Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลัก “นิติรัฐ” ในระบอบประชาธิปไตยหมายถึงการยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่ กฎหมายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ประชาชนทุกคนรวมทั้งผู้ปกครองต้องอยู่ใต้กฎหมาย การกระทำทุกอย่างของผู้ปกครองไม่ว่าเรื่องใด ต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมาย จะคิดทำเกินเลยหรือนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้ เหตุผลที่ระบอบประชาธิปไตยยกย่องเทิดทูนกฎหมายเป็นใหญ่เหนือคน ก็เพราะว่าคนไม่แน่ไม่นอนตามกฎอนิจจัง วันนี้ดีพรุ่งนี้อาจไม่ดี ปัจจุบันเป็นคนเก่งฉลาดหลักแหลม อนาคตอาจกลายเป็นคนเลอะเลือนเสียสติ แม้บางคนอาจเป็นคนเก่งคนดีตลอดชีวิต แต่เขาก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า สักวันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป

จากบทเรียนประวัติศาสตร์มนุษยชาติหลายร้อยหลายพันปีที่ผ่านมา มนุษย์โลกได้เรียนรู้ว่า การให้ผู้ปกครองอยู่เหนือกฎหมาย มอบอำนาจทั้งหมดให้ผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งหรือคณะใดคณะหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถือเป็นอันตรายใหญ่หลวง เพราะหากในช่วงยุคสมัยใดบ้านเมืองมีผู้ปกครองไม่ดีมีปัญหา ไร้ซึ่งคุณธรรม ก็จะใช้อำนาจแบบไม่มีขอบเขต ประชาชนจะถูกกลั่นแกล้งรังแก เอารัดเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง ขูดรีดทำร้าย ฯลฯ ทำให้สังคมสับสนวุ่นวาย ไม่สงบสุข ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงยั่งยืน

ในสังคมประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาก้าวหน้า ประชาชนจะให้ความสำคัญกับระบบหรือโครงสร้างกฎกติกามากกว่าตัวผู้นำไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีก็ตาม เพราะเขามองว่าคนมาแล้วก็ไป จะชั่วจะดีอย่างไร ก็อยู่ในอำนาจเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว หากยุคใดสมัยใด เกิดโชคร้าย ประชาชนตัดสินใจผิดเลือกคนไม่ดี ไม่มีคุณภาพ เมื่อครบวาระก็สามารถตัดสินใจเปลี่ยนตัวผู้นำใหม่ได้ด้วยวิธีการที่สันติ

9การมีระบบกฎหมายหรือหลักนิติรัฐที่ดี มีความเข้มแข็ง ถูกต้องตามธรรม มีการคานดุลตรวจสอบที่เหมาะสมมีประสิทธิภาพ จึงเป็นหลักประกันยืนยันได้ว่า ประเทศชาติบ้านเมืองจะมั่นคงยั่งยืนอยู่รอดปลอดภัยอย่างแน่นอน ต่อให้คนที่เข้ามาบริหารชาติบ้านเมืองจะงี่เง่าห่วยแตก บ้าอำนาจ ขี้ฉ้อขี้โกงสักปานใด ก็จะไม่ถึงขั้นทำให้บ้านเมืองวิบัติล่มจม เพราะไม่ว่าจะมีฤทธิ์เดชชั่วร้ายอย่างไร หากระบบดีมีประสิทธิภาพ กฎหมายจะทำหน้าที่เป็นรั้วขวางกั้นมิให้เขาทำเกินเลยออกนอกขอบเขต แน่นอนว่าตอนอยู่ในอำนาจ อาจเป็นเรื่องยากที่กฎหมายจะทำอะไรเขาได้ แต่พอหมดอำนาจเมื่อไหร่ เขาจะถูกเช็คบิลเอาผิดย้อนหลัง ซึ่งก็มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วในหลายประเทศ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เคยแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง นิติศาสตร์แนวพุทธ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2539 ณ สำนักงานอัยการสูงสุด สรุปได้ว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือที่เรียกว่าธรรมวินัยนั้น แบ่งออกเป็น  2 ส่วนคือ คำว่า ธรรม หมายถึง ความจริงตามธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ (มีอยู่ 5 อย่าง คือ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม)  และคำว่า วินัย หมายถึง สิ่งที่มนุษย์จัดตั้งขึ้นเองหรือ กฎมนุษย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสมมุติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อคนต้องการทำสวนก็จะนำต้นไม้มาปลูก การทำสวนนี้เป็นเหตุและจะทำให้เกิดผลคือต้นไม้เจริญงอกงาม อันนี้คือเหตุและผลอันเป็นความจริงตามกฎธรรมชาติ ต่อมาหากเจ้าของสวนไปจ้างคนงานให้มาช่วยเหลือดูแลในการทำสวนโดยจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทน อันนี้เป็นกฎที่มนุษย์ตั้งขึ้นเอง โดยการสมมุติขึ้นมาว่าเมื่อคนงานทำสวนแล้วก็จะได้เงินตอบแทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ที่การทำงานของคนสวนจะทำให้เกิดผลคือมีเงินงอกเงยขึ้นมา ต่างจากการเจริญเติบโตของต้นไม้อันเป็นกฎที่จริงแท้แน่นอน       

