Skip to main content
sharethis

เมื่อพรรคฝ่ายค้านเสียงแตกเรื่องแก้ รธน. จุดร่วมคือการตั้ง สสร. แต่ปิดสวิตช์ ส.ว. หรือไม่ยังเป็นข้อถกเถียง ประชาไทรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว. 'ประยุทธ์' ไม่ขัดข้องแก้ รธน. ย้ำเป็นนโยบายเร่งด่วน ด้าน 'คำนูน' ส.ว. กังวลท่าทีก้าวไกล เตรียมล่า 5 หมื่นรายชื่อ

ท่ามกลางกระแสการถกเถียงในสังคมและพรรคการเมืองเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทยและก้าวไกลมีวิธีการที่ต่างกัน ขณะที่มติพรรคเพื่อไทยให้แก้มาตรา 256 เปิดทางให้มีการตั้ง สสร. ให้ตัวแทนประชาชนมาแก้ โดยระบุว่าไม่ต้องการคิดแทนประชาชน แต่พรรคก้าวไกลกลับเตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นฉบับของตัวเองพุ่งเป้าไปที่มาตรการปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน ที่เป็นหัวใจของการสืบทอดอำนาจ ทำให้การเดินหมากตาต่อไปของพรรคร่วมฝ่ายค้านยังไม่แน่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด

ไอลอว์ได้รวบรวมข้อเสนอของแต่ละฝ่ายไว้ดังนี้

พรรคฝ่ายค้านเสนอ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทยได้วางหลักการใหญ่ในการแก้ไขไว้อย่างน้อย 2 ประเด็น คือ

1.ให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นมาตราที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญ

2.เพิ่มหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง

ในประเด็นแรก การแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยกเลิกเงื่อนไขพิเศษตามรัฐธรรมนูญ เช่น การกำหนดว่าเสียงเห็นชอบของรัฐสภาต้องใช้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ การกำหนดให้ต้องมีการจัดทำประชามติในบางประเด็นที่มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 

ร่างพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาศัยเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในสองสภา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ง่ายขึ้นกว่าช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยใช้ระบบเลือกตั้งคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในปี 2543 กล่าวคือ ใช้ระบบเลือกตั้งแบบ "หนึ่งเขตหลายคน" กล่าวคือ ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งแล้วเอาจำนวนราษฎรมาคำนวณจำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัด โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเลือกผู้แทนได้คนเดียว แล้วเอาผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจำนวน สสร. ที่มีในเขตนั้น

'ก้าวหน้า-ก้าวไกล' เสนอ ปิดสวิตช์ ส.ว.-ล้างมรดกบาปคสช.

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล นำโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า มีข้อเสนอหลัก 3 ส่วน ได้แก่

1. ยกเลิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล 250 คน เช่น อำนาจในการเห็นชอบนายกฯ อำนาจในการแทรกแซงสภาผู้แทนฯ ในการตรากฎหมาย

2.ยกเลิกการรับรองให้ประกาศ คำสั่ง คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล ซึ่งส่งผลต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจคณะรัฐประหารได้รับการยกเว้น

3.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปเป็นเสียงกึ่งหนึ่งของสองสภา และกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 

ประชาชนเสนอรื้อกลไกสืบทอดอำนาจ-สร้างช่องทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่นำเสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ วางหลักการไว้ว่ามีประเด็นที่ต้องยกเลิกอย่างน้อย 5 ประเด็น และมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างน้อย 5 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่เสนอให้ยกเลิก ได้แก่ การยกเลิกช่องทางในการได้มาซึ่ง "นายกฯ คนนอก" หรือ นายกฯ ที่ขาดความยึดโยงกับพรรคการเมืองและรัฐสภา การยกเลิกบรรดากลไกของแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศที่ใช้ควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงให้ยกเลิกการรับรองอำนาจและการละเว้นความรับผิดของ คสช.

ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้แก้ไข คือ การเปลี่ยนเรื่องที่มาของนายกฯ ว่าต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น, เปลี่ยนที่มา ส.ว.จาก คสช. เป็น ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน, "รีเซ็ต" องค์กรอิสระเพื่อให้มีการสรรหาใหม่, เปลี่ยนวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้นโดยอาศัยเพียงเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาร่วมกัน

นอกจากนี้ในส่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้มี สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน กล่าวคือ ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสมัครแบบคนเดียวหรือแบบกลุ่มก็ได้ แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกได้เพียงกลุ่มเดียวเบอร์เดียว จากนั้นเอาคะแนนที่ประชาชนเลือกมาคำนวณที่นั่ง สสร. ซึ่งระบบดังกล่าวจะคล้ายกับการเลือกตั้งแบบระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์

