Skip to main content
sharethis

'พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง' ชี้กรณีนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำลองประชามติปกครองตนเอง เป็นสิทธิเสรีภาพ ไม่ขัดต่อ รธน. - 8 พรรคประสานเสียงไม่เอาประชามติแยกดินแดน - สมช.นัดถกปมทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราช 12 มิ.ย.นี้


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

11 มิ.ย. 2566 สืบเนื่องจากกรณี กรณีขบวนนักศึกษาแห่งชาติ จัดปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง” และทดลองให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชนั้น

Voice online รายงานเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนประเด็นที่สังคมมีการพูดถึงกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการจำลองการลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการทำประชามติให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสิทธิในการปกครองตนเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าทราบหรือไม่ว่ามีหนังสือเชิญไปยังลูกพรรค พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เขาส่งหนังสือเชิญมาที่หัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค หนังสือมาวันที่ 25 พ.ค. 2566 ลงวันที่ 23 พ.ค. ระบุว่าจะจัดงานวันที่ 7 มิถุนายน เราเห็นว่าเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา จึงได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ซึ่งเป็นว่าที่ ส.ส.ในพื้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เอกสารที่ส่งมามีกำหนดการที่ระบุชื่อนักวิชาการหลายท่าน เช่น อ.มาร์ค ตามไท

"ต้องยอมรับว่าในเวทีปาถกต่างๆ ที่เป็นระหว่างประเทศ สันติภาพ ให้ความยอมรับท่าน ในยุครัฐบาลทหารก่อนๆก็ให้ท่านเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการ จึงได้มอบหมายให้มีตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นวิทยากรด้วย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยนักศึกษา เราต้องยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพทางความคิด การพิมพ์ การเขียน การโฆษณา หรือสื่อ เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าเราจะจำกัดสิทธิ์ตรงนี้ต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ นี่ก็เป็นการแสดงความเห็นของนักศึกษา ในรัฐธรรมนูญก็มีเขียนไว้ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ในหนังสือที่เชิญมาเป็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญมากกับการแสดงความคิดเห็น หากคณะรัฐมนตรีจะทำประชามติความเห็นเรื่องสำคัญๆ จะต้องไม่ทำโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำประชามติแบ่งแยกดินแดนทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญห้ามอยู่ ส่วนการแสดงความเห็นเป็นกรอบวิธีคิด ในเรื่องการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเราบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า มีหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมย์ของประชาชนในท้องถิ่น

"แต่คำว่าเอกราชก็เป็นคำพูดที่กระทบต่อความรู้สึก และความจริงแล้วพรรคประชาชาติได้กำเนิดขึ้นเพื่อจะสร้างเสถียรภาพทางด้านความมั่นคง เสถียรภาพทางด้านเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง วันนี้เราไม่มีเสถียรภาพเลยโดยเฉพาะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และพรรคประชาชาติเราต้องการจะสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น เป็นพรรคที่เรียกว่าพหุวัฒนธรรม ผศ.ดร.วรวิทย์ ก็ไปในกรอบนี้ครับ ไปในฐานะผู้แทนราษฏร ซึ่งไปพูดเกี่ยวกับระบบเศรษฐฐานคุณธรรม โดยเฉพาะระบบการเงินสหกรณ์ ซึ่งท่านก็อยากสื่อสารในเรื่องนี้ ถ้าเป็นพี่น้องมุสลิมเข้าสู่ระบบการเงินที่มีดอกเบี้ยก็ไม่ได้อีก" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

8 พรรคประสานเสียงไม่เอาประชามติแยกดินแดน

สำนักข่าวอิศรา รายงานเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กล่าวถึงกรณีนี้โดยยืนยันว่า แนวทางของพรรคก้าวไกลอย่างไรก็ต้องเป็นรัฐเดียว และการปกครองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทยต้องสอดคล้องกัน ซึ่งต้องสร้างการลดความขัดแย้งและลดความรุนแรงได้แน่นอน

ทั้งนี้ เท่าที่ตรวจสอบไปยัง นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคนของพรรคก้าวไกล ทราบว่าไม่ได้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว (สถานที่จัดกิจกรรมทดลองประชามติแยกดินแดน) และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่ม