แท้จริงแล้วการที่เราวางกฎสมมติขึ้นมาก็เพราะต้องการผลตามกฎธรรมชาติ เพราะถ้าไม่ต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงามแล้วจะวางกฎมนุษย์ให้คนทำสวนได้เงินเดือนไปทำไม ดังนั้น มนุษย์จึงต้องตระหนักรู้อยู่เสมอว่าสิ่งต้องการที่แท้จริงคือ ความเป็นจริงตามธรรมชาติไม่ใช่ตามสิ่งสมมุติ หากมนุษย์ขาดปัญญาหรือหลงผิดมัวยึดติดในกฎสมมุติ ไม่เข้าถึงหรือไม่สามารถเชื่อมโยงให้เข้าถึงความจริงแห่งกฎธรรมชาติได้ ความวิปลาสทั้งของชีวิตและสังคมก็จะเกิดขึ้นทันที

ทฤษฎีต่างๆ ที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วก็คือการพยายามที่จะเข้าถึงซึ่งความจริงที่เรียกกันว่า ธรรมชาติ นั่นเอง และจากทฤษฎีก็จะไปจัดโครงสร้างวางระบบกฎเกณฑ์ขึ้นในสังคมที่เรียกกันว่า กฎหมาย ขึ้นมา ซึ่งหากทฤษฎีนั้นไม่เข้าถึงธรรมคือแก่นแท้แห่งความจริงแล้ว ระบบที่จัดตั้งขึ้นมาบนฐานของทฤษฎีนั้นก็จะไม่สามารถให้ประโยชน์ที่แท้จริงยั่งยืนตามความต้องการของมนุษย์ได้

