Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2565 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ความว่า โดยที่การชุมนุมสาธารณะ ต้องไม่กีดขวางทางเข้า-ออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หารือการใช้บริการสถานที่ ตามนัยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

จึงสมควรกำหนดสถานที่ในการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และสถานที่พำนัก ของผู้แทนประเทศในการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน สำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2561 เป็นสถานที่ตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศให้สถานที่และถนนบริเวณอาณา โดยรอบสถานที่ตามแนบท้ายประกาศนี้ให้เป็นสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) ตั้งแต่วันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565

ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางระเบียบหรือคำสั่งกำหนดหลักเกณฑ์และพื้นที่ถนน และบริเวณอาณาโดยรอบของสถานที่ตามประกาศ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565)

สำหรับแนบท้ายประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ดังนี้

1. สถานที่จัดการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
2. สถานที่พำนักผู้แทนประเทศในการประชุมระหว่างประเทศภาครัฐ รวม 19 โรงแรม
2.1 โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ ผู้แทน บูรไน
2.2 โรงแรมอนันตรา สยาม ผู้แทน สหรัฐอเมริกา

2.3 โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพ ผู้แทน สิงคโปร์
2.4 โรงแรมโรสวูด กรุงเทพ ผู้แทน นิวซีแลนด์
2.5 โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพ ผู้แทน เปรู
2.6 โรงแรมดิ แอทธินี ผู้แทน ไต้หวันและเวียดนาม
2.7 โรงแรมคอนราด กรุงเทพ ผู้แทน ญี่ปุ่น

'ครป.' เสนอเปิดพื้นที่ประชาชนชุมนุมคู่ขนาน

13 พ.ย. 2565 เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ที่จะมาถึงสัปดาห์หน้านี้ ครป. และภาคประชาชนไทย มีความเห็นดังนี้

1.ครป.และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนไทย ขอต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ ทั้ง 20 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ เข้าร่วมการประชุมเอเปคด้วยความยินดียิ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม วัฒนธรรม น้ำใจและมิตรภาพ หวังว่าผู้นำประเทศต่างๆ และคณะ จะมีความประทับใจกับการต้อนรับของประชาชนไทย มีความสุขกับอาหารท้องถิ่น การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในประเทศไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและระหว่างประชาชนต่อไป

2.แม้ว่าจะน่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรีและทำหน้าที่เป็นประธานเอเปคอยู่โดยขาดความชอบธรรมและความเชื่อมั่นจากประชาชน แต่รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพในนามของปวงชนชาวไทย จะต้องสนับสนุนให้เศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมไทยได้รับการส่งเสริมเป็น Soft Power และสัญลักษณ์ในความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและอาหารท้องถิ่น ที่ชุมชนกสิกรรมและภาคแรงงานควรมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ดังทีประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดในโลก 

"รัฐบาลไทยควรส่งเสริมตลาดสตรีทฟู๊ดให้โดดเด่นมากขึ้นตามชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว เหมือนกับย่านเยาวราชและถนนข้าวสาร ผมเคยพานายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เดินเที่ยวถนนข้าวสารในสมัยที่ยังเป็น ส.ส. ทุกคนชื่อชอบสตรีทฟู๊ดอาหารไทยที่อร่อยมากๆ เหมือนกับผู้นำอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เอ่ยปากชม ซึ่งสามารถทำให้โดดเด่นได้ไม่แพ้สิงคโปร์หรือฮ่องกง"

