง โดยสิ่งที่หลายคนคาดหวังคือการตอบสนองต่อการร้องเรียนที่เป็นมิตร และมีลักษณะที่เป็นการทำงานเชิงรุก เช่น เรื่องราคาสินค้าไม่ตรงกับป้าย จะทำอย่างไรให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนต่อทุกห้างสรรพสินค้า เช่น สามารถแก้ไขปัญหาได้ที่หน้าเคาน์เตอร์ชำระสินค้าได้ทันที รวมถึงความรับผิดชอบต่อกรณีสินค้าหมดอายุ ควรเป็นทั้งตลอดห่วงโซ่การผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ระบุว่า หากดูตัวเลขจำนวนโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ มีจำนวน 20,000 แห่ง แต่มีผู้ถือครองแค่ 3-4 ราย มีรายได้มหาศาล ดังนั้นควรมีรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่านี้ ส่วนผู้ประกอบการ ร้านอาหารมี 800,000 ราย ยังไม่รวมถึงร้านอาหารริมถนน

กิ่งกร กล่าวต่อไปถึง อาหารในห้างสรรพสินค้าว่า ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ห้างสรรพสินค้ารวบรวมจัดหามาเอง ในกรณีที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น เช่นเคยมีการตรวจพบสารพิษตกค้างในอาหาร ได้แจ้งห้างสรรพสินค้านั้น แต่กลับพบว่าแต่ละห้างสรรพสินค้าให้ความสำคัญกับปัญหามากน้อยไม่เท่ากัน บางส่วนตอบสนองดี พร้อมแก้ไขปัญหา บางส่วนค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไข และบางส่วนไม่มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาเลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่กังวลใจสำหรับผู้บริโภค

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ กล่าวว่า ส่วนตัวในฐานะผู้บริโภค จะเข้าห้างสรรพสินค้าสัปดาห์ 3-4 ครั้ง ก็พยายามหาคำตอบว่าทำไมตัวเองกลายเป็นมนุษย์ซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า เพราะเราเป็นสมาชิกบัตรต่างๆ และระบบไปผูกกับการทำธุรกิจของห้าง เช่น สมาชิกสามารถซื้อสินค้าลดราคา ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ตัวเองเข้าห้างบ่อย

ทิพย์พิมล เห็นว่าคนในเมืองจะมองห้างสรรพสินค้าเป็นตู้เย็น หากของในบ้านหมดจะต้องเข้าห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้สำหรับตัวเองก่อนจะตัดสินใจซื้อของจะเช็คตลอดว่า ลดราคาจริงไหม มีส่วนลดจริงหรือไม่ ส่วนปัญหาที่ราคาไม่ตรงกับป้าย ตัวเองจะไปแจ้งที่หน้าเคาน์เตอร์ทันทีเพื่อขอคืนเงิน ส่วนปัญหาอื่นๆ เคยเจอนมหมดอายุและตัดสินใจไม่ซื้อยี่ห้อของสินค้านั้นไปเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net