นักนิติศาสตร์หรือฝ่ายนิติบัญญัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายจะมีความสมบูรณ์ตามความมุ่งหมายได้ ย่อมต้องอาศัยผู้ร่างที่มีปัญญาพิเศษสามารถหยั่งรู้ถึงความจริงแห่งปัจจัยทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกฎแห่งธรรมและนำมาเชื่อมโยงกับการสร้างระบบกฎหมายในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและอย่างประสานสอดคล้องกลมกลืนกันเพื่อให้ได้ผลจริงตามธรรมนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม โดยที่ ระบบ กับ คน เป็นเหมือนเหรียญสองด้านหรือหน้ามือกับหลังมือที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ถึงแม้จะมีระบบกฎหมายที่ดีเลิศถูกต้องตามธรรมอย่างไร แต่หากคนยังเป็นปัญหาย่อมเป็นเรื่องยากที่ความสงบสุขจะเกิดมีขึ้นในสังคม อีกทั้งในความเป็นจริงระบบที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยคุณภาพของคนเป็นสำคัญ อาจกล่าวได้ว่าหากคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนดีมีปัญญา ระบบที่ดีย่อมเกิดมีขึ้นโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นคนไม่ดีมีปัญหา โอกาสที่ระบบดีจะเกิดขึ้นคงเป็นไปได้ยากยิ่ง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในหนังสือ ประชาธิปไตยจริงแท้คือแค่ไหน ว่า ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ให้ประชาชนปกครองตัวเอง เพราะประชาชนเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ เสียงประชาชนเป็นใหญ่เป็นเสียงสวรรค์ ดั่งวาทะของประธานาธิบดีลินคอล์นที่ว่า เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ดังนั้น คุณภาพของประชาธิปไตยจึงขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นกับอะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา ประชาธิปไตยจึงสัมพันธ์กับการศึกษาโดยตรง ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาคนให้สามารถปกครองตัวเองได้แล้ว การที่จะมาร่วมกันปกครองประเทศชาติที่รวมกันอยู่ก็เป็นไปด้วยดีไม่ได้

ตัวประชาธิปไตยคือ วิถีชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันและช่วยกันจัดสรรความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข ตัวแท้ของประชาธิปไตยจึงอยู่ที่การช่วยกันคิดช่วยกันทำ นำเอาสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนออกมาร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ร่วมกันให้เป็นสุขและเจริญงอกงาม ถ้าไม่มีตัวแท้หรือเนื้อแท้ของประชาธิปไตยนี้รูปแบบต่างๆ ที่ว่าเป็นเครื่องมือทั้งหลายก็หมดความหมาย

การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมาก หากตัดสินใจถูกก็ดีไป ถ้าตัดสินใจผิดก็อาจเกิดความเสื่อมความพินาศทุกอย่างทุกประการ การที่จะตัดสินใจผิดหรือถูกก็อยู่ที่ความเป็นคนดีและมีปัญญาคือมีคุณธรรมและมีความรู้ความเข้าใจเฉลียวฉลาด สามารถในการคิด เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนควรจะมี ถ้าประชาชนเป็นคนดี ตั้งใจดี มีความรู้ความเข้าใจ มีปัญญาชัดเจน คิดเป็น มองเห็นความจริงก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง

เสียงข้างมากตัดสินความต้องการได้แต่ตัดสินความจริงไม่ได้ ถ้าเราไม่ต้องการให้เสียงสวรรค์กลายเป็นเสียงนรกก็ต้องพัฒนาประชาธิปไตยให้ดี โดยพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพ ถ้าคนส่วนใหญ่โง่เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่างโง่ๆ

การศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดสติปัญญาที่จะมาประสานความต้องการให้ตรงกับความจริง ความถูกต้อง ความดีงามและประโยชน์สุขที่แท้ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจครอบงำของโลภะ โทสะ โมหะ ไม่เลือกตัดสินใจหรือทำการใดเพราะเห็นแก่จะได้ผลประโยชน์ส่วนตัว โดยมุ่งหาอำนาจความยิ่งใหญ่ หรือด้วยความเคียดแค้นชิงชังมุ่งทำลายใครหรือโดยไร้ความรู้ความคิดไม่มีวิจารณญาณ อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันที่จะไม่เอาอำนาจตัดสินใจไปยกให้แก่พ่อมดสังคม

จากที่กล่าวมาน่าจะสรุปได้ว่า มนุษย์จะอยู่อาศัยร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข ปลอดภัย และเจริญงอกงามได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ

1. สังคมนั้นมีกฎมนุษย์หรือระบบกฎหมายที่ดี มีความสอดคล้องสัมพันธ์กลมกลืนลงตัวกับความเป็นจริงแห่งกฎธรรมชาติ

2. ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์เป็นอย่างดี

โดยกลไกของระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจ ทำให้เอื้อหรือเกื้อหนุนต่อการศึกษาและพัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจในกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อันจะช่วยทำให้สังคมก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ แม้อาจมีล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกหรือล่าช้าไปบ้างซึ่งก็คงจะขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่จะได้รับอย่างแน่นอนคือการสั่งสมพอกพูนประสบการณ์และได้เรียนรู้ความผิดพลาดซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการสร้างรากฐานประเทศชาติบ้านเมืองให้มั่นคงแข็งแรงและพัฒนาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป

ต่างจากระบบเผด็จการที่อาจดีสูงสุดในระดับหนึ่งในช่วงแรก แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการคานดุลตรวจสอบการใช้อำนาจ ไม่ช้าไม่นานก็จะมีแต่ทรงกับทรุดและก้าวเดินถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นล่มสลายในท้ายที่สุด

แม้พฤติกรรมการกระทำของเหล่านักการเมืองบางกลุ่มบางฝ่ายที่ผ่านมาและความคิดวาจาในการหาเสียงเลือกตั้งที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่ในขณะนี้ จะทำให้หลายคนรู้สึกกระอักกระอ่วน ผะอืดผะอม หรือบางคนอาจถึงขั้นสะอิดสะเอียน ขยะแขยง แต่หากคิดใคร่ครวญไตร่ตรองดูให้ดีโดยไม่มีอคติมากเกินไปก็จะได้รับคำตอบว่า แม้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงในบ้านเมืองเราจะมีความหวังริบหรี่น้อยนิด แต่ก็ยังดีกว่าระบบเผด็จการที่อาจไม่มีแม้แต่ความหวังให้ได้สิ้นหวัง

ระบบดีคนดีย่อมดีแน่ ... หากสังคมใดพยายามสร้างระบบกฎหมายที่ดีมีความสอดคล้องสัมพันธ์กลมกลืนลงตัวกับกฎธรรมชาติ หลักนิติรัฐของสังคมนั้นย่อมพัฒนาก้าวหน้าเป็นหลัก “นิติธรรม” และถ้ามีการพยายามพัฒนาผู้คนในสังคมให้เป็นคนดีมีคุณธรรม รู้ผิดชอบชั่วดี มีหิริโอตัปปะ มีปัญญารู้แจ้งแห่งสัทธรรม มองกฎหมายว่าเป็นเพียงเครื่องฝึกตนหรือข้อหมายรู้ร่วมกันว่าควรจะอยู่ร่วมกันด้วยดีอย่างไรให้สงบสุขและมีชีวิตที่เจริญงอกงาม สังคมนั้นย่อมพัฒนาไปสู่สังคมในอุดมคติที่เรียกว่า ยุคพระศรีอาริย์ นั่นเอง

ระบบดีคนแย่พอแก้ไข ... หากสังคมใดมีระบบกฎหมายที่ดีมีความสอดคล้องสัมพันธ์กลมกลืนลงตัวกับกฎธรรมชาติ แต่ไม่มีการพัฒนาให้การศึกษาแก่ผู้คนที่ดีพอ ย่อมมีการพยายามแหกกฎละเมิดกติกา หาช่องว่างช่องโหว่ ตีความบังคับใช้กฎหมายแบบศรีธนนชัย เล่นแร่แปรธาตุสร้างอภินิหารทางกฎหมาย หรือแม้จะยินยอมอยู่ภายใต้กฎหมายแต่โดยดี แต่ก็มองว่ากฎหมายเป็นเครื่องบังคับให้ปฏิบัติตามซึ่งถือเป็นความรู้สึกต่อกฎหมายในระดับต่ำที่สุด สังคมนั้นย่อมไม่สงบสุขสร้างสรรค์ แตกแยกขัดแย้ง ขาดความรักสามัคคี อยู่ในสภาพบีบคั้น ฝืนแย้ง อึดอัด คับข้อง แห้งแล้ง เปล่าเปลี่ยว เดียวดาย ไร้ชีวิตชีวา อย่างไรก็ตาม โดยที่ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์มีสมองมีปัญญาสามารถฝึกหรือศึกษาและพัฒนาได้ จึงยังพอมีทางแก้ไขได้ หากสภาพสังคมตกต่ำย่ำแย่ถึงจุดๆ หนึ่ง ผู้คนในสังคมจะทบทวนตรวจสอบบทเรียนประสบการณ์และคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงถึงความอยู่รอดในอนาคต ซึ่งหากมีระบบที่ดีอยู่แล้วย่อมสามารถจัดการแก้ไขได้ไม่ยาก

