Skip to main content
sharethis

คาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล เผยผลสำรวจแรงงาน  386 คน พบ 58.3% ทำงานงานเพาะปลูก เก็บผักผลไม้ สวนดอกไม้ ฯลฯ 33.7% ทำงานที่ต้องสัมผัสสารเคมีทั้งพ่นยาฆ่าแมลง-ยาฆ่าหญ้า

ที่มาภาพประกอบ: GREENCROSS FOUNDATION

เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา องค์กรคาฟลาโอเวด (Kavlaoved Agriculture) ได้ทำการสำรวจสถิติประเภทการทำงานของแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลผ่านแบบสอบถามออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 386 คน ผลสรุปจากแบบสอบถามพบว่า ร้อยละ 56.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามทำงานประเภทเดียว ร้อยละ 32.9  ทำงานมากกว่า 1 ประเภท และร้อยละ 10.9 ทำงานมากกว่า 2 ประเภท

ในจำนวนแรงงานที่ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 58.3 ทำงานงานเพาะปลูกในพื้นที่ราบ (เก็บผักผลไม้ สวนดอกไม้ เป็นต้น) ร้อยละ 33.7 ทำงานที่ต้องสัมผัสสารเคมี (พ่นยาฆ่าแมลง พ่นยาฆ่าหญ้า เป็นต้น) ร้อยละ 19.4 ทำงานในที่สูง (งานที่ต้องใช้บันไดหรือรถยก) ร้อยละ 14.5 ทำงานปศุสัตว์และฟาร์มปลา ร้อยละ 11.1 ทำงานสร้างโรงเรือนเพาะปลูก ร้อยละ 8.8 ทำงานบรรจุผลิตภัณฑ์ในโรงงาน และร้อยละ 1.6 ทำงานประเภทอื่นๆ เช่น ร้านอาหาร ทำความสะอาด เป็นต้น (อนึ่งในแบบสอบถาม ผู้ตอบแบบสอบถามสามารถตอบได้มากกว่าหนึ่งข้อ ผลรวมสถิติของประเภทงานข้างต้นนั้นจึงมากกว่าร้อยละ 100)

ก่อนหน้านี้ในรายงาน 'สัญญาเถื่อนการปฏิบัติมิชอบต่อแรงงานไทยในภาคเกษตรของอิสราเอล' ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอตซ์ (Human Rights Watch) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่าแรงงานในฟาร์มหลายแห่งระบุถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ ปัญหาระบบทางเดินหายใจและอาการแสบตา ซึ่งแรงงานเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดยาฆ่าแมลงโดยขาดอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม แรงงานบางส่วนระบุว่ามีญาติในไทยส่งยามาให้พวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่นี่ได้

อนึ่งองค์กรคาฟลาโอเวด เคยให้คำแนะนำแก่แรงงานไทยในอิสราเอลว่าในการพ่นยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ ต้องสวมหน้ากากและถุงมือ ใส่เสื้อผ้าที่ปิดร่างกายให้มิดชิด เมื่อพ่นสารเคมีเสร็จแล้วควรรีบอาบน้ำชำระล้างร่างกายฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้ในการปฏิบัติงานควรซักให้สะอาดด้วยทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มทำงานในการพ่นสารเคมีตามกฎหมายนายจ้างจะต้องให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ และนายจ้างจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันให้แรงงานในการพ่นสารเคมี และหากมีอาการผิดปกติให้แรงงานรีบแจ้งนายจ้างเพื่อให้พาไปพบแพทย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net