Skip to main content
sharethis

หลังพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โจทย์สำคัญเรื่องหนึ่งที่ถูกทวงถามคือ การจัดการกับคดีการเมืองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวช่วง 2563-2564 ซึ่งทางออกของฝ่ายบริหารที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ การออกกฎหมาย ‘นิรโทษกรรม’ ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยพยายามนำเรื่องนี้เข้าสู่การจัดการปัญหาในรัฐสภา 

ขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย เสนอให้ตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษก่อน เพื่อให้ทุกส่วนได้พูดคุยกัน ในเดือน ก.พ.2567 สภามีมติตั้ง กมธ.วิสามัญ โดยมีตัวแทนจากทุกพรรคเข้าร่วม ประชุมร่วมกันอยู่ 6 เดือน ดูทุกเอกสาร ทุกรายงาน ทุกกฎหมาย ทุกงานวิชาการ และฟังเสียงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ออกมาเป็น ‘รายงานผลการศึกษา’ ซึ่งสรุปเป็น 3 แนวทางแบบไม่ฟันธงสำหรับ ‘คดีอ่อนไหว’ (อ่านรายละเอียด)

หากดูภาพรวมการอภิปรายหลายชั่วโมงในวันที่ 17 ต.ค. ก่อนรองประธานสภาจะปิดการประชุมไปก่อนลงมติ พบว่า พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาธิปัตย์-พรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ไม่เห็นด้วยกับรายงานของ กมธ. เพราะการมีข้อเสนอทางเลือกเกี่ยวกับการรวมมาตรา 112 อยู่ด้วย แม้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณา เสียงคัดค้านนั้นสอดประสานกันอย่างดี อาทิ

สส.ภูมิใจไทย เชื่อมโยงไปไกลว่า การนิรโทษกรรมเท่ากับเป็นการยกเลิก ‘มาตรา 112’ ขณะที่ทางประชาธิปัตย์ระบุว่า ในประวัติศาสตร์การนิรโทษกรรมที่ผ่านมาไม่เคยมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 และมันจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิดสถาบัน รวมถึงอาจขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งยังเห็นเช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติว่าการรับรองรายงาน กมธ.ที่แม้จะไม่ฟันธงว่านิรโทษกรรมจะรวมมาตรา 112 หรือไม่ ก็เป็น ‘สารตั้งต้น’ สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่รวมมาตรา 112 ด้วย 

กมธ.ลุกขึ้นชี้แจงหลายคน โดยย้ำว่า

1. กฎหมายนิรโทษกรรมช่วง 6 ต.ค.19 นั้นมีจำเลยที่โดยคดีมาตรา 112 ด้วย ที่บอกว่าไม่เคยนิรโทษกรรมมาตานี้จึงไม่เป็นจริง

2. การนิรโทษกรรม แม้หากรวมความผิดมาตรา 112 ก็ไม่ได้แปลว่าจะยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ตัวกฎหมายยังอยู่ หากทำผิดอีกก็ยังต้องโดนลงโทษ เพียงแต่การนิรโทษกรรมเป็นการยกเว้นความผิดบางช่วงเวลาเพื่อออกจากความขัดแย้ง

3. มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่เกี่ยวข้องกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 6 เป็นการบัญญัติเพื่อเน้นย้ำสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และผู้ใดจะฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ 

4. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องล้มล้างการปกครองเพราะการเสนอแก้มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลนั้น ศาลมิได้ห้ามแตะต้องเรื่องนี้ และแม้จะเสนอแก้ไขก็กระทำได้หากเป็น ‘กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ’ 

ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคเพื่อไทยนั้น มี สส.ที่อภิปรายว่าควรต้องผ่านรายงานนี้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่โดยส่วนตัวนั้นไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เพราะมีความกังลในแง่การสร้างความขัดแย้งระลอกใหม่

นอกเหนือจากนี้ยังมีรายละเอียดทั้งการต่อต้านรายงานฉบับนี้ และความจำเป็นที่ต้องผ่านรายงานฉบับนี้อีกหลายประเด็น รายละเอียดมีดังนี้

'ชูศักดิ์' ย้ำแล้วย้ำอีก ไม่ใช่กฎหมายแค่ผลศึกษา ไม่ผูกพันใคร

ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธาน กมธ.กล่าวชี้แจงเป็นคนแรกว่า