3.รัฐบาลไทยไม่ควรให้กลุ่มทุนเจ้าสัวผูกขาดเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่ยังเป็นแค่เปลือกนอก เพราะในคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนั้นไม่มีที่นั่งของเกษตรกร ชาวนาและแรงงานแม้แต่ที่นั่งเดียว เนื่องจากนโยบายทุนนิยมประชารัฐของรัฐบาลไทยนั้น ได้สร้างความเหลื่อมล้ำและเบียดเบียนเศรษฐกิจสีเขียวของชาวนาอย่างกว้างขวาง เกษตรกร ชาวนาและแรงงานสมควรได้รับการส่งเสริมในแนวราบและมีส่วนร่วมกับคณะกรรมการและโครงการของรัฐอย่างเท่าเทียมกันกับกลุ่มทุนใหญ่ ระบบทุนนิยมจากบนลงล่างและระบอบเสรีนิยมใหม่ควรได้รับการทบทวนเงื่อนไขและพิษภัยโลภาภิวัฒน์จากผู้นำโลกที่มาประชุมเอเปค รวมถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามโลกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมที่ละโมบจนเกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากร  การพัฒนาสีเขียวที่ยั่งยืนต้องมีที่นั่งของภาคประชาชน ร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คลี่คลายความขัดแย้งทางชนชั้น และส่งเสริมสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ

4.รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมและเป็นประธานเอเปค สามารถมีบทบาททางการทูตที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสันติภาพขึ้นได้ จากความขัดแย้งในยูเครน พม่า คาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ และสมควรทำในฐานะประเทศเป็นกลาง เนื่องจากมีผู้นำโลกหลายชาติที่เป็นคู่ความขัดแย้งมาร่วมประชุมด้วย โดยเฉพาะผู้นำจีน สหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ เพื่อยุติสงครามและความรุนแรงลงตามที่ทุกฝ่ายปรารถนาแต่อาจจะยังหาทางลงไม่ได้ แม้ไทยจะเป็นประเทศเล็กๆ ในสายตามหาอำนาจเปรียบเหมือนราชสีห์กับหนู แต่บทบาททางการทูตไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการเจรจาเพื่อสันติภาพ หนูก็สามารถช่วยราชสีห์ได้ไม่ต่างจากในนิทานอีสป เพราะเราเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกับทุกประเทศ

5.รัฐบาลควรจัดสถานที่ให้ภาคประชาชนจัดการชุมนุมคู่ขนานได้เหมือนในต่างประเทศ เพื่อนำเสนอวาระของประชาชนที่แตกต่างจากรัฐบาลต่อผู้นำโลกที่มาเข้าร่วมการประชุม APEC โดยมีพื้นที่ที่เหมาะสมคือ "สวนป่าเบญจกิติ" ที่ใกล้ที่ประชุมและผู้แทนชาติต่างๆ สามารถเดินทางมารับฟังและพบปะประชาชนไทยได้ง่าย ไม่ควรปิดกั้นการมีส่วนร่วมและการสื่อสารของภาคประชาชน โดยเฉพาะความขัดแย้งทางนโยบายเรื่องแนวทางการพัฒนาและโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และไม่ควรนำนโยบายที่มีความขัดแย้งเสนอต่อผู้นำต่างชาติ เช่น นโยบายให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ซึ่งคนไทยถือว่าเป็นการขายชาติ ขายแผ่นดิน

สื่อเผยภาพเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังรอบศูนย์ประชุมฯ พร้อม รักษาความปลอดภัยเอเปค

13 พ.ย. 2565 เพจ PPTV HD 36 รายงานเมื่อเวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ยืนรักษาความปลอดภัย หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุม APEC 2022 รวมถึงตั้งด่านคัดกรอง ตรวจค้น บริเวณโดยรอบศูนย์ประชุมฯ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตั้งแผงกั้นในจุดต่าง ๆ เพื่อป้องกันเมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน 

โดยเวลา 10.30 น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พร้อมด้วยผู้กำกับ สน.ทองหล่อ สน.ลุมพินี สน.ทุ่งมหาเมฆ ลงพื้นที่ตรวจแนวทางการวางกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัยเส้นทางการประชุมเอเปค 2022 ตลอด ถ.รัชดาภิเษก ถ.พระราม 4 และ ถ.สุขุมวิทตลอดสาย เพื่อให้มีความรัดกุมมากขึ้น ส่วนการจราจรในพื้นที่โดยรอบ ยังคงเปิดตามปกติ

 

หมายเหตุ : ประชาไท ดำเนินการปรับแก้พาดหัวและโปรยข่าวเป็นปัจจุบันเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 พ.ย.2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net