Skip to main content
sharethis

นายประทีป มีคติธรรม คณะทำงานติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา ได้มีการพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยไม่มีชาวบ้านคนใดรับทราบเรื่องการออกพระราชกฤษฎีเวนคืนที่ดินฉบับนี้มาก่อน “ผมพบพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ปรากฏในอินเตอร์เน็ตโดยบังเอิญ เบื้องต้นได้นำพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไปถ่ายเอกสารแจกจ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นจะหารือกับเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายประทีปกล่าว นายประทีป กล่าวว่า ผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวงคือ สูญเสียที่ดินทำกินเนื่องจากการก่อสร้างคลองกว่า 3,000 ไร่ มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 1,000 ราย หากมีการก่อสร้างคลองส่งน้ำความกว้าง 5–55 เมตร ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร ต้องยกคันคูสูงขึ้นจากพื้นกลายเป็นเขื่อนขวางทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขังตามแนวคลองส่งน้ำรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่โครงการฯลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ส่งน้ำไปใช้ประโยชน์ได้เพียงแค่ 4 เดือนต่อปีเท่านั้น และบางปีแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย นายประทีป กล่าวต่อไปว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นโครงการที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงไม่มีการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำจืดไปเลี้ยงระบบนิเวศชายฝั่งโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งจะทำให้น้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อระบบประปาของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และปัญหาขาดน้ำจืดลงไปผลักดันน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประมงเพาะเลี้ยงชายฝั่ง เช่น ปลาในกระชัง ความเค็มที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนอ่าวบ้านดอน เป็นต้น “ก่อนหน้านี้กรมชลประทานส่งเจ้าหน้าที่ปักหลักหมุดเสาปูนเป็นแนวคลองส่งน้ำขนาดกว้าง 55 เมตร ในพื้นที่ จุดที่เป็นบ้านพื้นปูนก็ตอกตะปูและลงสีแดงขนาดเท่าหัวเสาปูนเป็นเครื่องหมาย เมื่อชาวบ้านเห็นก็ไล่ออกจากพื้นที่ พอพระราชกฤษฎีกาฯ ออกมาแบบนี้ ชาวบ้านมีโจทย์ใหญ่ว่า หลังจากนี้จะคัดค้านโครงการกันอย่างไร” นายประทีป กล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ที่วัดยางงาม ตำบลหนองไทร อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมคณะได้เดินทางมารับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการและประชาชนที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าโครงการดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและชุมชน จากการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายต่างๆ ทางคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรมีความเห็นว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำ-ตาปี เป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2510 สำรวจมาตั้งแต่ปี 2533 สมัยนั้นยังมีที่นาอยู่มาก ขณะที่ปัจจุบันพื้นที่ทำนาเปลี่ยนเป็นสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน ลักษณะการใช้น้ำต่างกัน โครงการจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่สอดคล้องความต้องการใช้น้ำของภาคเกษตรกรในปัจจุบัน ลักษณะโครงการไม่มีการศึกษารายละเอียด ผลกระทบชุมชน พืชเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โครงการหลีกเลี่ยงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดตัวเลขพื้นที่ดำเนินโครงการไว้เพียง 73,890 ไร่ จงใจหลีกเลี่ยงไม่ทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งที่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ชลประทานที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า 80,000 ไร่ จากการขยายโครงการในระยะต่อไป ซึ่งเข้าข่ายจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างหัวงานและคลองส่งน้ำ ไม่เห็นด้วยกับโครงการ เพราะกระทบต่อพืชเศรษฐกิจหลัก คือสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากในช่วงที่วางแผนโครงการราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 บาท แต่ปัจจุบันราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 100 บาท การประกาศกฤษฎีการเวนคืนที่ดินฯ และการดำเนินโครงการดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจ ทั้งที่ประชาชนมีสิทธิจัดการและกำหนดวิถีชีวิตของชุมชน ตามฐานทรัพยากรธรรมชาติ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ แม้กรมชลประทานจะชี้แจงว่า มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกว่า 40 ครั้ง แต่ปรากฏว่าประชาชนที่จะได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับเชิญเข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงแต่อย่างใด นอกจากนี้การเข้าไปปักหลักหมุดของกรมชลประทานในเขตบ้านเรือน สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้าน