  • ขอย้ำว่ารายงานนี้เลื่อนมา 2-3 ครั้งเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่า รายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ เป็นเพียงการศึกษาของ กมธ.ที่ได้รับมอบหมายจากสภา ซึ่งที่ประชุมสภานำข้อมูลนี้ไปประกอบการพิจารณาในการยกร่าง พ.ร.บ.ในอนาคต โดย กมธ.เสนอความเห็นในทุกมิติไว้ด้วย
     
  • การนิรโทษกรรมไม่ใช่การยกเลิกความผิด เพียงแต่ยกเว้นความรับผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีกฎหมายนิรโทษแล้ว 23 ฉบับแบ่งเป็น พ.ร.บ.19 ฉบับ พ.ร.ก.4 ฉบับ
     
  • แม้รายงานจะเป็นการศึกษาการตรากฎหมาย แต่ กมธ.ยังสนอแนะแนวทางอื่นๆ ด้วย เช่น พ.ร.บ.ล้างมลทิน การขออภัยโทษ การชะลอการฟ้อง การสั่งไม่ฟ้องคดีไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ

    ชูศักดิ์ยังกล่าวถึงข้อสังเกตของ กมธ.ด้วยว่า การตรา พ.ร.บ.อาจทำเป็นหลายฉบับ เพราะเหตุการณ์แต่ละช่วงมีความแตกต่างกัน ส่วนเรื่องความผิดตามมาตรา 110, 112 ประมวลกฎหมายอาญา ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวที่อาจนำสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ความเห็น กมธ.มิได้บังคับหรือผูกมัด ครม.ให้มีความเห็นตามที่เสนอ

'ภูมิใจไทย' ประกาศห้ามแตะต้อง ปกป้อง 112 ด้วยชีวิต

สส.ที่อภิปรายต่อต้านรายงานนี้อย่างถึงพริกถึงขิงมากที่สุด มิใช่ในทางเนื้อหาเท่ากับท่าที นั่นก็คือ สส.พรรคภูมิใจไทย 

สนอง เทพอักษรณรงค์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคต้องการให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ให้เกิดความรักความสามัคคี และพร้อมให้มีการนิรโทษกรรมแต่ต้องแยกให้ชัดเจนว่าว่าไม่มีการนิรโทษกรรม มาตรา 112

ในรายงาน กมธ.ไม่มีการแยกแยะว่าอะไรที่นิรโทษกรรมได้ อะไรที่ไม่ได้ สำหรับพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และ สส.ทุกคนประกาศชัด เรายอมยกโทษให้ในทุกกรณี ยกเว้นการยกเลิกมาตรา 112 เรายอมรับไม่ได้ ทำยังไงก็ยอมรับไม่ได้

"ไม่เถียงว่าประเทศไทยมีการนิรโทษหลายครั้ง แต่ถามว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกแยกในอดีตถึงปัจจุบัน มีครั้งไหนบ้างที่ล่วงล้ำก้ำเกินสถาบันสูงสุดมากเท่าปัจจุบันนี้ ท่านไปทำความเดือดร้อนอะไรให้พวกเรา

“ถ้ายอมให้ผ่านความเห็นชอบจากสภานี้ แล้วจะไปตรา พ.ร.บ.ที่นิรโทษกรรมให้มาตรา 110, 112 คนของภูมิใจไทย จะไม่เป็นมิตรและไม่ยินยอมกับการกระทำในครั้งนี้ เรายืนยันเจตนารมณ์จงรักภักดีและปกป้องสถาบันถึงที่สุด"

นันทนา สงฆ์ประชา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมคือการลืมความผิด เพื่อประโยชน์ในสังคมหรือทางการเมือง ในประวัติศาสตร์กฎหมายนิรโทษกรรม 23 ฉบับ มีสาระเพื่อยกเว้นโทษให้คณะรัฐประหาร 11 ฉบับ ยกเว้นโทษให้กลุ่มพยายามทำรัฐประหาร หรือกบฏ 6 ฉบับ ยกเว้นโทษให้สลายการชุมนุม ผู้ชุมนุม 3 ฉบับ ยกเว้นโทษให้ผู้ต่อต้านสงครามสงครามกับญี่ปุ่น ผู้ต่อต้านการปฏิวัติ และนักศึกษา ประชาชนที่เข้าร่วมกับ พคท.จะเห็นได้ทุกครั้งมีหลักการชัดว่า ยกเว้นโทษให้ใคร เพื่อะไร ส่งผลความปรองดองกับประเทศอย่างไร

