Skip to main content
sharethis

สมัชชา ครป. เลือก 'ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์' ประธานคนใหม่ ชี้ปัญหา 'รัฐธรรมนูญ, การกระจายอำนาจ, ทุนผูกขาดเศรษฐกิจกำกับการเมือง' เรื่องเร่งด่วนรัฐบาลต้องรีบแก้

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ครป. แถลงผลสมัชชาและข้อเสนอ ครป.ต่อรัฐบาลและการพัฒนาประชาธิปไตยไทย โดยมี นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ อดีตประธาน ครป. นายเมธา มาสขาว อดีตเลขาธิการ ครป. และผู้ประสานงาน 30 องค์กรเพื่อประชาธิปไตย น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คนใหม่ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล  เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ  และรองประธาน ครป. รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา และรองประธาน ครป. นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และรองประธาน ครป. น.ส.ณีรนุช  จิตต์สม รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และรองเลขาธิการ ครป.  ร่วมแถลง

นายเมธา มาสขาว รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า โจทย์ประชาธิปไตยไทยในตอนนี้ มี 2 ข้อ คือการกระจายอำนาจทางการปกครอง กับการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และมีเงื่อนไข 3 ข้อที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไข เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ นอกจากการแก้ปัญหาปากท้องเศรษฐกิจ คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทบทวนบทบาท ส.ว. 2.การที่เศรษฐกิจผูกขาดโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จะแก้ไขให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร 3.การนิรโทษกรรมคดีการเมืองให้ประชาชน คืนประชาธิปไตยกลับมาใหม่ แต่ต้องไม่ลักไก่คดีทุจริตคอร์รัปชั่นและอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองด้วย

คำถามหลักก็คือ รัฐบาลจะแก้ไขเรื่องเหล่านี้อย่างไร ปัจจุบันทุนผูกขาดออกแบบการเมืองมากขึ้น การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบได้อย่างไร การสร้างความเข้มแข็งในการตรวจสอบคอร์รัปชั่นภาครัฐจะทำอย่างไร การปฏิรูปตำรวจและกองทัพ จัดระเบียบใหม่ จะทำโรดแมฟออกมาได้ไหม รวมถึงการการกระจายอำนาจพร้อมงบประมาณไปยังจังหวัดต่างๆ ควรเป็นงานหลักของรัฐบาลที่จำเป็นต้องรีบทำและตอบคำถามประชาชน

ตนอยากประเมินผลงานรัฐบาล 6 เดือนว่า ยังไม่เห็นผลงานรัฐบาลที่จับต้องได้เรื่องใหญ่ๆ ข้างต้น นอกจากการเดินทางโรดโชว์ต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับมา แต่คนไม่รู้ว่านายกฯ มีอำนาจเต็มหรือไม่ เพราะใครหลายคนหันมาเจรจากับผู้อยู่เบื้องหลังแทน ผลงานที่น่าสนใจและพยายามทำได้ดีคือรัฐบาลการพยายามแก้ไขปัญหาในพม่าที่มีผลกระทบต่อไทยและบทบาทอาเซียน ซึ่งนายกฯ ควรตั้งคณะทำงานที่นายกฯ เป็นประธานโดยเป็นกลไกบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ และอัพเดรสงานทุกๆ 3 เดือน โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบจากสงครามภายในพม่าต่อไทยและบทบาทประเทศไทยในการสร้างสันติภาพ การปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ การแก้ไขเศรษฐกิจผูกขาด การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ การกระจายทรัพยากรและพลังงาน เพราะปัจจุบันแต่ละหน่วยงานของรัฐบาลทำงานกันสะเปะสะปะและล่าช้า รวมถึงกระทรวงทบวงกรมมักมีปัญหาขัดแย้งกันเอง

นอกจากนั้น รัฐบาลควรปรับ ครม. ใหม่ ใช้คนให้เหมาะสมกับงานและความเชี่ยวชาญ แทนการแบ่งโควต้าทางการเมืองแล้วให้หัวหน้ากลุ่มเป็นรัฐมนตรี อยากให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอผู้แทนของตนที่เหมาะสม มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถสูงมาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ประเทศไทยมีโอกาสเจริญก้าวหน้าได้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปไกล

ด้าน น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) คนใหม่ แถลงแนวทางครป. กับการปฏิรูปการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยไทยว่า สถานการณ์โลกทวีความรุนแรง ทั้งในเชิงกายภาพ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาพายุ ไต้ฝุ่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว pm 2.5 ภูมิอากาศบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน ทั้งปัญหาโรคระบาด ในทางการเมือง มีความขัดแย้งรุนแรง เกิดสงครามในหลายภูมิภาค ทั้งในระหว่างประเทศ สงครามกลางเมืองใกล้บ้านเรา ในทางเศรษฐกิจ มีการแข่งขันเกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินไม่เสถียรแน่นอน มีการสู้กันทางเทคโนโลยี การใช้ธุรกิจสีเทา ลักษณะสังคมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงมาก และประชากรสูงวัยมากขึ้น 

