Skip to main content
sharethis

จากกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 กรรมการสิทธิฯ เสนอออก กม.ห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรครอบคลุมทุกกรณี เผยใน 4 จังหวัดภาคใต้กฎหมายมุสลิมไม่ได้ระบุเรื่องอายุที่สามารถแต่งงานได้ หรือบางกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือยังมีพิธีฉุดเด็กสาว ระบุการแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ชี้ผิด พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก

วันนี้ (5 ก.ค. 61) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีข่าวชายสัญชาติมาเลเซียอายุ 41 ปี เดินทางมาเพื่อแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ในช่วงเทศกาลฮีรายอที่ผ่านมา โดยระบุว่าการแต่งงานก่อนวัยอันควร เป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ซึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน พร้อมเสนอให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี

อังคณา นีละไพจิตร. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้เรื่องห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรจะมีระบุไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กแล้ว แต่อาจจะมีกรณีที่ขอต่อศาลได้ หรือกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เช่น กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือก็ยังมีประเพณีฉุดเด็กผู้หญิง หรือกรณีเป็นเด็กมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มีกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกซึ่งในรายละเอียดไม่ได้ระบุอายุที่สามารถแต่งงานไว้ ทำให้มีผู้นำศาสนาที่อนุญาตให้เด็กอายุน้อยแต่งงานได้ สิ่งที่กังวลมากคือการแสวงประโยชน์จากเด็ก เช่น กรณีที่เด็กอายุน้อยมากอายุ 11-12 ปี อยู่ในครอบครัวยากจนและพ่อแม่ให้แต่งงานเพื่อแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดู ขณะที่มาเลเซียใช้กฎหมายอิสลามแต่ก็ระบุไว้ในกฎหมายว่าห้ามแต่งงานก่อนอายุ 16 ปี และกำลังจะขยายเป็น 18 ปี  ดังนั้นรัฐไทยควรจะควรจะพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเด็กและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นให้การศึกษาแก่เด็ก และมีกลไกที่จะคุ้มครองเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กชาติพันธุ์ใด

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ แพร่สะพัดไปทั่วอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในไทยและมาเลเซียมาตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา และวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา วัน อาซิซะห์ วัน อิสมาอิล ภรรยาอันวาร์ อิบราฮิม ที่ปัจจุบันเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลมาเลเซียแถลงว่าการแต่งงานระหว่างชายชาวกลันตันอายุ 41 ปี กับเด็กอายุ 11 ปี ที่ไปทำพิธีที่สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและควรจะมีการแยกทั้ง 2 คนออกจากกัน

รองนายกฯ มาเลเซียประณามกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 ชี้ ผิด กม.อิสลาม

 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กรณีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อมวลชนกรณีชายสัญชาติมาเลเซีย อายุ 41 ปี เดินทางมายังอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เพื่อแต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ในช่วงเทศกาลฮารีรายอที่ผ่านมา นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการแต่งงานกรณีดังกล่าว นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความห่วงใยและกังวลต่อเหตุการณ์การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร หรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากการจัดให้เด็กผู้หญิงแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นการตัดอนาคตของเด็กผู้หญิงในการได้รับการศึกษา ตลอดจนเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาความพร้อมด้านต่าง ๆ สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ที่บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน ซึ่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) วินิจฉัยแล้วว่า การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นการกระทำก่ออันตรายให้แก่เด็ก และมีข้อเสนอแนะให้รัฐภาคีทั้งสองอนุสัญญาออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร รวมทั้งในการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review) ครั้งล่าสุด คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี

กสม. จึงขอให้บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำข้อห่วงกังวลดังกล่าวของ กสม.ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการเพื่อมิให้มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร และเห็นว่า ควรดำเนินการอนุวัติกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งสังคมโลกมีเป้าหมายร่วมกันประการหนึ่งว่า จะต้องไม่มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรภายในปี 2573

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
5 กรกฎาคม 2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net