“จากการศึกษารายงานอย่างถ่องแท้ รายละเอียดเนื้อหาเขียนแบบกำกวม ไม่ฟันธง มีแนวทางไม่ชัดเจน ทำไม กมธ.ไม่เอาบทเรียนในอดีตที่ได้กล่าวมาเป็นกรอบในการวางประเด็น ฐานความผิดที่ชัดเจนบนฐานการต่อสู้ทางการเมือง การชุมนุม ความมั่นคง พรรคภูมิใจไทยยินดีร่วมพิจารณาการนิรโทษด้วยอย่างยิ่ง”

"แต่ในความชัดเจนของพรรคภูมิใจไทย ท่านก็ทราบดีแล้วว่า พรรคเรามีเลือดสีน้ำเงินอันเข้มข้น เช่นเดียวกับคนไทยทุกคน เรามีจุดยืนที่จะไม่แตะต้องและพร้อมปกป้องมาตรา 112 ด้วยชีวิต โดยภูมิใจไทยจะไม่เห็นด้วยที่กับการแตะต้องมาตรา 112 อย่าว่าแต่พิจารณา แม้แต่เพียงแตะต้องก็ไม่ได้ เราไม่มีทางพิจารณาเด็ดขาด เพราะความผิด 112 ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง ภูมิใจไทยจะไม่ร่วมพิจารณารายงานฉบับนี้ด้วยในทุกกรณี ถ้ามีมาตรา 112"

'ประชาธิปัตย์' เล็งเป็นสารตั้งต้น ให้รัฐบาลนิรโทษกรรม 112

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่าตนและ สส. พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาฉบับนี้ และก็จะไม่เห็นชอบอีกเช่นกัน ถ้าที่ประชุมเห็นควรส่งให้รัฐบาลไปพิจารณาดำเนินการ

การนิรโทษกรรมในอดีตเคยทำกันมาแล้วถึง 23 ครั้ง แต่ไม่เคยมีการนิรโทษกรรมการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ มาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายฯ

มาตรา 112 นั้น มีไว้เพื่อคุ้มครองประมุขเฉกเช่นอารยประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดี หรือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สเปน เดนมาร์ก หรืออีกหลายประเทศล้วนแล้วแต่มีบทคุ้มครององค์ประมุขของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญไทยยังระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ชัดเจนว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ตรงนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยจึงไม่เคยมีการนิรโทษกรรมในความผิดมาตรา 110 และมาตรา 112

จุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคตควรยืนอยู่บนหลักการ 5 ข้อ

1. ต้องนำไปสู่การสร้างความปรองดอง ไม่ใช่สร้างความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหม่ ต้องเป็นการเห็นพ้องต้องกันของสังคม 

2. ต้องไม่ทำเพื่อตัวเอง เพราะจะเกิดแรงต้านครั้งใหญ่ ดังเช่นที่เราเคยได้รับบทเรียนกันมาแล้ว 

3. ต้องไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจ เป็นหัวเชื้อให้เกิดการกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก

4. ต้องไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันทุกองค์กร  

5. ต้องไม่รวมความผิด 3 ฐานสำคัญ คือ 1) ฐานทุจริตคอร์รัปชัน 2) คดีอาญาร้ายแรง 3) มาตรา 110 และมาตรา 112

จุรินทร์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ตนและพรรค ปชป. ไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับนี้ และไม่เห็นควรส่งรัฐบาลคือ รายงานของ กมธ.ฉบับนี้ได้รวมแนวทางการนิรโทษกรรมคดี 110 และ 112 เอาไว้ด้วย เป็นหนึ่งในทางเลือก ถือเป็นความล่อแหลม รวมถึงข้อสังเกตของกรรมาธิการ อาจกลายเป็นสารตั้งต้นในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่รวมความผิดมาตรา 110 และ 112 ต่อไปได้  

