Skip to main content
sharethis

ไม่มีธงการเมือง ‘ธีรัจชัย’ ยืนยัน กมธ.ป.ป.ช. ตรวจสอบ ‘สุชัชวีร์ ’ ร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ เพราะมีการร้องเรียน ด้าน สุชัชวีร์ ระบุไม่ได้มองเป็นการดิสเครดิต หากแต่พร้อมที่จะรับการตรวจสอบ และเชื่อมั่นในเรื่องของความยุติธรรม แต่จนถึงขณะนี้กรรมาธิการยังไม่ได้เชิญเข้าชี้แจง

4 ก.พ.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (4 ก.พ.65) อาคารรัฐสภา ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุม หลังตรวจสอบ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ 

ธีรัจชัย กล่าวว่า เนื่องจาก สุชัชวีร์ ไม่ได้มาจากครอบครัวที่เป็นมหาเศรษฐีมาก่อนและภรรยามีฐานะปานกลาง จากการตรวจสอบเอกสารตามคำร้องในเบื้องต้น ปรากฏการเข้ารับตำแหน่ง 2 ตุลาคม 2558 และยื่นบัญชีทรัพย์สินวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 มีทรัพย์สินทั้งสิ้นกว่า 44 ล้านบาท จากนั้นในวันที่ 19 กันยายน 2563 ปรากฏว่ามีบัญชีทรัพย์สินกว่า 74 ล้านบาท ยื่นบัญชีทรัพย์สินวันที่ 1 ตุลาคม 2564 มีทรัพย์สินรวมภรรยาด้วยกว่า 342 ล้านบาท 

“ในช่วง1 ปีหลัง พบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 247 ล้านบาท เป็นข้อสังเกตที่มีการเสนอมาให้กรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งกรรมาธิการจะตรวจสอบว่า ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเป็นของภรรยาหรือไม่ เนื่องจากในการดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี เมื่อปี 2563 มีทรัพย์สินเพิ่มมาเป็น 342 ล้านบาท โดยกรรมาธิการจะตรวจสอบว่ามีการสมรสเมื่อไหร่ ตามข้อมูลคือในปี 2561  สำหรับในการประชุมกรรมาธิการได้เชิญ อธิการบดี สจล. และ รองอธิบดีกรมสรรพากร มาชี้แจงตามที่อธิบดีมอบหมาย ยืนยันว่าในชั้นกรรมาธิการเป็นการสอบข้อเท็จจริงทั้งคณะไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งมี ส.ส.ทุกพรรคทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยมี ส.ส. อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ จากประชาธิปัตย์ร่วมด้วย เชื่อว่าจะเป็นกระบวนการที่โปร่งใสตรวจสอบได้”

ธีรัจชัย กล่าวต่อไปว่า การสอบถามประเด็นที่หนึ่ง เรื่องของหน้าที่อธิการบดีว่ามีอะไรบ้าง ทำงานเป็นเวลาหรือไม่ หรือสามารถรับงานอย่างอื่นให้มีรายได้เพิ่มเติมได้หรือไม่ รวมถึงเงินเดือนในตำแหน่งอธิการบดีและค่าตอบแทนต่างๆ คำตอบที่ได้เป็นตัวเลขกลมๆประมาณ 1-2 แสนบาท และไม่สามารถไปทำงานอย่างอื่นได้ในเวลาราชการ ไม่ได้รับเบี้ยในการประชุมอธิการบดี แต่การประชุมอย่างอื่นได้ โดยมีข้อมูลตามคำร้องว่า ได้รับเบี้ยประชุมและโบนัสปีละ 5.5 ล้านบาท ในประเด็นนี้รักษาการอธิการบดี ยังให้รายละเอียดไม่ได้ แต่รับว่าจะนำเอกสารมาชี้แจงภายหลัง สำหรับเงินประจำตำแหน่งอธิการบดี  5,090,000 เงินเดือน จำนวน 1,410,817 บาท ส่วนค่าที่ปรึกษาวิชาชีพวิศวกรรม 3,500,000 บาท ในตำแหน่งอธิการบดีทำได้หรือไม่ รักษาการอธิการบดีจะนำเอกสารมาชี้แจงภายใน 15 วัน 

