Skip to main content
sharethis

ภายหลังจากที่ แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์คัดค้านโทษประหาร นายกฯ ยันจำเป็นเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ ส่วนรองนายกฯ โยนกระทรวงต่างประเทศชี้แจงโลก ด้านคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย แถลงผิดหวังไทยขุดโทษประหารมาใช้

19 มิ.ย. 61 ภายหลังจากที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ออกถลงการณ์คัดค้านโทษประหารชีวิตของไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า โทษประหารชีวิต เป็นโทษที่ยังมีอยู่ในกฎหมายของประเทศไทย โดยอ้างด้วยว่า “ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ตอนที่มีการพิจารณาว่าจะยกเลิกโทษประหารหรือไม่นั้น ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า เห็นควรให้มีอยู่ เป็นไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม โดยปัจจุบันมีคดีร้ายแรงหลายคดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุขและเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ เป็นเรื่องความจำเป็นของเราและความต้องการของประชาชน”

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามทำตามข้อตกลงของสหประชาชาติที่จะไม่ใช้โทษประหารชีวิต แต่อย่างน้อยโทษประหารนั้นก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีอยู่ในกฎหมายไทย และคดีที่ตัดสินโทษประหารล่าสุดนั้น ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต่างยืนตามกันว่า จะต้องมีโทษประหาร เพราะเป็นคดีอุกฉกรรจ์สั่นสะเทือนมาก จึงมีเหตุผลพอสมควร อย่างไรก็ตามเมื่อองค์กรระหว่างประเทศไม่เข้าใจ กระทรวงการต่างประเทศก็จะต้องชี้แจงให้เข้าใจ

ภาพประกอบ : ภาพรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล 

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้บังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) นักโทษเด็ดขาดชาย อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย ใช้มีดแทงผู้ตาย รวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตายเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2555 ที่จังหวัดตรัง ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

วันเดียวกัน โฆษกของผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีเนื้อหาว่า

ในวันที่ 18 มิถุนายน 2561 นายธีรศักดิ์ หลงจิ ได้ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษในประเทศไทย

ในปีหน้านี้ก็จะครบรอบ 1 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อร่วมกับประเทศอื่นๆที่พักการใช้โทษประหารชีวิตอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหภาพยุโรปได้คาดหวังไว้ ผ่านการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย แต่กรณีการประหารชีวิตนายธีรศักด์ แสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังอย่างชัดเจน

สหภาพยุโรปต่อต้านโทษประหารชีวิตไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดๆ    และมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก  เนื่องจากการประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม  ซึ่งไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งการกระทำผิด และยังเป็นการปฏิเสธศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้
 
สหภาพยุโรปขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยงดเว้นการประหารชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดำเนินการเพื่อพักการใช้โทษประหารและยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด

 

 

ที่มา:  เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net