รทสช.ย้ำ 3 รอบเห็นใจเยาวชน แต่คัดค้านรวม 112 ถึงที่สุด 

ธนกร วังบุญคงชัยชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า ไม่ได้ขัดข้องกับรายงานของ กมธ. แต่ต้องไม่รวมมาตรา 112 การนิรโทษกรรมถูกออกแบบมาเพื่อความผิดทางการเมือง แต่ความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การเมือง พรรค รทสช.จะคัดค้านถึงที่สุด

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังระบุในมาตรา 6 ผู้ใดจะละเมิดมิได้ วันนี้นักร้องเยอะแยะมากกมาย ถ้าปล่อยเรื่องนี้ไปพวกเราอาจโดนร้องจริยธรรม และเมื่อดูคนไทย 70 กว่าล้านคน มีคนที่โดนคดี 112 เพียง 300 กว่าคดี

"ผมเห็นใจเยาวชนน้องๆ หลายคน แต่คนอยู่เบื้องหลังไม่เห็นออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไร เคยเจอไบรท์ ชินวัตร ตอนนี้เขาติดคุกอยู่ เคยได้คุยกับเขาเขาสำนึกผิดแล้วก็น่าเห็นใจ น้องๆ เยาวชนหลายคนเดินทางออกนอกประเทศไป ก็น่าเห็นใจเยาวชนเหล่านี้"

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องกระทบความมั่นคงของประเทศเพราะเป็นการลดความสำคัญของการปกป้องสถาบันและกระทบต่อความมั่นคงประเทศอย่างชัดเจนที่สุด

ผลการศึกษาเป็นสารตั้งต้น ถ้าจะส่งเรื่องให้ ครม. ต้องเขียนให้ชัดเจนเลยว่า มิให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรม

"ผมเป็นพรรคร่วมรบ.เรามีหลายอย่างต้องไปทำ เรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ ก็ต้องแก้ ความเดือดร้อนของคน 70 ล้านคนสำคัญกว่า ไม่ใช่ไม่เห็นใจเยาวชน แต่ที่ผ่านมาเป็นการกระทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ได้สำนึกผิด และคนที่อยู่เบื้องหลังควรไปบอกน้องๆ เลยว่ากระกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง สถาบันอยู่เหนือการเมืองและไม่เกี่ยวกับการเมือง ผมไม่เชื่อว่าถ้าไม่มีคนอยู่เบื้องหลังแล้วน้องๆ จะออกมา ผมเห็นใจ หลายคนผมเห็นใจมาก เพราะถูกชักชวนมา วิธีการแก้พวกท่านต้องไปทำความเข้าใจกับน้องๆ เหล่านี้ไม่ให้กระทำอีก" 

กมธ.ชี้แจงอยู่ที่ ครม.พิจารณา

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า กมธ.ชุดนี้ไม่ใช่ กมธ.ศึกษาเพื่อแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 แต่ศึกษาเรื่องแนวทางในการนิรโทษ

รายงานฉบับนี้จะเป็นสารตั้งต้น เป็นหัวเชื้อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ที่ผ่านมาเราพิจารณารายงานหลายฉบับ แต่ก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะปฏิบัติมากน้อยเพียงใด รัฐบาลจะทำตามข้อแนะนำของสภาแค่ไหน ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม

ไม่เกี่ยวกับเลิก ม.112 ไม่เชื่อมโยง ม.6

ส่วนความพยายามจะโยงมาตรา 112 กฎหมายอาญา กับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญนั้นไม่ถูกต้อง สาระสำคัญมาตรา 6 คือการสะท้อนของหลักความเป็นกลางของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองที่สถาบันอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย ถ้าพิจารณาการเมืองการปกครองของประเทศต่างๆ ที่มีสถาบัน หลายประเทศมีกฎหมยในลักษณะปกป้องสถาบัน แต่ประเทศเหล่านั้นก็ไม่มีการบังคับใช้ ญี่ปุ่นก็ไม่มีกฎหมายลักษณะนี้แล้ว ข้อกล่าวอ้างว่าประเทศต่างๆ มีกฎหมายลักษณะแบบนี้ เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง 

