Skip to main content
sharethis

‘ภูมิธรรม’ แจงเรื่องรายชื่อคณะกรรมการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ภาคส่วนใดไมได้ร่วมเป็นกรรมการก็จะมีการเชิญประชุมเพื่อรับฟังแนวทางกระบวนการทำประชามติและรัฐธรรมนูญใหม่ จะลดการทำประชามติให้เหลือน้อยครั้งที่สุดเพื่อประหยัดเงินและเวลา ส่วนที่เลี่ยงหมวด 1-2 เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก

3 ต.ค.2566 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ารายชื่อคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติที่ล่าช้านี้มาจากการสรรหาที่มีการคุยหลักการกันก่อนตามมติ ครม.เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา

ภูมิธรรมระบุถึงหลักการที่มีการพูดคุยกันว่า จะร่างรัฐธรรมนูญโดยทำประชามติกับประชาชนก่อน และให้หลักการมาว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างใหม่นี้ไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ในหมวด 1-2 และไม่แตะต้องพระราชอำนาจที่อยู่ในมาตราแทรกต่างๆ แต่มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเสร็จภายใน 4 ปีที่เป็นรัฐบาลโดยเสร็จสิ้นถึงกฎหมายลูกด้วย ถ้าจะยาวไปถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ประชาชนเห็นชอบ

รองนายกฯ กล่าวต่อถึงเหตุที่มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาครั้งนี้ขึ้นมาเพราะว่า ที่ผ่านมาวิธีการเสนอทำประชามติที่เคยทำกันมาก็มีอยู่ 2-3 วิธี ในการทำประชามติ วิธีแรกประชาชน 50,000 คนเข้าชื่อซึ่งวิธีนี้ต้องใช้เวลาตรวจสอบตัวตนค่อนข้างมาก ส่วนวิธีที่สองคือยื่นเสนอผ่านรัฐสภาใช้เวลามากเช่นกันและอาจถูกตีตกได้แล้วก็จะใช้เวลาเพราะมีกระบวนการทางกฎหมายเยอะ วิธีที่สามให้ ครม.มีมติทำประชามติที่ลัดขั้นตอนได้ซึ่ง ครม.ก็อยากเห็นว่าจะทำแล้วจะมีทิศทางอย่างไรจึงตั้ง คกก.ศึกษาขึ้นมาเพื่อคุยกติกากันก่อนว่าได้หรือไม่

ภูมิธรรมกล่าวว่าจากนั้นก็จะเร่งทำเรื่องนี้โดยยกเว้นเรื่องหมวด 1-2 และพระราชอำนาจตามที่กล่าวไป ส่วนที่เหลือจะทำอะไรก็โดยให้มีเหตุมีผลแล้วให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งเป็นกติกาเบื้องต้นที่คุยกันเพื่อให้คณะกรรมการชุดนี้เดินไปได้อย่างไม่ต้องมีหลักการที่คัดค้านกันไปมาจนไม่สามารถทำได้ ส่วนเรื่องรายละเอียดที่แตกต่างกันก็คุยกัน

รองนายกฯ กล่าวว่าตอนแรกตั้งใจจะให้คณะกรรมการมี 30 คนให้ทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ครอบคลุมก็เพิ่มมาเป็น 35 คนแต่ก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดแต่ก็ครอบคลุมมากที่สุด แล้วเมื่อได้มาแล้วก็จะเริ่มไปพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ไม่สามารถจัดคนมาให้ครบถ้วนได้ เช่นจะมีการเชิญอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ องค์การนักศึกษา หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร ประมง นักท่องเที่ยว กลุ่มเกษตรกร และสมาคมนักข่าวประเภทต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นประชาธิปไตย

ภูมิธรรมกล่าวว่าในกรรมการชุดนี้ก็ได้กำหนดว่าจะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถ้าสะดวกเข้ามาตามหลักการนี้ก็ได้ ถ้าไม่เข้ามาก็เป็นเอกสิทธิ์แต่ก็จะเชิญเข้ามาให้มากที่สุดแล้วพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้ามาคือพรรคเล็กๆ แต่ก็อาจจะเป็นกลุ่มที่เชิญมาคุย

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่าได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและมีการลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560” และในเอกสารนี้พูดชัดเจนว่ายึดรูปแบบอย่างไร มีกติกาที่ชัดเจนแล้ว ซึ่งรายชื่อของคณะกรรมการทั้ง 35 คน เป็นตามที่รายงานข่าวก่อนหน้านี้ และได้นัดหมายการประชุมนัดแรกเป็นวันที่ 9 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ส่วนข้อสรุปการทำประชามติคาดว่าจะมีภายใน 3-4 เดือนนี้หรือก่อนสิ้นปี