ประชาไทรวบรวมความคิดเห็นของเหล่านักการเมืองต่อประเด็นดังกล่าว

 

'จาตุรนต์' เสนอแก้ให้มี สสร. และตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ออก

จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์เฟสบุ๊คแฟนเพจระบุว่า

"ผมเคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญไว้ว่าควรแก้เป็น 2 ส่วนพร้อมกันคือ 1. แก้มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญ 2. แก้บทเเฉพาะกาลตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกฯออกไป

ต่อข้อถกเถียงที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ผมขอให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าในเรื่องอำนาจของวุฒิสภานั้น ขั้นต่ำสุดต้องตัดอำนาจในการเลือกนายกฯออกไป เพราะกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปี หากนายกฯต้องการชิงความได้เปรียบหรือมีอุบัติเหตุทางการเมืองจนต้องยุบสภา การที่วุฒิสภายังมีอำนาจเลือกนายกฯก็จะทำให้วิกฤตยังคงอยู่ต่อไปหรืออาจรุนแรงยิ่งขึ้น

สำหรับการจะแก้ให้ สว. ปัจจุบันหมดหน้าที่ไป หากผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวนี้จะเสนอเรื่องนี้ด้วย ก็เป็นการยืนยันหลักการว่าสว.จะต้องไม่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารอย่างที่เป็นอยู่ การเสนอเช่นนี้จะมีผลอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับรัฐสภาและการตัดสินของประชาชนในการลงประชามติ"

'ปิยบุตร' ระบุ ส.ส. ต้องดันให้การแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก ส.ว. 250 คนเข้าสู่การพิจารณา 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าโพสต์เฟสบุ๊คแฟนเพจระบุว่า

"ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญกลับมาได้ เพราะการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในรอบเดือนที่ผ่านมา ทุกคนต่างทราบดีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่ ส.ว. และ ส.ว. จะยอมหรือไม่ อยู่ที่แรงกดดันที่ส่งสัญญาณไปถึง “เจ้าของ ส.ว.”

สถานการณ์ปัจจุบันการชุมนุมได้รับการสนับสนุน มีความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสจุดติดจนถึงขนาดที่ว่า เดิม ส.ว. ซึ่งไม่มีทางยอมแก้เรื่องที่ตนเองเสียประโยชน์ แต่ตอนนี้มี ส.ว. บางคนออกมาบอกว่ายอมให้แก้เรื่อง ส.ว. อย่างน้อยก็ยอมให้เลิกมาตรา 272 อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี

วุฒิสภา 250 คน คือ จุดด่างดำที่สุดของรัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีทางที่ฝ่ายสนับสนุนจะหาเหตุผลมาอธิบายการมีอยู่ของ ส.ว. 250 คนได้อีก ส.ว. หลายคนปฏิกริยาไว ยังจับทางได้ว่าหากปล่อยกระแสถล่ม ส.ว. ต่อไป พวกเขาอาจอยู่ไม่ได้ บางท่านออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายอมให้เลิกมาตรา 272 ไปก่อน เพื่อให้พวกเขาอยู่ครบ 5 ปี 

การยกเลิกมาตรา 269-272 เรื่อง ส.ว. 250 คน หรืออย่างน้อยยกเลิกมาตรา 272 กลายเป็นเรื่องที่แสวงหาฉันทามติร่วมกันได้ง่ายมาก นี่จึงเป็นโอกาสทองที่จะรุกคืบมากขึ้น 

เราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไปพร้อมๆ กับ การยกเลิก ส.ว. 250 คน (หรือยกเลิกมาตรา 272 อย่างเดียว) ไปพร้อมกันได้ 

หากกังวลว่าหา ส.ว. 84 คนไม่ได้ หรือ ซีกรัฐบาลไม่ยอม ส.ส. ไม่ต้องกังวลใจไป นักเรียน นิสิต นักศึกษา พี่น้องประชาชนที่อยู่นอกสภาพร้อมรวมพลังกดดันต่อไป 

เราต่างรู้ดีแต่แรกไม่ใช่หรือว่า การแก้รัฐธรรมนูญ 60 จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ฉันทามตินอกสภาเข้ากดดัน การแก้รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ว่าแก้อะไร เรื่องไหน วิธีใด ก็ต้องมี ส.ว. 84 คน 

ต้องเลิกคิดว่า “แก้รัฐธรรมนูญเรื่องนั้น เรื่องนี้ ส.ว. จะยอมหรือ” แต่ต้องคิดว่า “แก้รัฐธรรมนูญเรื่องใดๆ ที่ระบอบ คสช. และ ส.ว. เสียประโยชน์ ส.ว. ก็ไม่ยอมทั้งนั้น” ดังนั้น “การแก้รัฐธรรมนูญที่ ส.ว. จะยอมได้ ต้องมีพลังกดดันไปที่ ส.ว. และเจ้าของ ส.ว. ให้ยอม” 