ยิ่งกว่านั้น หากเราไปดูคำแนะนำของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกระเทศที่มีสถาบัน คำแนะนำจำนวนมากล้วนแสดงถึงความกังวลต่อการใช้กฎหมายลักษณะแบบนี้ของไทย เพราะมีการกล่าวหารุนแรง และหากตัดสินว่ามีความผิดจะมีคนจำนวนนับร้อยที่มีความผิดรุนแรง หลายคนจะต้องอยู่ในคุกถึง 40 ปีด้วยซ้ำไป

รายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหาทางออกทางการเมือง ข้อเสนอหลายส่วนเราตัดสินใจกำหนดลงไปว่าควรไปทิศทางไหน แต่เรื่องมาตรา 112 แม้แต่ใน กมธ.ยังมีความเห็นแตกต่างกัน อยากให้สภารับรายงานฉบับนี้ แล้วไว้ส่งต่อให้ ครม. มันคือสารตั้งต้นในการหาทางออกให้กับบ้านเมืองนี้ที่มีความขัดแย้งเป็นเวลานาน ทำไมเปิดประตูบานนี้เพื่อหาทางออกทางการเมือง เราไม่ควรนำคนที่เห็นต่างทางการเมืองไปคุมขังไปจำคุก อย่างน้อยมันคือการคลี่คลายผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นไปแล้ว เปิดฝาหม้อให้น้ำที่เดือดและรอวันระเบิด ได้ปล่อยออกมา และเชื่อว่าประเทศเราช่วยกันหาทางออกได้

เมตตา-ให้อภัย เป็นด้านหนึ่งของความยุติธรรม

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักวิชาการด้านกฎหมาย หนึ่งใน กมธ.ชี้แจงว่า การยุติข้อขัดแย้งเพื่อสร้างสังคมสันติสุข ต้องมีความยุติธรรมบางอย่างเกิดขึ้นก่อน ความยุติธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หน้าหนึ่งคือการใช้อำนาจ ใช้การลงโทษตามกฎหมาย แต่ในอีกแง่หนึ่งความเมตตา การให้อภัย สังคมไทยใช้การลงทัณฑ์มาตลอด และมันไม่นำไปสู่จุดของความสามัคคี

มาตรา 112 กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ล่วงละเมิดมิได้ จะฟ้องร้องล่วงเกินอำนาจพรองค์ไม่ได้ นั้นเป็นคนละเรื่อง เรายังสามารถพูดคุยกฎหมายที่ปกป้องสถาบันได้ 

ส่วนตัวคำวินิจฉัยศาลบอกว่า ไม่สามารถแก้ไข เพิ่มเติมมาตรา 112 ในลักษณะที่ผู้ถูกร้องทำอยู่ แต่ถ้าเป็นกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ สามารถทำได้ การนิรโทษกรรมนั้นนั้นไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยเลย ตัวกฎหมายมาตรา 112 ก็ยังอยู่ หากทำผิดก็ยังโดนลงโทษได้อีก

ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรม 112 มาแล้ว 

ชัยธวัช ตุลาธน หนึ่งใน กมธ. ชี้แจงว่า สมาชิกบางท่านอภิปรายว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยนิรโทษ 112 ถ้านิรโทษกรรมแล้วจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 หรือขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อยากให้ข้อมูลข้อเท็จจริง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในเหตุการณ์ 6 ต.ค.19 บังคับใช้เมื่อ ก.ย.21 เป็นการนิรโทษให้กับการกระทำในธรรมศาสตร์และนอกมธ. และเจาะจงนิรโทษคดี 2 คดี คือ คดีในศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญา ซึ่งทั้งสองคดีนี้จำเลยถูกฟ้องหลายข้อหารวมถึง มาตรา 112 ด้วย ดังนั้น ระบบกฎหมายไทยเคยมีการนิรโทษกรรมความผิด มาตรา 112 มาแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจาก มาตรา 6 พูดถึงหลักการขององค์พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยว่าทรงมีความเป็นกลางในการเมือง ความหมายของ ‘การละเมิดมิดได้’ เอกสารของรัฐสภาเองก็บันทึกไว้ว่าหมายถึงไม่สามารถมีใครฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลได้ 

ส่วนที่บอกว่านิรโทษกรรมคดี 112 จะขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องล้มล้างการปกครอง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะคำวินิจฉัยศาลเกี่ยวกับการกระทำ 2 เรื่องเท่านั้นคือ 1) ห้ามไม่ให้แสดงความเห็นรณรงค์ให้ยกเลิก ม.112 และ 2) ไม่ให้แก้มาตรา 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติที่ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ

พรรคประชาชนถาม ก้าวข้ามขัดแย้งโดยทิ้งหลายคนในคุก ?