ภูมิธรรมกล่าวต่อส่วนเรื่องกระบวนการก็จะดำเนินไปแล้วก็จะดูข้อกฎหมายซึ่งเวลาที่ใช้ในการมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ประมาณ 3 ปีขึ้นไป ขึ้นกับว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้งเพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งมาเพราะฉะนั้นก็ต้องทำไปตามนั้น ซึ่งอาจจะมี 4-5 ครั้งแต่ถ้าปรับได้ก็อาจจะเหลือ 2-3 ครั้ง

“เราพยายามทำให้การขอประชามติเหลือน้อยที่สุด เช่น ขอประชามติว่าจะทำมั้ยทำแล้วร่างเสร็จแล้วขอประชามติว่าผ่านมั้ย ถ้าทำได้อย่างนี้ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแล้วก็ทำให้หลายอย่างสำเร็จได้”

ภูมิธรรมตอบคำถามสื่อว่าเรื่องที่ต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรือไม่นั้นว่า ภารกิจในการรับฟังภาคส่วนต่างๆ มีตั้งแต่คำถามใน 3 ประเด็นคือ กระบวนการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นอย่างไร ก็จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขด้วยว่าจะใช้อย่างไร จะเป็น สสร.ทั้งหมดหรือไม่ หรือเป็นเลือกทุกจังหวัดจังหวัดละคนหรือไม่ หรือเลือกทุกจังหวัดตามสัดส่วนประชากรหรือไม่ก็คงต้องดูข้อดีข้อเสีย หรือเลือกตั้งบางส่วนหรือแต่งตั้งบางส่วนเอาผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ที่เคยมีเข้ามาด้วยก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นรายละเอียดที่คุยกัน

ประเด็นที่สองคือหากมีกระบวนการทำประชามติเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่จะต้องมีประชามติกี่ครั้งก็เป็นประเด็นที่ต้องดูรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดรอบคอบ แต่อยากประหยัดทำให้น้อยที่สุดเพราะเดี๋ยวนี้ทำประชามติ 1 ครั้งก็ใช้เงิน 4-5 พันล้านบาทถ้าทำ 4 ครั้งก็ 1.6 หมื่นล้านบาทเป็นการใช้งบประมาณที่มาก ถ้ากฎหมายให้แค่ทำก่อนและทำหลังได้ก็อยู่ราวๆ 6-8 ล้านบาทก็จะดีที่สุดแล้วถ้าลดการทำประชามติได้ก็ลดเวลาลงได้ 3-4 เดือนก็จะได้รัฐธรรมนูญใหม่เร็วขึ้น

ประเด็นที่สามคือในการทำประชามติครั้งแรกควรจะเป็นอย่างไรก็คือคำถามในการทำประชามติจะครอบคลุมแค่ไหน สามารถเอาคำถามประชามตินั้นมาร่วมกับอันอื่นได้หรือไม่ก็เป็นภาระหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำ

“เราเปิดทุกอย่างยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 แล้วท่านทำอะไรให้เป็นประชาธิปไตยได้มากที่สุดเอาเลย มาคุยกันให้ตกผลึก แล้วยืนยันไว้อย่างหนึ่งว่านอกจากทำให้ใน 4 ปีแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับบนี้ต้องทำให้ผ่านเพื่อไม่ให้เสียหาย เมื่อจะทำให้ผ่านก็ต้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่คิดเห็นต่างกันหาจุดร่วมที่จะสามารถทำได้แล้วผมว่าประชาธิปไตยเป็นพัฒนาการพอเริ่มที่ดีขึ้นก็สามารถพัฒนาไปกว้างขวางมากขึ้นแล้วก็นำไปสู่ปรับแก้ไขได้อีกครั้งหนึ่ง”

ทั้งนี้มีนักข่าวที่อยู่ในการแถลงถามภูมิธรรมง่าจะมีการทำประชามติเมื่อไหร่และเหตุผลที่ ครม.ยกเว้นการแก้หมวด 1-2 ไว้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เคยมีการแก้ไขมาก่อน

ภูมิธรรมตอบในประเด็นที่สองก่อนว่า เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้พยายามคำนึงว่าจุดสำคัญที่เป็นปัญหาความขัดแย้งก็มีเรื่องนี้ ก็พยายามจะสลายขั้วความขัดแย้งแล้วหาทางที่จะทำให้ประเทศเดินทางไปได้มากที่สุดและไกลที่สุด อะไรที่เป็นปัญหาเดิมแล้วยังไม่ได้คลี่คลายก็งดเว้นไว้ก่อน