ระบบแย่คนดีมีทางไป ... หากสังคมใดไม่มีระบบกฎหมายที่ดีมีความสอดคล้องสัมพันธ์กลมกลืนลงตัวกับกฎธรรมชาติ เช่น ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขาดความเสมอภาคเท่าเทียม มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมศูนย์อำนาจ ขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีระบบคานดุลตรวจสอบที่ดี เคร่งครัดตายตัวไม่ยืดหยุ่น หรือเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขตจนถึงขั้นที่เรียกว่าทำให้คนอยู่เหนือกฎหมาย ฯลฯ สรุปง่ายๆ สั้นๆ คือ กฎหมายไม่เป็นธรรมนั่นเอง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองยังพอจะเป็นคนดีมีคุณธรรม มีศักยภาพความรู้ความสามารถอยู่บ้าง (ซึ่งอาจเนื่องด้วยอิทธิพลของศาสนา ลัทธิความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรม มาตรการบังคับทางสังคม ฯลฯ) สังคมนั้นก็พอจะมีทางไป เพราะกฎหมายจะมีผลต่อเมื่อมีการบังคับใช้ แม้กฎหมายจะย่ำแย่เลวร้ายอย่างไร หากคนพยายามหลีกเลี่ยงไม่บังคับใช้หรือพยายามยืดหยุ่นผ่อนผัน อะลุ่มอล่วย ประนีประนอม มีเมตตาธรรม ย่อมสามารถประคับประคองให้บ้านเมืองพออยู่ได้

ระบบแย่คนไม่ไหวบรรลัยเอย... หากสังคมใดมีระบบกฎหมายที่ผิดเพี้ยนบิดผัน ขัดแย้งสวนทางไม่ลงรอยกับกฎธรรมชาติและผู้คนในสังคมถูกครอบงำด้วยอวิชชาไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎธรรมชาติและกฎมนุษย์ที่ดีพอ ท้ายที่สุดหลักนิติรัฐของสังคมนั้นจะแปรสภาพกลายเป็นหลัก “นิติสงคราม” คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออาวุธต่อสู้ห้ำหั่นทำลายล้างกัน ขึ้นชื่อว่าสงครามคงไม่ต้องถามถึงเรื่องความถูกต้องเป็นธรรม ความเมตตาปรานีใดๆ ทั้งสิ้น และแน่นอนที่สุดว่าสิ่งที่จะตามมาคือ ความโกรธเกลียด เคียดแค้นชิงชัง อาฆาตพยาบาท การคิดแก้แค้นเอาคืน ความแตกแยกขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็จะปะทุระเบิดและลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองไร้ซึ่งกฎเกณฑ์กติกาใดๆ สุดท้ายกลุ่มคนที่มีกำลังและอาวุธมากกว่าก็จะเข้ายึดกุมอำนาจปกครองด้วยระบบเผด็จการ ปราบปรามทำร้ายเข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการที่เด็ดขาดรุนแรง ก่อให้เกิดความเป็นทุกข์เดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และหากผู้นำเผด็จการนั้นเป็นคนโหดร้ายอำมหิตวิปริตป่าเถื่อนก็อาจนำพาสังคมก้าวไปสู่ยุคมืดเหมือนเช่นในอดีตเมื่อหลายร้อยปีก่อน

