Skip to main content
sharethis

เปิดประวัติ 'ถวิล ไพรสณฑ์' สมาชิกตลอดชีพพรรคก้าวไกล อดีตประธานคณะกรรมการกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้มุ่งมั่นในนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเคยดำรงตำแหน่ง ส.ส. มากกว่า 5 สมัย ด้านโฆษกและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รับ ตกใจและเสียใจที่มือกฎหมายของพรรคลาออก ขณะที่(อดีต)ลูกหม้อ ปชป. เผยตกใจไม่แพ้กัน แต่เคารพในการตัดสินใจ

วานนี้ (8 ก.พ. 2565) ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานว่าชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวให้การต้อนรับ 'ถวิล ไพรสณฑ์' อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 9 สมัย ที่เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลตลอดชีพ ที่สำนักงานใหญ่พรรคก้าวไกล อาคารอนาคตใหม่ เขตบางกระปิ กรุงเทพมหานคร

ถวิล กล่าวว่า จุดประสงค์ที่เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการสนับสนุนให้พรรคก้าวไกลสานต่อเจตนารมณ์และนโยบายของพรรค โดยเฉพาะนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง อีกทั้งเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ยึดมั่นและหนักแน่นในอุดมการณ์และเจตนารมณ์ทำงานเพื่อประเทศประชาชนต่อไป นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าการที่ตนเข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลนั้น ตนไม่มีความประสงค์จะลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งต่อไปแต่อย่างใด เพียงต้องการเห็นอนาคตของประเทศไทย มีการกระบายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ที่ตนได้ต่อสู้ขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน และจะช่วยงานในพรรคในทุกส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เปิดประวัติ 'ถวิล ไพรสณฑ์'

ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐสภาไทยระบุว่า ถวิล ไพรสณฑ์ เกิดเมื่อ 8 ส.ค. 2480 จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโท 2 ใบจากสาขารัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสาขา Rublic Administration จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syrackse University) รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถวิลเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อ พ.ศ.2538 และเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย โดยถวิลได้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช เขต 2 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหมด 2 สมัยในการเลือกตั้ง พ.ศ.2526 และ พ.ศ.2529

หลังจากนั้น ถวิลได้ย้ายไปสังกัดพรรคประชาชน ก่อนจะย้ายมาสังกัดพรรคพลังธรรมและชนะเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เขต 9 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ.2535 และย้ายกลับมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งใน พ.ศ.2539 ซึ่งเขาชนะเลือกตั้ง ส.ส. เขตใน กทม. ต่อเนื่องรวม 5 สมัย และเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 สมัย อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 เขามีชื่ออยู่ใน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ลำดับที่ 39 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภา

นอกจากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและ ส.ส. แล้ว ถวิลยังเคยดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรของสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 18 พ.ศ.2535 และยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จ.นครศรีธรรมราช สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ.2543-2549

ถวิล ไพรสณฑ์
 

ก่อนเริ่มงานการเมือง ถวิลมีอาชีพเป็นข้าราชการประจำ เคยดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาล เทศบาลตำบลสุไหงโกลก จ.นราธิวาส, ปลัดเทศบาล เทศบาลเมืองพัทลุง จ.พัทลุง, เลขานุการนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหลวง กรุงเทพมหานคร, หัวหน้าเขตพระนครและหัวหน้าเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร (ข้าราชการระดับ 10) นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น

ตำแหน่งล่าสุดของถวิล คือ ประธานคณะกรรมการกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จะย้ายมาดำรงตำแหน่งสมาชิกพรรคก้าวไกลตลอดชีพ นอกจากนี้ ถวิลยังมีรายชื่อเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระ/คณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TFD) อีกด้วย

โฆษก-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รับตกใจและเสียใจที่ 'ถวิล' ย้ายพรรค

มติชนออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์ และแนวหน้า รายงานตรงกันว่า ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีที่ถวิล ไพรสณฑ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล ว่าตนยังตกใจและเสียใจอยู่ เพราะถวิลกับตนมีความผูกพันกันมาก ทำงานร่วมกันมาโดยตลอดในด้านกฎหมาย ถวิลจะรับผิดชอบงานกฎหมายในส่วนของร่างกฎหมาย ที่ร่างกฎหมายเกือบทุกฉบับต้องผ่านการตรวจตราจากถวิล เพราะมีความเชี่ยวชาญในการร่างกฎหมายมาก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และพรรคก็ได้ให้นายถวิลดูแลรับผิดชอบเรื่องท้องถิ่นมาโดยตลอด ในส่วนของพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องท้องถิ่นเป็นอย่างมากเห็นได้จากนโยบายที่มีความก้าวหน้ามากกว่าทุกพรรค เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ยื่นแก้รัฐธรรมนูญเรื่องท้องถิ่น ซึ่งถวิลก็เป็นคนทำร่างฉบับนี้