วีรนันท์ ฮวดศรี สส.ขอนแก่น พรรคประชาชน อภิปรายว่า รายงาน กมธ.กำหนดผู้ต้องหา 112 อาจไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรม นั่นคือ “ความอ่อนไหวที่คลุมเครือ”

ฐานความผิดต่อความมั่นคง ก่อการร้าย ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์ ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน ชุมนุม ต่างรวมในคดีหลักและรอง ไม่ใช่ ‘คดีอ่อนไหว’ มีแต่เพียงสองอันคือ มาตรา 110, 112 ที่บอกว่า ‘อ่อนไหว’ กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้นิรโทษคดีอื่นๆ แต่คำถามคือ 112, 110 ทำไมถูกแยกออกมา ทั้งที่อยู่ในคดีหลักคดีรองได้อยู่แล้ว

ดูแล้วคดี 112 เสี่ยงจะถูกกันออกจากการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ ทั้งที่ผู้ต้องหาก็ได้รับผลกระทบทางการเมืองไม่ต่างจากคนอื่นๆ 



อีกเรื่องหนึ่งคือ แรงจูงใจทางการเมือง ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ เรื่องนี้เห็นด้วยแต่กรอบค่อนข้างแคบ หัวใจของนิรโทษ คือ การเปิดกว้างเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้ง จะมีอีกหลายคดีที่ไม่แน่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขนี้ เช่น ผู้ต้องหาคดี 112 ที่เป็นผู้ป่วยจิตเภท มีบางคนต้องเดินทางจากลำพูนถึงนราธิวาส คนเหล่านี้จะนับว่ามีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่



"ถ้าการนิรโทษกรรมจะทำให้สังคมไทยเดินหน้า ก้าวข้าวมความขัดแย้ง คนอย่างอานนท์ นำภา จะได้เดินหน้าไปกับนิรโทษครั้้งนี้ด้วยไหม ป้าอัญชัญที่โทษจำคุกหลายสิบปี กำลังฉลองวันเกิดวัย 69 ปีในเรือนจำ และคนอื่นๆ ในเรือนจำเวลานี้จะได้เดินไปกับเราไหม เราจะก้าวข้าวมความขัดแย้งแล้วทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลังอย่างไม่แยแสอย่างนี้หรือ"  



ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน เมื่อ 11 ต.ค. 2567 ระบุว่า มีผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกคุมขังในเรือนจำ ทั้งสิ้น 41 คน ในจำนวนนี้มีถึง 28 คนเป็นคดี 112

คำถามคือ ถ้าไม่นิรโทษกรรมคนที่ถูกขังจริงๆ เรากำลังทำอะไรกันอยู่ 



'เพื่อไทย' ชี้แต่ละพรรคคุยภายใน เสนอร่างกฎหมายแบบตัวเอง 

นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รายงานฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับที่เป็นข้อยุติ เป็นรายงานที่สภาสามารถพิจารณาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้ และไม่ได้มีผลนิรโทษกรรมแต่อย่างใด ถ้าแต่ละพรรคจะผลักดันการนิรโทษก็ต้องไปคุยกับสมาชิกแล้วเสนอร่างเข้าสภาในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านต้องตอบสังคมและรับผิดชอบต่อสังคมว่าเสนอเช่นนั้นเพราะเหตุใด ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นอะไรในชั้นนี้ที่มีความขัดแย้ง

หลักใหญ่ๆ ของรายงานคือ การเสนอแนวทางการตรากฎหมาย คดีที่อยู่ในข่ายนิรโทษกรรมควรมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่คดีอาชญากรรมทั่วไป เกิดในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด อาจารย์หลายท่านไปศึกษาตัวอย่างคดีและมาตราต่างๆ ที่ควรได้รับนิรโทษกรรมมาเป็นลิสต์ให้สภาไปศึกษาเพิ่มเติมได้ หากยังมีคดีอื่นๆ เสนอเพิ่มก็สามารถทำได้

ยืนยันละเอียดอ่อน ยังมีเวลาหาฉันทามติ

ข้อสังเกตในฐานะเป็น สส.พรรคเพื่อไทย มีข้อสังเกตดังนี้

1. การนิรโทษกรรมต้องบรรลุวัตถุประสงค์ คือ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ในชาติ นำไปสู่ความเป็นเอกภาพทางการเมือง ความมั่นคงทางการเมือง เพื่อเรียกร้องความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ เพราะเสถียรภาพทางการเมืองกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

2.การนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองและมีกรอบระยะเวลา เห็นด้วยกับ กมธ.

