Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองสูงสุดยกเลิกคำสั่งห้ามฉายหนัง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ของกองเซ็นเซอร์และยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 5 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้สร้างหนัง “มานิต” สะท้อนสู้คดีกันนานกว่า 11 ปีทำให้เสียโอกาสที่หนังจะได้ฉาย นักแสดงไม่ได้รับโอกาสที่ควรได้ แต่คำพิพากษานี้ยังคงสำคัญต่อวงการหนังไทยเพราะกองเซ็นเซอร์จะต้องใช้ดุลพินิจระมัดระวังกว่านี้ในอนาคต

20 ก.พ.2567 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีที่มานิต ศรีวานิชภูมิ และสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ ภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (หรือที่เรียกกันว่า กองเซ็นเซอร์) ให้เพิกถอนคำสั่งห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ดังกล่าวพร้อมเรียกค่าเสียหายจากเงินทุนที่ใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,530,388.55 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีนี้ศาลได้สั่งให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ  ยกเลิกการห้ามฉายภาพยนตร์และให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนละเมิดเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แม้ว่าจะมีการเรียกค่าเสียหายไปเป็นเงินจำนวน 7 ล้านกว่าบาทซึ่งเป็นค่าเสียหายจากเงินทุนผลิตภาพยนตร์ไปด้วยก็ตามเพราะศาลเห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทุนที่ต้องใช้ผลิตอยู่แล้ว

ผู้อำนวยการสร้างฯ เห็นว่าการต่อสู้คดีเป็นเวลา 11 ปีกับคดีนี้ใช้เวลายาวนานเกินไปและความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่เป็นธรรม เนื่องจากทำให้ภาพยนตร์ นักแสดงและผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเสียโอกาสไปหลายเรื่อง ระหว่างที่สู้คดีอยู่นี้มีนักแสดง 3 คนที่ร่วมแสดงในเรื่องก็เสียชีวิตไประหว่างรอที่มีการพิจารณาคดีนี้ทั้งที่พวกเขาควรจะได้รับโอกาสที่ควรได้จากการมาร่วมแสดงในภาพยนตร์หากได้มีการฉาย

มานิตย์ยังมีความเห็นต่อคณะกรรมการเซ็นเซอร์ด้วยว่า การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการไม่ได้มีความเสมอภาคที่ผ่านมาภาพยนตร์เรื่องดาวคะนองเองที่มีการพูดถึงประเด็นเรื่อง 6 ตุลาฯ ก็สามารถผ่านมาได้ อีกทั้งยังมีระบบการจัดเรตภาพยนตร์อยู่แล้วแต่กลับเลือกใช้การเซ็นเซอร์หนังแทน ซึ่งในทางคดีเขาก็ได้ต่อสู้ว่าการใช้ดุลพินิจแบบนี้ของคณะกรรมการยังเป็นการเลือกปฏิบัติอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าคำตัดสินวันนี้สำคัญมากและถ้าหากศึกษาคำตัดสินของศาลแล้วก็จะเห็นว่าศาลมีความเข้าใจในเนื้อหาภาพยนตร์มากกว่าคณะกรรมการเสียอีก และคำตัดสินวันนี้ก็จะทำให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ และหน่วยงานราชการที่ดูแลเกี่ยวกับการภาพยนตร์จะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการวินิจฉัยหรือทำอะไรที่จะไปกระทบต่อเสรีภาพของผู้สร้างภาพยนตร์ไทยทำให้คำตัดสินของศาลในวันนี้มีความสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทยมาก

“การต่อสู้ที่เราไม่ยอมแพ้ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนมาถึงศาลปกครองสูงสุดก็ทำให้เห็นว่าผู้สร้างหนังไทยจะต้องไม่ยอมให้เกิดการละเมิดแบบนี้ ถ้าเราไม่รู้ก็ไม่มีใครที่จะกล้าที่จะทำหนังที่มีความท้าทายหรือมีความแตกต่างจากกระแสหลักเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากแล้วก็ส่งเสริมกำลังใจให้กับผู้สร้างภาพยนตร์อย่างมาก” มานิตกล่าว

ข้อมูลจาก iLaw ระบุว่าคดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ คณะที่ 3 ที่มีพล.ต.ต.เอนก สัมพลัง เป็นประธาน มีมติห้ามฉายภาพยนตร์ เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” โดยให้เรต “ห” (ห้ามฉาย) คณะกรรมการอ้างว่าเนื้อหาในภาพยนตร์ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3) และตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ตามมาตรา 26(7)

สำหรับเนื้อหาในภาพยนตร์ดังกล่าว เป็นเรื่องราวตำนานการเมืองและไสยศาสตร์ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่อง “แม็คเบ็ธ” ของวิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่องราวดำเนินไปพร้อมกันในสองโลกที่สะท้อนภาพกันไปมารระหว่างโลกของโรงละคร-โลกของขุนพลกระหายเลือด มักใหญ่ใฝ่สูง งมงายในไสยศาสตร์ ผู้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นราชาโดยฆาตกรรม และ โลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของนักปกครองเผด็จการของประเทศสมมติแห่งหนึ่ง ผู้ที่งมงายในไสยศาสตร์ โหดเหี้ยม และบ้าอำนาจ ซึ่งมีชื่อเรียกเพียงว่า ‘ท่านผู้นำ’ และภริยาไฮโซน่าสะพรึงกลัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมจะสั่งให้ห้ามฉาย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับทุนจากกองทุนไทยเข้มแข็งจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่อยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน

แบนต่อเนื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” เหตุเนื้อหาสร้างความแตกแยก

หลังมีคำสั่งห้ามฉาย ผู้สร้างดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้น แต่ศาลมีคำพิพากาให้ยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาหลายฉากคล้ายเหตุการณ์รุนแรงในไทยคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519  และอาจสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นแก่ญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตหรือร่วมเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังสร้างความแตกแยกให้คนในชาติได้ การห้ามฉายของคณะกรรมการจึงชอบด้วยกฎหมายให้ยกฟ้องและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้สร้างภาพยนตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net