Skip to main content
sharethis

ศาลพม่าสั่งจำคุก ฮันทาร์ เยน บ.ก. Kamayut Media ทีวีออนไลน์แห่งแรกของพม่า เพิ่มอีก 5 ปี บวกโทษเดิม 2 ปี รวมเป็น 7 ปี ตามกฎหมายการติดต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ องค์กรสิทธิ 'ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders)' ของฝรั่งเศส ระบุ พม่าสั่งจำคุกนักข่าวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน

 

29 ธ.ค. 2565 ศาลเรือนจำอินเส่ง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า สั่งจำคุก ฮันทาร์ เยน ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการของ Kamayut Media ทีวีออนไลน์แห่งแรกของพม่า เพิ่มอีก 5 ปี บวกโทษเดิม 2 ปี รวมเป็น 7 ปี ตามกฎหมายการติดต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

คำตัดสินจากศาลของเรือนจำอินเส่ง ซึ่งเป็นสถานที่กักขังนักโทษการเมืองและนักกิจกรรมทางการเมืองในพม่า ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตามรายงานของสื่อ Mizzima ไม่ได้มีการระบุว่าพฤติการณ์ของฮันทาร์ เยน ที่ฝ่าฝืนกฎหมายติดต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีลักษณะเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ ฮันทาร์ เยน เคยถูกพิพากษาจำคุกและบังคับใช้แรงงานหนัก 2 ปี ตามมาตรา 505(a) ในข้อหาแสดงความคิดเห็นที่ "ก่อให้เกิดความกลัว" และ "เผยแพร่ข่าวเท็จ หรือยุยงให้กระทำความผิดอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม"

นาธาน หม่อง บรรณาธิการใหญ่ของ Kamayut Media สัญชาติอเมริกัน ได้รับการปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 หลังจากถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่งเป็นเวลา 3 เดือน นาธาน หม่อง และฮันทาร์ เยน ถูกกองกำลังความมั่นคงควบคุมตัว หลังจากเจ้าหน้าที่บุกเข้ามาในสำนักงานของพวกเขาในย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเคยรายงานว่าระหว่างการสอบปากคำเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ นาธาน หม่อง และฮันทาร์ เยน ถูกทารุณกรรมก่อนที่จะถูกส่งไปยังเรือนจำอินเส่ง แหล่งข่าว 2 แห่งของซีเอ็นเอ็นระบุว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องติดกัน เพื่อให้ได้ยินเสียงกรีดร้องของกันและกันระหว่างการสอบปากคำ

ตามรายงานของ Engage Media องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิเชิงดิจิตัล เทคโนโลยี และสารคดีเกี่ยวกับประเด็นสังคม Kamayut Media ทีวีออนไลน์เอกชนแห่งแรกของพม่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 รายงานข่าวทุกด้านทั้งประเด็นการเมือง ธุรกิจ สังคม รวมถึงข่าวสิทธิมนุษยชน

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการข่มขู่องค์กรสื่อไม่ให้เรียกการยึดอำนาจของกองทัพว่าการ "รัฐประหาร" หรือเรียกกองทัพว่า "ระบอบ" หรือ "เผด็จการทหาร" พร้อมประกาศให้คำดังกล่าวผิดกฎหมายของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ

ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าได้ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการองค์กรสื่อหลายแห่ง เช่น Myanmar Now, 7Day, Mizzima, DVB และ Khit Thit และเมื่อ พ.ย. ที่ผ่านมารัฐบาลพม่าเพิ่งประกาศแบนสำนักข่าวอิรวดี หลังเสนอข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าเริ่มยิงพลเรือนก่อน ระหว่างปะทะกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านในรัฐมอญ

พม่าจำคุกนักข่าวเป็นอันดับ 2 ของโลก

การสั่งจำคุกฮันทาร์ เยน เพิ่มเติม เกิดขึ้นหลัง องค์กรสิทธิ 'ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders)' ของฝรั่งเศส ออกรายงานว่าพม่ามีการกักขังนักข่าวในเรือนจำสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก นับได้ 62 ราย สูงกว่าอิหร่าน (47) เวียดนาม (39) และเบลารุส (31) และเป็นรองเพียงประเทศจีน (110)

แม้ตัวเลขจะอยู่อันดับสอง แต่หากเทียบกับจำนวนประชากรจะพบว่า พม่ามีการกักขังนักข่าวในเรือนจำเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่สุดโลก ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่าขณะนี้มีนักข่าวพม่าถูกจับกุมไปแล้วกว่า 130 คน นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 ในจำนวนนี้ยังอยู่ในเรือนจำ 62 ราย

ในช่วงสองสามเดือนแรกหลังการรัฐประหารเมื่อ ก.พ. 64 การจับกุมนักข่าวในพม่ามักเกิดขึ้นขณะที่กำลังรายงานข่าวเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร อย่างไรก็ตามในปี 65 พบว่ามีการบุกเข้าจับกุมนักข่าวระหว่างที่พวกเขาอยู่ในบ้าน หรือระหว่างอยู่ในสถานที่หลบภัยเพื่อซ่อนตัวจากกองทัพของรัฐบาลทหาร

 

 

เรียบเรียงจาก

Kamayut Media editor sentenced to five more years in prison

https://mizzima.com/article/kamayut-media-editor-sentenced-five-more-years-prison

Myanmar: Post-Coup Legal Changes Erode Human Rights

https://www.hrw.org/news/2021/03/02/myanmar-post-coup-legal-changes-erode-human-rights

Security forces raid Kamayut Media office in Yangon

https://myanmar-now.org/en/news/security-forces-raid-kamayut-media-office-in-yangon

American editor of Kamayut Media released from prison

https://myanmar-now.net/en/news/american-editor-of-kamayut-media-released-from-prison?page=2

Understanding Myanmar’s Political Climate with Kamayut Media

https://engagemedia.org/2015/understanding-myanmars-political-climate-with-kamayut-media/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net