“ตามคำร้องได้กล่าวว่า ในปี 2558 - 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ นายสุชัชวีร์ ดำรงตำแหน่ง มีการก่อสร้าง 5-6 โครงการใน สจล. คำร้องตั้งคำถามว่า มีบริษัท วันดีทูมูฟจำกัด มีส่วนร่วมในการเข้ามารับงานด้วยหรือไม่ เนื่องจากบริษัทดังกล่าว มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลใกล้ชิดกับ นายสุชัชวีร์ ซึ่งกรรมาธิการจะตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้” 

ธีรัจชัย ยังกล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบจะรวมไปถึงโครงการต่างๆที่ สจล.รับเป็นที่ปรึกษาในช่วงที่ นายสุชัชวีร์ ดำรงตำแหน่งด้วย ไม่ว่าจะเป็น โครงการของโรงพยาบาลวชิระพยาบาล ที่ว่ามีคำถามว่ามีการจ้าง บริษัทวันดีทูมูฟจำกัด มารับงานหรือไม่เช่นกัน รวมถึงการออกแบบสวนสัตว์ที่จังหวัดปทุมธานี และโครงการออกแบบพัฒนาทางเท้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโครงการของ กทม. ก็จะถูกตรวจสอบทั้งหมด   

ธีรัจชัย กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบของกรรมาธิการครั้งนี้ไม่มีธงทางการเมือง ซึ่งพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการได้ชี้แจงแล้วว่า ดำเนินการตามมีผู้ร้องเรียนมา ต่อกรณีที่มีข้อสังเกตว่า กรณีนี้จะเป็นการทับซ้อนเกี่ยวกับประเด็นที่พรรคก้าวไกลมีการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับ สุชัช์วี หรือไม่ ตนจะเสนอต่อที่ประชุมให้กรรมาธิการท่านอื่นตรวจสอบเพื่อเป็นการลบข้อครหาว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนที่พรรคก้าวไกลลงเเข่งขันสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน

สุชัชวีร์ ไม่ได้มองเป็นการดิสเครดิต หากแต่พร้อมที่จะรับการตรวจสอบ และเชื่อมั่นในเรื่องของความยุติธรรม แต่จนถึงขณะนี้กรรมาธิการยังไม่ได้เชิญเข้าชี้แจง

ขณะที่ท่าทีของ สุชัชวีร์ ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นั้น ล่าสุดวันนี้ The Reporters รายงานว่า เขา ยืนยันพร้อมที่จะชี้แจงรายละเอียด และรับการตรวจสอบกรณีที่กรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรเดินหน้าตรวจสอบ เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าทุจริตต่อหน้าที่และร่ำรวยผิดปกติสมัยดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งกรณีนี้ที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะยื่นพร้อมภรรยาครั้งแรก ต่างจากอดีตที่ยื่นตอนเป็นโสด และทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ต้องอัพเดทเป็นไปตามมูลค่าปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นราคาของทองคำหรือที่ดิน ต่อให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องอัพเดท โดยทรัพย์สินที่เพิ่มมาส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนของภรรยา ซึ่งมีอาชีพประกอบธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง

ขณะเดียวกันก็มีหนี้สิน ที่กู้มาเพื่อปลูกบ้านและเพิ่งรีไฟแนนซ์ไป ทั้งยังยืนยันในความบริสุทธิ์เพราะที่ผ่านมาได้ แสดงรายได้ต่อปีอย่างชัดเจน และเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายและพร้อมแจกแจงรายละเอียด ของทรัพย์สินทุกรายการ เช่นเดียวกับไม่กังวลต่อประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภายใน สจล. เพราะมั่นใจในความโปร่งใสเพราะมั่นใจในขั้นตอนการพิจารณา ที่ต้องผ่านกระบวนการเหมือนระบบต่างประเทศ และส่วนตัวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อ เพราะเป็นอธิการบดีที่ดูเรื่องนโยบายและวิสัยทัศน์ ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องของรองอธิการที่จะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็ยอมรับว่า ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอาจมีผู้ที่เสียประโยชน์

สุชัชวีร์ ยังได้เปิดเผยว่า ไม่ได้มองว่ากรณีดังกล่าวเป็นการดิสเครดิตแม้หลายคนแสดงความเป็นห่วงและเตือน ในเรื่องของความรุนแรงทางการเมือง แต่เมื่อมาอยู่ตรงนี้แล้วก็พร้อมที่จะรับการตรวจสอบ และเชื่อมั่นในเรื่องของความยุติธรรม แต่จนถึงขณะนี้กรรมาธิการยังไม่ได้เชิญเข้าชี้แจง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net