เวลานี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ได้รวมพลังกันจน ส.ว. และเจ้าของ ส.ว. ต้องถอย จนมีโอกาสแก้รัฐธรรมนูญเรื่อง ส.ว. แล้วเหตุใด ส.ส. จึงไม่ช่วยกันเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก ส.ว. 250 คน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยกเลิกมาตรา 272 ก่อนก็ได้ ทำไมถึงไม่ใช้ห้วงจังหวะเวลานี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 

หาก ส.ส. ไม่ช่วยกัน ประชาชนก็ต้องออกแรงกันเองอีกด้วยการเข้าชื่อ 50,000 คน ซึ่งใช้เวลา ทรัพยากร มีระเบียบขั้นตอนมากมาย ต่อให้ชื่อครบ สภาก็ต้องใช้เวลาตรวจสอบรายชื่ออีกและอาจไม่ทันสมัยประชุมนี้ 

ผมอยากเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร ช่วยนำกุญแจมาเปิดประตูรัฐสภา นำข้อเรียกร้องการยกเลิก ส.ว. 250 คนเข้าไปพิจารณา 

หากมันจะไม่ได้รับความเห็นชอบ อย่างน้อยประชาชนก็จะได้เห็นว่าใครที่ขัดขวาง อย่างน้อยเราจะได้เห็น ส.ว. ที่เป็นจุดด่างดำของรัฐธรรมนูญนี้ ได้แสดงออกต่อหน้าประชาชนว่าพวกเขาไม่ต้องการเสียสละให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ 

หากมันจะไม่ผ่าน ก็ให้มันไม่ผ่านด้วยน้ำมือของ ส.ว. มิใช่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเริ่มต้น เพราะ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ร่วมกันเปิดประตูรัฐสภา

ขอแรง ส.ส. ด้วยครับ มาร่วมมือกัน “ปลดแอก” ที่ชื่อว่า “ส.ว. 250 คน” ด้วยกัน อย่าให้ ส.ว. 250 คน ขี่คอพวกท่านอีกเลย อย่าให้ ส.ว. 250 คน ขี่คอประชาชนอีกเลย"

 

'สุทิน' ชี้จะให้ ส.ว. โหวตปิดสวิตช์ตัวเองเป็นไปไม่ได้ ควรรอสถานการณ์สุกงอม

สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้ความเห็นว่า หากอยากปิดสวิตช์หรือตัดอำนาจใครก็ให้สสร.เป็นคนคิด เราเพียงผลักดันรณรงค์และนำเสนอเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมื่อเรายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไปแล้ว แล้วจะมายื่นแก้ไขมาตรา 272 อีก ก็จะมองว่าขัดกันเองเพราะแปลว่าเราจะเขียนรัฐธรรมนูญเองใช่หรือไม่ ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่ทำไปหรือกำลังสับสน ว่าบางเรื่องให้สสร.เขียน บางเรื่องเราเขียนเอง ซึ่งจะทำให้เราตอบตัวเองและสังคมไม่ได้ ส่วนที่ถามว่าเราอยากปิดสวิตช์ส.ว.หรือไม่นั้น ยืนยันว่าเราอยากปิด และอยากทำอย่างรวดเร็ว 

"หากคำนึงถึงความเป็นไปได้ ส.ว.จะยกมือให้ผ่านหรือไม่ เพราะต้องใช้เสียงส.ว. 84 เสียง หมายความว่าเราจะให้ส.ว.ยกมือปิดอำนาจตัวเอง เอามีดตัดแขนตัวเอง เราวิเคราะห์แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ จึงมองว่ายังไม่ควรที่จะยื่น ซึ่งมองว่ามีจังหวะที่รอให้สถานการณ์สุกงอม สังคมมีความชัดเจน ผู้ชุมนุมมีพลังสูงกว่านี้ เราอาจจะยื่นตอนนั้นก็ได้ ดังนั้น เมื่อรู้ว่าแพ้จะรบไปทำไม รอไว้รบเมื่อตอนที่คิดว่ามีโอกาสจะชนะดีกว่า" สุทินกล่าว

 

หัวหน้าพรรค ปชป. ย้ำจุดยืนแก้ รธน. ลดบทบาท ส.ว.

