Skip to main content
sharethis

มหาดไทยออกประกาศมาตรการทั่วประเทศรวมถึง กทม.ตั้งจุดตรวจคัดกรองเข้าออกจังหวัด ปิดผับบาร์ สถานบริการ แต่ร้านอาหารยังสามารถเปิดให้นั่งทานได้ตั้งแต่ 6 โมงเช้า - 3 ทุ่ม หลัง 3 ทุ่มนั่งในร้านไม่ได้แต่ซื้อกลับบ้านได้ ส่วนกรุงเทพฯ สถานศึกษาปิดจนถึง 31 ม.ค.นี้ ให้เรียนออนไลน์แทน ส่วนจังหวัดใดมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้นให้เตรียมตั้งโรงพยาบาลสนาม

5 ม.ค.2564 กองสารนิเทศ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 64 ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดกรอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 ม.ค. 64 เพื่อให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครถือปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ภาพจาก กองสารนิเทศ กระทรวงมหาดไทย

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) ทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ดำเนินการมาตรการเพิ่มเติม 3 ด้าน ในทุกจังหวัดและพื้นที่สถานการณ์ คือ

  1. เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ได้แก่ เว้นระยะระหว่างกัน สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและหมอชนะ
  2. ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนที่ทราบว่าตนเองได้เคยเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อหรือ "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นเป็นเวลา 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านและให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์ และ
  3. กวดขันไม่ให้มีบ่อนการพนันในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ โดยเคร่งครัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เข้มงวดกวดขันและประสานการปฏิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านร่วมในการหาข่าว/เบาะแสกรณีดังกล่าวด้วย

ส่วนของกรุงเทพฯ ที่ในขณะนี้เป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ ผู้ว่าจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นใดที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
  2. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ ผู้ว่าจังหวัดเสนอ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดมาตรการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ จัดให้มีระบบบันทึกผู้ใช้บริการโดยใช้แอปพลิเคชันไทยชนะหรือจดบันทึกข้อมูลให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ในกรณี คกก.โรคติดต่อจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดเวลาห้ามนั่งบริโภคในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้กำหนดห้ามนั่งบริโภคในร้านระหว่างเวลา 21.00 - 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น แต่ยังจำหน่ายให้นำกลับไปบริโภคที่อื่นไดh
  3. การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้ดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ โดย ผวจ. ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) บูรณาการและประสานการปฏิบัติ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ ตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักพื้นที่รอยต่อระหว่าง "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" กับ "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" และพื้นที่รอยต่อระหว่าง "พื้นที่ควบคุมสูงสุด" กับ "พื้นที่ควบคุม"

หากพบบุคคลที่มีความเสี่ยงหรือเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้บันทึกข้อมูลเพื่อสามารถสืบค้นได้ และดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการกับทุกภาคส่วน

จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางรองในตำบล หมู่บ้าน และชุมชน ให้ประสานสอดคล้องกับการจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางหลัก พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด และขอความร่วมมืองดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือเป็นกรณีการขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค ผลผลิตทางการเกษตร ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด อันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ

นอกจากนี้ หากในจังหวัดใดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและมีแนวโน้มที่การแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น ให้จังหวัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการบริหารจัดการ โดยพิจารณษตามความเหมาะสมของสถานที่ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานความร่วมมือกับอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อดูแลผู้ใช้แรงงานโดยแนะนำให้มีการนำมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

หากพบกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง ให้ดำเนินการตามแนวทางที่ราชการกำหนดและพิจารณาร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

นอกจากประกาศของกระทรวงมหาดไทยแล้ว วานนี้(4 ม.ค.2564) สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร ลงนามโดย พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่ชั่วคราวออกมาอีกฉบับเป็นฉบับที่ 16 มีรายละเอียดดังนี้

  1. ขยายเวลาการปิดโรงเรียน สถาบันกวดวิชา และสถาบันการศึกษาทุกประเภทออกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2564 โดยให้สามารถเปิดการเรียนการสอนเพื่อสื่อสารทางไกลหรือออนไลน์ได้ ยังสามารถให้ใช้อาคารเพื่อให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์อุปถัมภ์หรืออุปการะแก่บุคคล และยังจัดกิจกรรมทางราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยขออนุญาตจากผู้ว่า กทม.ได้
  2. สำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็นหาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหารให้เปิดบริการได้แต่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้เปิดบริการได้ระหว่าง 6.00 – 21.00 น. หลังจาก 21.00 น. ยังให้ขายเพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้ (ยกเว้นร้านอาหารในสนามบิน) ทั้งนี้ไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ แต่หากพบว่าสถานที่ใดมีการแพร่ระบาดหรือสงสัยว่ามีการแพร่ระบาด คณะกรรมการควบคุมโรคของ กทม. จะพิจารณาให้ขายเพื่อนำไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
  3. สถานบริการดูแลรักษาสัตว์ อาบน้ำตัดขนสัตว์ หรือรับเลี้ยง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน
  4. การประชุม สัมมนาที่มีผู้เข้าร่วมเกิน 200 คน หรือกิจกรรมขนาดใหญที่มีคนชุมนุมในพื้นที่เกิน 300 คน ต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กทม.ก่อนจัดงาน

หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้อระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net