ราเมศระบุว่าวานนี้ (8 ก.พ. 2565) เวลาประมาณ 16.30 น. หลังจากที่ตนได้เสร็จสิ้นการว่าความที่ศาลอาญา เห็นถวิล โทรมาในช่วงกลางวัน 2 ครั้งแต่ตนไม่ได้รับสาย เมื่อโทรกลับไป ถวิลบอกว่าได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว และได้ไปยื่นใบลาออกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมบอกกับตนตรงๆ ว่าจะย้ายไปช่วยเรื่องท้องถิ่นพรรคก้าวไกล และได้พูดถึงเหตุผลที่ลาออก แต่ตนขอไม่พูดในส่วนนี้เพราะเป็นการพูดคุยกันส่วนตัว แต่ก็ต้องถือว่า พรรคได้สูญเสียบุคลากรที่สำคัญไปอีกหนึ่งคน ราเมศกล่าวว่าถวิลถือได้ว่าเป็นครูในด้านการร่างกฎหมายที่คอยให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดี เป็นคนเดียวที่จะเข้าพรรคมาทำงานทุกวัน ทุ่มเททำงานให้กับพรรคมาโดยตลอด

ราเมศกล่าวตอนท้ายว่าตนคงไม่อธิบายอะไรมาก อธิบายความรู้สึกได้ในตอนนี้ คือ รักและเคารพเสมอตลอดไป โดยส่วนตัวตกใจและเสียใจ แต่ก็ต้องเดินหน้าทำงานต่อไป ขณะนี้ในพรรคงานกฎหมายบุคลากรก็น้อยลงเต็มที คงต้องกลับมาคิดทบทวนเช่นกันว่าจะวางแผนการทำงานด้านกฎหมายอย่างไรต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกัน ไทยพีบีเอส รายงานเพิ่มเติมว่า เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และรองหัวหน้าพรรค เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าตนไม่ทราบเรื่องมาก่อนว่าถวิลจะย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล ก่อนจะพูดถึงเรื่องการย้ายพรรคของอดีตสมาชิกหลายคนในช่วงก่อนหน้านี้ว่าแม้จะมีคนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มีสมาชิกใหม่เข้ามาเสมอ และตั้งเป้าว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องได้ ส.ส.เขตภาคใต้อย่างน้อย 35 คน

(อดีต)ลูกหม้อประชาธิปัตย์คิดอย่างไร กรณี 'ถวิล' ซบก้าวไกล

พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเพจ Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ ถึงกรณีที่ถวิลย้ายไปร่วมกับพพรคก้าวไกล โดยระบุว่า "ขอชื่นชมและให้กำลังใจ ท่านถวิล ไพรสณฑ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกสภาฯ 9 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตัดสินใจทางการเมืองครั้งใหญ่ในชีวิต ย้ายไปทำการเมืองกับพรรคก้าวไกล เพื่อผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจสู้ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ผมเห็นด้วยกับท่านเป็นอย่างยิ่ง"

"จากที่ผมได้เคยทำงานร่วมกับท่านทั้งในช่วงเวลาที่เป็นรองผู้ว่ากทม ระหว่างปี 2547 ถึง 2551 และช่วงที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 และช่วงที่เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเลือกตั้งปี 2562 ประการแรก ขอชื่นชมการตัดสินใจ เพราะ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะอาวุโสแค่ไหนก็สามารถคิดและตัดสินใจจะทำการเมืองแบบใหม่และไม่ยึดติดอยู่กับการเมืองแบบเดิม"

"ประการต่อมาคือ ท่านถวิล รับรู้บริบททางสังคม และ แนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่อีกไม่ช้าจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่เข้ามาแทนที่คนยุคนี้ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาบ้านเมือง รวมทั้งสร้างประชาธิปไตย"

"ขณะเดียวกันก็ขอชื่นชมพรรคก้าวไกล ที่ให้การต้อนรับ ท่านถวิล ทั้งที่ถูกตั้งข้อสังเกตมองว่าเป็น สายอนุรักษ์นิยม ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า พรรคก้าวไกล เข้าใจบริบทการเมือง และพยายามปรับตัวลดโทนความการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้เกิดความประนีประนอมในสังคมมากขึ้น เพื่อทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติต่อไป"