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และมีเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับและกำหนดไว้ในนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ ซึ่งข้อเสนอของพรรคคือ ขอให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.) ศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่แตะต้องหมวด1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ทบทวนอำนาจสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ให้ทำหน้าที่เฉพาะกลั่นกรองกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนอำนาจที่เกินกว่านั้นควรพิจารณาทบทวน รวมถึงขอให้กลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใช้บัตร 2 ใบ ซึ่งขณะนี้มอบหมายให้วิปของพรรคไปดำเนินการ

 

'ประยุทธ์' ไม่ขัดข้องแก้ รธน. ย้ำเป็นนโยบายเร่งด่วน โยนวิป รบ.-พรรคร่วม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงท่าทีของรัฐบาลในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน ของรัฐบาลข้อ 12 อยู่แล้ว ซึ่งสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนของหลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นเรื่องของวิปรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ก็จะเสนอร่างของแต่ละพรรคไป เพราะก็เป็นแนวทางที่ทุกคนมีสิทธิ์เสนอได้ ดังนั้น ตรงนี้ขอให้รับฟังในขั้นตอนในการพิจารณาต่อไป สำหรับตนไม่ได้มีส่วนขัดข้องอะไรตรงนี้

 

'อนุทิน' ย้ำจุดยืนแก้ รธน. ไม่ขัดแย้งพรรคร่วม ไม่มีความเห็นเรื่อง ส.ว.

อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าหากแก้ไขเสร็จแล้วควรมีการยินยอมให้ยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ว่าเป็นประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมาตลอดไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะหากมีรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์เสร็จแล้วก็ควรต้องรีบใช้ให้เร็วที่สุด ทุกอย่างเป็นไปตามการเมืองระบอบประชาธิปไตย แต่ยืนยันไม่มีความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะวันนี้พรรคร่วมรัฐบาลและวิปฝ่ายก็มีแนวทางเดียวกัน ในการแก้ไขมาตรา 256 ให้มีการจัดตั้งสมาชิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน เรื่องนี้ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและจุดยืนของพรรคการเมืองเอง ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของรัฐบาล มันคนละเรื่องกัน และกระบวนการยื่นเรื่องถือเป็นการดำเนินการของแต่ละพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล ส่วนจะมีเรื่องของรัฐบาลหรือไม่ยังไม่ได้พูดคุยกัน

อนุทิน กล่าวย้ำว่าพรรคภูมิใจไทยก็ได้แสดงท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งและก่อนการเข้าร่วมรัฐบาลแล้ว รวมถึงเรื่องนี้ก็ได้มีการแถลงนโยบายและประกาศต่อรัฐสภา

พร้อมยังไม่ขอให้ความเห็นประเด็นที่มาของ ส.ว. เพราะเมื่อมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกอย่างก็จะดำเนินการไปตาม สสร. กำหนด ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นแก้ที่มาตรา 256 ก่อนเพื่อตั้ง สสร. ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นใดบ้าง ที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดเสถียรภาพในประเทศและธำรงค์ไว้ตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

 

ส.ว. กังวลท่าทีก้าวไกล เตรียมล่า 5 หมื่นรายชื่อ

คำนูน สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือวิปวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมวันนี้คาดการณ์ว่า ญัตติร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งเป็นญัตติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับของทุกพรรคทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล จะเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ในช่วงวันที่ 23-24 ก.ย. ก่อนปิดสมัยประชุมรัฐสภา ในวันที่ 25 ก.ย.นี้

ซึ่งในการประชุมวันนี้ ยังไม่ได้มีการหารือในรายละเอียด เพราะทางวุฒิสภาต้องการรอพิจารณาร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญของแต่ละฝ่าย ที่มีการยื่นญัตติอย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้ มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านที่ไม่มีพรรคก้าวไกล ส่วนร่างของรัฐบาล ทางวิปรัฐบาลได้แถลงว่า จะสามารถเสนอญัตติต่อสภาฯ ได้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้หยิบกรณีที่พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่มาตรการปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน ที่ทางพรรคก้าวไกลระบุว่า เป็นหัวใจของการสืบทอดอำนาจ

อีกทั้งมีความเป็นได้ ที่เลขาธิการพรรคก้าวไกล จะใช้ช่องทางการเข้าชื่อของประชาชน 5 หมื่นชื่อ หากเสียงสนับสนุนในสภาไม่พอเสนอญัตติ ตามที่ประกาศไว้ ซึ่งขณะนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล มีทั้งหมดแค่ 54 เสียงยังขาดอีก 44 เสียง

“ที่ประชุม มีความเป็นห่วงว่า ประเด็นของวุฒิสภา จะต้องถูกนำมาเป็นอีกประเด็นที่มีการโจมตี และเคลื่อนไหวเรียกร้อง ล่ารายชื่อกัน ทั้งที่ความจริงแล้วตามขั้นตอน หากมีฉันทามติแก้ไขออกมาอย่างไร เราก็พร้อมจะยอมรับและดำเนินการตาม ถ้าเป็นอย่างนี้ เละเทะแน่” คำนูนระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net