เวลา 14.00 น.วันเดียวกัน คณะทำงานย่อยพรรคร่วมรัฐบาลว่าด้วยสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี มีการประชุมนัดแรกที่พรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคมาร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล , พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย , ส่วนพรรคประชาชาติ มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ และนายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรค, นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย เป็นต้น

หลังใช้เวลาหารือนานถึง 2 ชั่วโมง นายรอมฎอน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการวางกรอบการทำงาน ระดมความเห็นแต่ละพรรคในเบื้องต้น การตั้งสมมุติฐานของปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่ยังมีความคับข้องหมองใจ รวมถึงการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ดังนั้นวันนี้เราคุยกรอบกว้างที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ แต่ครั้งหน้าถ้าจะลงลึกรายละเอียดว่าจะวางกรอบสร้างสันติภาพ ตอบสนองแนวนโยบายอย่างไรให้กับประชาชน โดยนัดหารือที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิ.ย.

ที่ประชุมยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาวันนี้ อาจต้องลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือน โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร

นายรอมฎอน ยังบอกด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงกรณีเปิดตัวของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (ที่เสนอเรื่อง "ประชามติแยกดินแดน") โดยสัมผัสได้ว่า มีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่เรายังยืนอยู่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้า และจะกระจายอำนาจให้กับประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปัตตานี (ปาตานี) เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น ซึ่งการพูดคุยรับฟังความเห็นต่างๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน

"ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่า นี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้งและต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคไปเผชิญปัญหา แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา"

ส่วนการพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงนั้น นายรอมฎอน บอกว่า หน่วยงานความมั่นคงก็เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว ก็จะต้องมีการพูดคุย แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ก็ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม

ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น วันนี้ในวงประชุมยังมีความเห็นต่างกันอยู่ถึงแนวทางดังกล่าว แต่ในภาพใหญ่ก็มองว่า เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือการสนทนากับคู่ขัดแย้ง ซึ่งวิธีการของรัฐบาลใหม่ เราจะสร้างความแตกต่างจากก่อนหน้านี้

ส่วนความชัดเจนในการยุบ กอ.รมน.นั้น นายรอมฎอน บอกว่า เรื่องนี้ยังต้องมีการพูดคุยในคณะทำงาน และต้องเป็นฉันทามติร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ด้าน นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวย้ำในเรื่องกิจกรรมการทำประชามติแยกดินแดนของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติว่า ถ้าเป็นการทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชนและไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ

สมช.นัดถกปมทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราช 12 มิ.ย.นี้

โพสต์ทูเดย์ รายงานเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2566 ว่าพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 12 มิ.ย.นี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะประชุมติดตามกรณีที่มีการอภิปรายของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เรื่องการกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานีและมีการทำแบบสอบถามความเห็นที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้องกฎหมาย เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี ก่อนสรุปรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีตามลำดับ

ทั้งนี้ สมช.ได้รายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบกรณีดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่มีการจัดงาน  โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความเป็นห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าว เพราะเกรงว่า จะเกิดการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก จึงได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งตรวจสอบไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการทำความเข้าใจกับประชาชน

"การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะบทบาทของ ส.ส.ที่เพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งมา สามารถดำเนินการแทนได้อยู่แล้ว ด้วยการทำหน้าที่สะท้อนความต้องการ รวมทั้งปัญหาของประชาชน แล้วนำเข้าไปหารือเพื่อหาทางออกในสภาผู้แทนราษฎร”พล.อ.สุพจน์กล่าว
 
สำหรับรัฐบาล มีนโยบายสำหรับพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกฎหมายความมั่นคงที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้เกิดความสงบ ไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังสนับสนุน เรื่องวัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ ศาสนาและ การศึกษาอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีกลไกการพูดคุยสันติสุข ที่เปิดโอกาสให้หลายภาคส่วนเข้าร่วม ดังนั้นบรรดานักวิชาการ สามารถมาร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องแยกตัวไปทำอะไรสุ่มเสี่ยงให้เกิดความแตกแยก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net