ด้าน นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปัจจุบันเป็นแกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย ร่วมกับสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีดังกล่าว ระบุว่า "คิดถึง ถวิล ไพรสณฑ์ อ่านข่าวพี่ถวิล ไพรสณฑ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัยหัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล ผมก็ใจหาย ตอนอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ห้องทำงานของผมที่เป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ อยู่ติดกับห้องทำงานของพี่ถวิล เราจึงคุยกันบ่อยมาก พี่ถวิล เป็นคนที่มาทำงานที่พรรคมากกว่าทุกคน วันเสาร์ก็มานั่งเขียนหนังสือที่พรรค ส่วนผมจะมาวันอังคาร-พุธ เป็นหลัก ห้องผมเป็นที่ชุมนุมของนักการเมืองทั้งรุ่นเด็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ เวลาผมอยู่ที่พรรคจึงได้ยินเสียงคุยกันดังสนั่นไปถึงสถานีรถไฟสามเสน เด็กๆ มักจะล้อผมว่า ห้องผมปูพรมไม่ได้ ผมถามว่าทำไม เด็กๆจะบอกว่า เจ้าของห้องเขี้ยวยาวพรมขาดหมด ผมก็โต้กลับว่า พวกเด็กฟันน้ำนมยังไม่งอก ยังไงพวกเธอก็สู้ฉันไม่ได้หรอก เพราะฉันเคยเป็นคนหนุ่มแบบพวกเธอ แต่พวกเธอไม่เคยเป็นคนแก่แบบฉัน ก็แซวกันไป"

"ผมสังหรณ์มานานแล้วว่าพี่ถวิล น่าจะอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ แต่อย่าบอกเลยว่าลางสังหรณ์ผมคืออะไร พี่ถวิล ก็คงดูออกว่าผมคงจะออกจากพรรคไปก่อนแน่ ตอนผมลาออก ผมก็โทรไปลาพี่ถวิล แต่ตอนพี่ถวิลลาออกไม่ยักโทรมาบอกผม ไม่งั้น ผมจะยับยั้งให้เลี้ยวมาที่ 'พรรคสร้างอนาคตไทย' มาทำเรื่องการกระจายอำนาจด้วยกัน"

"เด็กรุ่นใหม่ ไม่รู้จักประวัติพี่ถวิล ไพรสณฑ์ เขาคงเห็นเพียงเป็นนักการเมืองแก่ๆ ที่เดินไปมาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ พี่ถวิลนี่แหละปรมาจารย์ด้านการกระจายอำนาจ ตอนผมเป็นสมาชิกสภาจังหวัดพัทลุงและเป็นประธานสภาจังหวัดพัทลุง ปี 2531-2535 เวลาพี่ถวิล ไปบรรยายเรื่องการกระจายอำนาจที่ไหน ห้องประชุมไม่มีที่ว่าง ต้องนั่งกับพื้นฟังกัน แต่โลกในปี 2565 กลับไม่มีที่ว่างให้พี่ถวิลได้ยืน ผมกล้าท้าได้ว่าเรื่องกระจายอำนาจ ส.ส.ปัจจุบันทั้งในและนอกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครสู้พี่ถวิลได้ ก็เขียนถึงพี่ เพราะคิดถึงครับ ไม่แสดงความเห็นอะไรมากไปกว่านี้"

ส่วนเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กต่อกรณีนี้ว่าตนไม่คาดคิดว่า ถวิล ไพรสณฑ์ จะทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปสังกัดพรรคก้าวไกล

"ผมเห็นข่าวที่ท่านถวิล ไพรสณฑ์ ได้ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรมากนัก เพราะที่ผ่านมาก็มีความสนิทสนมกับท่านถวิลพอสมควร เจอหน้ากันที่พรรคประชาธิปัตย์กันแทบทุกวัน และไปทานข้าวเที่ยงด้วยกันเป็นประจำ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เสมอ ซึ่งสามารถจับแนวความคิดได้ว่า ท่านถวิลเห็นด้วย และสนับสนุนแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลในหลายเรื่อง แต่ไม่คาดคิดว่า ท่านตัดสินใจลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอย่างจริงจัง ตอนแรกคิดว่า คงจะสนับสนุนแนวความคิดในบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเกี่ยวกับจุดยืน เรื่องประชาธิปไตยเท่านั้น"

"ส่วนตัวรู้สึกเสียดาย ท่านถวิล ไพรสณฑ์ ในฐานะสมาชิกผู้อาวุโสของพรรคฯ ที่เคยเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2526 จนย้ายมาเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร อีกหลายสมัย และได้กลับไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มาจากการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งด้วย ถือได้ว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างโชกโชน เคยเป็นข้าราชการระดับ10 ของ กทม.ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนได้ลาออกมาสมัคร ส.ส.ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีมาแล้ว"

"สำหรับบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ท่านถวิลได้มีบทบาทสำคัญ ในด้านกฎหมายของพรรค เป็นผู้ยกร่างข้อบังคับพรรค และยกร่างกฎหมาย ที่จะนำสู่สภาผู้แทนราษฎรอยู่เสมอ จนตำแหน่งล่าสุด คือประธานคณะกรรมการกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อท่านได้ ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ผมเคารพการตัดสินใจของท่านถวิลในครั้งนี้ ขอให้โชคดีในการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล และขอให้ประสบความสำเร็จ ในความตั้งใจ เรื่องการกระจายอำนาจ และสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net