สถานการณ์โลกและสงครามในประเทศเพื่อนบ้านยังเป็นประเด็นท้าทาย แม้ประเทศไทยจะยังไม่ตกเป็นประเทศด้านหน้าของสงครามตัวแทนเหมือนเช่นในคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ แหลมมะละกา หรือสงครามกลางเมือง เช่น พม่า แต่การครอบงำอุดมการณ์ทางความคิดในแวดวงวิชาการที่แอบอิงมหาอำนาจสองสามฝ่าย ก็เป็นการเมืองเชิงซ้อนของมหาอำนาจที่กดทับสถานการณ์การเมืองภายในอยู่เช่นกัน

ความเปราะบางที่โลกเผชิญอยู่ จึงส่งผลกระทบต่อไทยทุกด้าน เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยเราต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยกระแสคลื่นนานาจะโหมกระหน่ำกระทบไทยอย่างแน่นอน

ประเทศไทนจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ให้เป็นธรรม ให้เท่าทันกับสถานการณ์โลก มิเช่นนั้น ไม่เพียงแต่ประเทศไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังรั้งท้ายในชุมชนประชาคมโลก แต่หายนะบรรดามีคงจะมาสู่ประเทศไทยในเร็ววัน

6 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงบริหารประเทศด้วยความไม่แน่นอน นักลงทุนไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล การเจรจากับต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจในข้อตกลง ประกอบกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความไร้ฝีมือของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจ ตัวอย่างของการจัดงบประมาณตามแบบราชการ แต่ไม่สะท้อนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ มีการคอร์รัปชั่นเชิงสถาบัน – เชิงโครงการมากขึ้น ที่ระบบราชการเอื้อต่อการคอร์รัปชั่นมาตั้งแต่รัฐบาลยุคก่อน

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางการเมือง, ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ, ประชาธิปไตยทางสังคมที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน ยังดำเนินต่อไป เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองข้อเสนอของภาคประชาชนได้ การสถาปนาระบอบ “ราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” เป็นพลวัตรการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ 2475 ปัจจุบัน มีการปะทะกันระหว่างแนวคิด “เสรีประชาธิปไตย VS จารีตอนุรักษ์นิยม” ชัดเจนขึ้น เป็นสถานการณ์ความรุนแรงที่น่าห่วงใย แม้ว่าในความขัดแย้งนั้นจะมีความหลากหลายท่ามกลางแนวคิดพหุสังคม 

โดยที่ผู้มีอำนาจยังคงมุ่งแก่งแย่งผลประโยชน์ระหว่างกัน ใช้อำนาจสามานย์อยุติธรรม double standard กดทับเอารัดเอาเปรียบ ไม่เปิดพื้นที่ให้ศักยภาพต่างๆที่ไทยมีอย่างล้นหลามได้เติบโตพัฒนานำไปสู่การร่วมกันผลักดันประเทศให้รุกหน้า กลุ่มผู้มีอำนาจยังคงมุ่งหน้ากีดกั้นเบียดขับเพื่อหวังกอบโกยเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องให้มากที่สุด

ในทางเศรษฐกิจ การผูกขาดของกลุ่มทุนเป็นไปอย่างเหนียวแน่น ไม่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มผู้มีศักยภาพอื่นๆได้เติบโต ขณะที่เปิดให้กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาเบียดบังย่ำยีทุนเล็กทุนน้อยในประเทศ  สหภาพแรงงานต่อสู้กับทุนนิยมเสรีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มทุนเดิมได้ผนวกกับกลุ่มทุนใหม่ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เคยได้ปกครองประเทศ แต่ถูกปกครอง ค่าจ้างไม่เป็นธรรม ต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงถึงอยู่ได้ กลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ยึดกุมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ  ไม่ตอบสนองโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยรแปลงอย่างรวดเร็ว  ระบบสาธารณสุขยังขาดคุณภาพและเลือกปฏิบัติ หลายมาตรฐาน

โดยทางออกของประเทศ จึงต้องออกแบบกลไกใหม่โดยเร็ว โดย ครป.จะมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญ คือ 1.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเปิดพื้นทึ่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ  เพื่อปรับปรุงแก้ไขโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ไม่เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจบาตรใหญ่ตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจ จนเซาะกร่อนบ่อนทำลายล้มล้างประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่สร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลย์ใหม่ บนฐานธรรมาภิบาลที่ยึดโยงกับประชาชน คำวินิจฉัยตัดสินสามารถเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ได้รับการยอมรับอย่างหมดสิ้นข้อสงสัย (Beyond a Reasonable Doubt) มิใช่ดังที่เป็นอยู่ และมุ่งพัฒนาระบบการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ที่ให้ความสำคัญกับประชาชนโดยเฉพาะกับสัดส่วนผู้หญิงในการบริหารประเทศ นิติบัญญัติและตัดสินใจทางการเมือง ออกแบบโครงสร้างลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

2.การออกกฎหมายนิรโทษกรรม  เนื่่องจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 สร้างไฟความขัดแย้ง จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายระลอก ตั้งแต่ การชุมนุมปี 2549 การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยคนเสื้อแดงในช่วงปี 2552 – 2553 การต่อต้านรัฐประหารในปี 2557 รวมถึงการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 ประชาชนที่ออกไปแสดงออกทางการเมือกลับได้รับผลกระทบกลับมาในรูปแบบของภาระทางคดี