“ไม่ได้บอกว่าอันไหนถูกอันไหนผิด อันไหนดีไม่ดีแต่ว่าอย่างที่เรียนว่าต้องทำให้รัฐธรรมนูญผ่านให้ได้เมื่อจะทำให้รัฐธรรมนูญผ่านให้ได้เรื่องไหนที่ขัดแย้งกันอยู่เราก็หลีกเลี่ยง แล้วก็จะทำให้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่าความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้มีมาตรฐานวัดอย่างเดียว มันก็มีมากมีน้อยมีความพึงพอใจ แต่ทั้งหมดมันอยู่ในสังคมพหุ มันเป็นสังคมที่มีความแตกต่างกันมาก มันก็ต้องหาจุดที่ร่วมกันให้ได้ เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นจุดสำคัญที่สร้างปัญหาเราก็พยายามหลีกเลี่ยงแล้วก็มาถึงจุดนี้มันคงต้องทำอะไรอีกหลายอย่างแล้วต้องให้สังคมทั้งสังคมยอมรับไม่งั้นก็จะเป็นความขัดแย้งใหม่ที่เราสร้างขึ้นมาซึ่งก็ไม่ควร”

ส่วนประเด็นที่เรื่องที่ไอลอว์เคยส่งรายชื่อร่วมเสนอคำถามประชามติให้นั้น ภูมิธรรมระบุว่าไอลอว์เป็นองค์กรหนึ่งที่ตั้งใจจะเชิญมาร่วมแต่เห็นมีการไปออกรายการแล้วบอกว่าไม่อยากมาเป็นตัวแทนที่มาสแตมป์ให้แล้วอยากดูจากข้างนอก ตนก็ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องนี้เพราะตอนเชิญภาคประชาชนมาก็จะเชิญไอลอว์มาพูดด้วย ส่วนเอกสารที่มีการส่งมาก็จะเอามาทำด้วย และก็จะมีการเปิดช่องให้ประชาชนด้วย เพราะมติ ครม.ก็ชัดเจนว่าจะให้รับฟังความเห็นให้กว้างขวางและครบถ้วนมากที่สุดให้เป็นตัวแทนความคิดของคนทั้งหมดมากที่สุด

รองนายกฯ กล่าวถึงส่วนไทม์ไลน์ทั้งหมดยังไม่ชัดนัก แต่ประชามติครั้งแรกน่าจะมีไทม์ไลน์ที่ชัดถ้าข้อสรุปจบภายในสิ้นปีไม่เกินธันวาคมต้นปีหน้าก็เป็นกระบวนการที่ ครม.อนุมัติว่าให้ทำประชามติ ก็ส่งไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แล้ว กกต.ก็ต้องไปดำเนินการที่จะให้ทำประชามติ ก็ยังมีหลายขั้นตอน แต่เขาคิดว่าในการประชุมครั้งหน้ากับทุกคนให้เสร็จไปตามกรอบที่วางไว้หลังการประชุมก็จะมีการแถลงที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากไม่เสร็จก็ต้องชี้แจงว่าทำไมถึงไม่เสร็จและเป็นเหตุผลที่สาธารณชนยอมรับได้

ภูมิธรรมตอบคำถามนักข่าวถึงเรื่องการทำรัฐธรรมนูญให้ป้องกันรัฐประหารได้ว่าที่ผ่านมาก็เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ต้องให้พี่น้องประชาชนตื่นตัวแล้วก็รับรู้เพราะว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่อยากเห็นเพราะพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าพอมีรัฐประหารทำให้กลไกอำนาจไปรวมศูนย์อยู่ถึงแม้ว่าจะให้อำนาจนั้นไปในทางที่เกิดประโยชน์อยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่พิสูจน์แล้วว่าไร้ผล

“การรัฐประหารครั้งนี้สุดท้ายมันก็บอกแล้วว่านำประเทศไปสู่จุดล้มเหลวพอสมควร เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น สำนึกที่มากขึ้นของพี่น้องประชาชนเป็นตัวสำคัญในการทำให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก ที่ผ่านมาเราเคยมีกระบวนการประชาชนเกิดขึ้นแล้วก็พยายามสร้างจิตสำนึกลงไป แต่มันก็ 15 ปีมีครั้งนึง อันนี้ก็ยืนยันไม่ได้ว่ามันจะเลิกแต่เราก็พยายามสร้างกลไกให้มันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

ภูมิธรรมตอบคำถามเรื่องสัดส่วนที่มีคนจากพรรคเพื่อไทยเยอะนั้นก็เพื่อไปทำงานแล้วที่ไปก็ไม่เกิน 5 คนจากทั้งหมด 35 คนก็คงทำอะไรไม่ได้มากแต่ก็เพื่อให้ทำงานผลักดันให้เรื่องนี้เสร็จเร็วที่สุด เพราะหลายคนอาจจะมีงานอื่นต้องทำแต่คนของพรรคก็จะเข้าไปทำงานพื้นฐานให้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net