3. มีบางเรื่องที่เรายังไม่ตกผลึก ไม่มีฉันทามติของสังคมว่า บางความผิดควรนิรโทษกรรมหรือไม่ เห็นด้วยกับ ปธ.กมธ.ว่า การนิรโทษต้องไม่นำไปสู่การขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ เช่น 112 110 กมธ.ก็มีข้อสรุปที่ไม่มีข้อสรุป เป็นลักษณะ 3 แนวทาง 

“โดยส่วนตัวมีจุดยืนอย่างนี้ หนึ่ง การนิรโทษกรรม มาตรา 110,112 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน สอง ความผิด 112 เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ สาม สังคมมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันมาก ยังมีเวลาแสวงหาฉันทามติในประเด็นนี้ต่อไปได้อีก ผมเองยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงไม่เห็นด้วยกับการรวม 112, 110 ในการนิรโทษกรรม” 

ชทพ.ไม่รวม 112 ชี้ไม่ต้องกลัว รายงานรวมทุกความเห็น

นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และเลขาฯ กมธ. กล่าวว่า ในการทำรายงานการศึกษาทำกันอย่างละเอียด มีหลายความเห็นในนั้น การรวบรวมความเห็นเสนอต่อที่ประชุมเป็นภารกิจที่จำเป็นในทางการเมือง ประเด็นมาตรา 110 ,112 สรุปไว้แล้วในรายงาน กมธ.เห็นว่าเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้มีข้อสรุปว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ เพียงแต่ศึกษาข้อดีข้อเสียในคดีทุกแบบ และเนื่องจากมีความเห็นต่างอย่างมีนัยสำคัญ กมธ.จึงไม่พึงประสงค์จะโหวต เพราะจำนวนบุคคลไม่สามารถสะท้อนความเห็ความเชื่อของ กมธ.ได้ จึงเปิดโอกาสให้ กมธ.รวมถึงที่ปรึกษาแต่ละท่านชี้แจงแสดงความเห็น

ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยทำ เคยทำตอนศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน เพราะความเห็นต่างนั้นมีมาก ก็มีการเรียงความเห็นมาในรายงานและสภานี้ก็เคยเห็นชอบแล้วและเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย สุดท้ายสภาแก้ได้อย่างเดียวคือระบบเลือกตั้ง

"ผมเองให้ความเห็นใน กมธ.ว่า ไม่เห็นด้วยกับนิรโทษกรรมมารตรา 110,112 เนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินการเกี่ยวกับการปรองดองและสมานฉันท์ ไม่มีฉบับใดเลยเสนอให้นิรโทษกรรม 110,112 เป็นคดีที่มีความอ่อนไหว กรณีนี้เป็นผลกระทบทางบวกและทางลบ ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง อาจนำสู่ความขัดแย้งได้อีก ประเด็นที่สอง เห็นว่าถ้านิรโทษอาจจะขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ศาลเคยชี้ว่าต้องมีกฎหมายคุ้มครองการละเมิดสถาบันสูงสุด ผมเชื่อด้วยตัวเองว่า ถ้าเสนอรวม 112 ด้วยจะไม่ผ่าน ถูกร้องว่าขัดรัฐธรรมนูญแน่ และในฐานะ สส.พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เรียกว่าบันทึกไว้หมด และกมธ.ไม่ได้ชี้ว่าต้องเอาความเห็นไหน

"ความผิด 110, 112 ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ เรียกว่ามันชัดทุกตอน ตอนต้น ตอนกลาง ตอนท้าย ไม่สามารถนำไปสู่สารตั้งต้นอะไรได้เลย เป็นเพียงการสรุปความเห็นของสมาชิก ถ้าเรื่องเข้า ครม. พรรคไหนมติเป็นยังไงก็สามารถยืนยันใน ครม.ได้"

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net