3.การกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยให้จังหวัดจัดการตนเอง ภาคประชาชนทำงานเชิงเครือข่ายต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการศึกษานวัตกรรมประชาธิปไตยในชุมชนจังหวัดต่างๆ การสร้างพื้นที่กลาง และการสร้างภาคีเพื่อการกระจายอำนาจ รวมถึงการรื้อฟื้นสภาพัฒนาการเมือง

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธาน ครป. กล่าวว่า อยากให้มีการเลือกเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมาย จังหวัดจัดการตัวเอง แต่ละจังหวัดแต่ก็ยังไม่เป็นผล แม้หลายพรรคการเมืองมีนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจเพื่อการหาเสียง

ดังนั้น ประเทศไทยควรสร้างความเข้มแข็งจากด้านล่างขึ้นมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศซึ่งเป็นทิศทางการกระจายอำนาจที่สำคัญ เช่นการสร้างสภาพลเมือง การสร้างพื้นที่กลางเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตนขอเสนอ อยากให้รัฐบาลร่วมมือกับฝ่ายค้านเสนอพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยอาจเริ่มเป็นรายจังหวัดที่พร้อมก่อนก็ได้ สร้างพื้นที่กลางให้ประชาชนมารวมกันเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่และสนับสนุนงบประมาณ เช่น สภาพลเมือง  เป็นต้น

นางเรืองรวี พิชัยกุล รองประธาน ครป. และขบวนผู้หญิงกับการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากล วันนี้ผู้หญิงและเพศสภาพสามารถเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 20% ถือเป็นมิติใหม่ในประชาธิปไตยแบบไตร่ตรอง  เริ่มต้นใหม่ควรส่งเสริมให้บทบาทสตรีเข้าสู่การพัฒนาประเทศให้มากถึงครึ่งหนึ่งของสภาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวว่า การรณรงค์พัฒนาประชาธิปไตยไม่มีที่สิ้นสุด ต้องพัฒนาต่อเนื่อง เนื่องจากสาระสำคัญคือการสร้างดุลอำนาจในสังคม ที่ผ่านมาอำนาจทุนอยู่เหนือรัฐ ดังนั้นจะต้องสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสร้างดุลอำนาจใหม่ โดยใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมืและกระบวนการ 

โดยเฉพาะในการสร้างนโยบายสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดและรัฐบาลนำไปปฏิบัติ และตนอยากให้รัฐบาลรักษาสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ให้ได้ เพราะนโยบายที่เคยหาเสียงพรรคการเมืองย่อมได้ทำการบ้านมาอย่างดีแล้ว ถึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศได้ 

ประการสุดท้าย ประเทศไทยต้องแก้ไขการรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ ไม่ให้ทุกปัญหาต้องเข้ามาแก้ไขที่กรุงเทพฯ มีปัญหาที่เชียงใหม่หรือที่ภูเก็ตก็สามารถแก้ที่พื้นที่ได้ ไม่ใช่มาแก้ที่กรุงเทพอย่างเดียว และคงถึงเวลาที่ ครป.คงต้องรวมพลังคนร่วมใหม่ช่วยกันเปลี่ยนแปรงประเทศไทย .

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการ ครป. ชุดใหม่ ประจำปี 2567-2568 มีดังนี้

ประธาน   
น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์

รองประธาน   
ผศ.ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต รับผิดชอบงานวิชาการโดยเฉพาะประเด็นรัฐธรรมนูญ/การเมือง
รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา รับผิดชอบประเด็นด้านเลือกตั้ง/ภาคกลาง+ตะวันออก
ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการกระจายอำนาจ รับผิดชอบประเด็นด้านกระจายอำนาจ
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ รับผิดชอบประเด็นด้านแรงงานนอกระบบ และภาคอีสาน
นายประพจน์ ศรีเทศ ภาคีพลเมืองสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รับผิดชอบประเด็นด้านสังเกตการณ์เลือกตั้ง/ภาคเหนือ
นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) รับผิดชอบประเด็นผู้หญิงกับการเมือง 
นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ผู้แทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) รับผิดชอบประเด็นแรงงาน
นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน รับผิดชอบเชื่อมกับสภาองค์กรชุมชน/ภาคใต้
นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รับผิดชอบเชื่อมประเด็นปัญหาสลัมและปัญหาร้อนอื่นของภาคประชาชน

เลขาธิการ   
(อยู่ระหว่างการสรรหา)
รองเลขาธิการ    
น.ส.ณีรนุช จิตต์สม รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

กรรมการ 
นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) 
นายสุปัน รักเชื้อ สื่อมวลชน 
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ
คุณชัชชญา สิริวัฒกานนท์ (บลูม) กลุ่ม Non-Binary ประเทศไทย
คุณวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD.)
นายสมควร พรหมทอง เครือข่ายประชาสังคมภาคใต้
นายกานต์ ธงไชย มูลนิธิเด็ก เครือข่ายปฏิรูปการศึกษา  
ดร.เนรมิตร จิตรักษา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย
นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ
นายณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช กรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net