สถานการณ์บ้านเมือง ณ ตอนนี้ สิ่งสำคัญสูงสุดที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนคือ การร่วมกันกอบกู้สถาปนาหลักนิติรัฐที่ถูกต้องตามธรรมให้กับสังคม แล้วสร้างกระบวนการศึกษาเรียนรู้อย่างเป็นระบบครบองค์รวมและต่อเนื่องจริงจัง หากปล่อยให้หลักนิติรัฐผุพังทรุดโทรม ปล่อยให้ผู้คนในสังคมทะเลาะขัดแย้งกันโดยใช้ตัณหาและอารมณ์นำหน้าไปมากกว่านี้ ก็คงจะจินตนาการคาดเดาได้ไม่ยากว่าสภาพสังคมไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร

การยึดติดอยู่กับอดีตอันยาวไกล จะยิ่งทำให้อนาคตสั้นลง แต่หากไม่ให้คุณค่าความสำคัญกับอดีตเลย ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมีอนาคตอันยาวไกลได้ ดีที่สุดคือการเก็บอดีตไว้ในความทรงจำและอยู่กับปัจจุบันอย่างมีสติ แล้วใช้ความรู้และปัญญานำหน้าในการแก้ไขปัญหาทั้งปวง จินตนาการภาพสังคมในฝันว่าเราต้องการอยู่ร่วมกันแบบไหนอย่างไรในอนาคตที่จะก่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขสร้างสรรค์ดีงามมากที่สุด เมื่อได้ข้อสรุปที่ตกผลึกชัดเจนเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็มาเริ่มต้นพูดคุยกันถึงเรื่องหลักการกฎเกณฑ์กติกาและแนวทางวิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในฝันนั้นต่อไป นี่คือกระบวนการที่ผ่านการพิสูจน์จากการนำไปปรับใช้อย่างได้ผลมาแล้วในหลายประเทศ

หากเปรียบประเทศไทยเป็นเหมือนบ้าน ณ ตอนนี้ก็คงจะอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก แตะตรงไหนก็พบการผุพังตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานใด โจทย์ที่คนไทยต้องช่วยกันขบคิดคือ เรายังพอจะซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไขบ้านหลังนี้เพื่ออยู่อาศัยต่อไปได้อีกหรือไม่ ถ้าได้จะซ่อมแซมแก้ไขปรับปรุงส่วนไหนอย่างไร ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไร ช่วยกันรื้อเพื่อสร้างใหม่ เผาทิ้งแล้วตัวใครตัวมัน หรือปล่อยให้มันพังไปเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องคิดทำอะไร ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันอีกที ... ???

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะ Reset ระบอบประชาธิปไตยกันใหม่ โดยให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเหตุการณ์เรื่องราวนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงเมื่อวานนี้ เป็นเพียงแค่ความฝันที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง นับแต่นี้ไปเราจะอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ฝันร้ายเราจะใช้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ฝันดีเราจะใช้เป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สิ่งดีงาม เรามาเริ่มต้นสร้างบ้านแปงเมืองกันใหม่ด้วยการให้ประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำร่วมตัดสินใจ โดยมีตัวแทนสมาชิกแห่งรัฐ (Nation State) จากทุกภาคส่วนเข้าสู่กระบวนการดั่งที่ว่ามา ภายใต้กฎกติกาที่เปิดโอกาสให้ทุกคนทุกฝ่ายมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่และเสมอภาคเท่าเทียมกัน.

 

                                          

หมายเหตุ: เนื้อหาส่วนหนึ่งของบทความนี้นำมาจากหนังสือ ศาลยุติ‘ด้วย’ธรรม ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เสมสิกขาลัยเมื่อปีที่ผ่านมา ท่านใดสนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่ โทร : 063-8072613  Line ID : bigheadmonk

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net