Skip to main content
sharethis

เลขา ครป. เรียกร้องรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. ไม่ต้องรอประชามติ พิสูจน์ตนเองไม่ต้องการสืบทอดอำนาจระบอบเดิม

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) มีการจัดเวทีอภิปรายเรื่อง "กระบวนการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย แก้ไข-ร่างใหม่-ประชามติ?" นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า 50 ปี 14 ตุลาผ่านไป คนไทยยังเรียกร้องรัฐธรรมนูญอยู่เหมือนเดิม

ตนเห็นว่าส่วนประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนมีอยู่ 5 ส่วนในขณะนี้คือ

1. คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ประกอบด้วยทุกพรรคการเมืองยกเว้นพรรคก้าวไกลเข้าร่วม คณะกรรมการแต่งตั้งอนุกรรมรับฟังความคิดเห็น และอนุกรรมการกำหนดจำนวนการประชามติ ซึ่งวันนี้มีการนำเสนอ 1 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ซึ่งตนเห็นว่าประชามติแค่ครั้งเดียวเท่านั้นเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 วรรค 8 หลังจากมีคณะ ส.ส.ร.ร่างฉบับใหม่เรียบร้อยแล้วจะประชามติอีกรอบก็ได้

2. การประชามติ ตามคำพิพากษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญเก่าผ่านประชามติมาในสมัยคสช. และครั้งที่ 2 เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่นั่นคือการพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในระบบกฎหมายมหาชน ในระหว่างนั้น  ไม่เกี่ยวกับการเสนอร่างกฏหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 (8) ซึ่งรัฐบาลสามารถเสนอกฎหมายนี้ได้เลยตามที่หาเสียงไว้ จะสนอคำถามพ่วงยกเลิก ส.ว.แต่งตั้งที่ค้ำบัลลังก์อำนาจหลังจากการเลือกตั้งร่วมด้วยเลยก็ได้ 

3. พรรคการเมือง ตอนนี้ประชาชนมีความหวังกับพรรครัฐบาล 2 พรรคที่มีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง และผ่านประชามติประชาชน รวมถึงออกกฎหมายให้รัฐประหารเป็นความผิดฐานกบฎ พรรคเคยชูจุดเด่นแก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน และแก้ปมแรกของทุกปัญหา ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องทวงถามความจริงใจจากพรรคเพื่อไทยในเรื่องดังกล่าว ซึ่งตนอยากให้เวลารัฐบาลได้ทำงานก่อน 3 เดือน แต่วันนี้มีคนพูดว่า "Pheuthai will not do now they think that they will replace Prayuth and will inherit everything from the present system" พรรคเพื่อไทยต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหานี้ให้ได้

 ส่วนพรรคประชาชาติมีนโยบายให้ทำประชามติการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วยเช่นกัน โดยให้ประชามติเรื่องจังหวัดจัดการตัวเองหรือเลือกตั้งผู้ว่าราชการด้วย 

4.โจทย์ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ปัจจุบันตั้งอยู่บนวิกฤตการเมืองที่มีข้อเสนอว่า

1) ต้องจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ของรัฐท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางใหม่ ความเป็นราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐเดียวแบ่งแยกมิได้ แต่มีการแบ่งเขตการปกครองและการบริหารเป็นจังหวัด ที่มาด้วยการกระจายอำนาจ 

2) การได้มาซึ่งรัฐบาล หลายคนเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้มีการเลือกตั้งรอบสอง เพื่อแยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายรัฐสภา เพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองมีความเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก โดยคุมทั้งฝ่ายคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา และแก้ปัญหานายทุนครอบพรรคด้วย รวมถึงที่มาของฝ่ายตุลาการต้องยึดโยงประชาชนผ่านระบบรัฐสภา แก้ ระบบการเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองให้สอดคล้อง

3) สิทธิเสรีภาพของประชาชน และชุมชน การศึกษา การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลัง การปฏิรูปตำรวจและกองทัพ เป็นต้น

4) ที่มาและอำนาจหน้าที่องค์กรอิสระ ต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย และ 5) การจัดการเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด การจัดการทรัพยากรสาธารณะของรัฐและประชาชน  ต้องสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ

5. การนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นเป็นคู่ขนานของการผลักดันรัฐธรรมนูญเนื่องจากภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญก็มีการนิรโทษกรรมตนเองด้วย การปรองดองและความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ควรจะต้องเกิดขึ้นในรัฐบาลเพื่อไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net