โดยไม่มีการแจ้งว่าทำเพื่อการใด ยังส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความแตกตื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเป็นการบุกรุกเข้าไปในสถานที่ส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เป็นโครงการที่ทางเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ซึ่งรวมตัวกัน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552 ออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยื่นหนังสือคัดค้านโครงการฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่, กรมชลประทาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายดำริห์ บุญจริง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา เป็นต้น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎ์ธานี 1. ความเป็นมา ตั้งแต่ปี 2510 กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) กรมชลประทานได้โอนงานก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนแก่งกรุงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จในปี 2530 ในปี 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับไปดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชลประทานที่ล่าสุด โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานที่จะได้จากการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง และกรมชลประทานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ปรากฏว่าโครงการมีความเหมาะสมต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องอพยพราษฎรและต้องลงทุนค่าชดเชยทรัพย์สินสูง ทำให้ได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขื่อนแก่งกรุงมีกระแสต่อต้าน และได้ระงับการดำเนินงานเอาไว้ก่อน กรมชลประทานจึงได้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนรัชชประภามาใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสม โดยพิจารณาการพัฒนาชลประทานสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภา มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 2. ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโครงการ เขื่อนรัชชประภาได้ปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อนเนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีปริมาณน้ำจากคลองสาขาไหลมารวมในแม่น้ำพุมดวงอีกประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำพุมดวงประมาณ 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 3. วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่ เพื่อการอุปโภค–บริโภค เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 4. รายละเอียดของโครงการ ที่ตั้งโครงการ ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ลักษณะทางวิศวกรรมของโครงการ สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวมทั้ง 33.16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำขนาด 1.93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 2.12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง ระบบส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ 139 กม. ระบบระบายน้ำความยาวรวมประมาณ 83 กม. 5. ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (พ.ศ. 2552–2559) 6. งบประมาณ วงเงินโครงการทั้งสิ้น 3,330.00 ล้านบาท งบดำเนินงาน 41.00 ล้านบาท งบบุคลากร 77.00 ล้านบาท งบลงทุน 3,107.24 ล้านบาท เผื่อเหลือเผื่อขาด 104.76 ล้านบาท มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้ พ.ศ. 2552 : จำนวน 262.81 ล้านบาท พ.ศ. 2553 : จำนวน 296.69 ล้านบาท พ.ศ. 2554 : จำนวน 525.99 ล้านบาท พ.ศ. 2555 : จำนวน 637.77 ล้านบาท พ.ศ. 2556 : จำนวน 732.57 ล้านบาท พ.ศ. 2557 : จำนวน 346.32 ล้านบาท พ.ศ. 2558 : จำนวน 251.99 ล้านบาท พ.ศ. 2559 : จำนวน 175.86 ล้านบาท รวม 3,330.00 7. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2552 ที่อัตราคิดลดร้อยละ 8 10 12 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C) 1.70 1.50 1.19 มูลค่าผลประโยชน์ปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,842 1,262 440 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์(EIRR) 13.60 13.60 13.60 % 8. ประโยชน์ของโครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 73,980 ไร่ โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่ มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 9. ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฏร์ธานีแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว 10. สถานภาพโครงการ ด้านแบบก่อสร้าง แบบ และรายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้วเสร็จ 100% (เสร็จปี 2544) ด้านการจัดหาที่ดิน การสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอคำขอรังวัดจากเจ้าของที่ดิน (ประมาณ 2,000 ราย) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2535 การมีส่วนรวมของประชาชน กรมชลประทานได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมทั้งระดับหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 40 ครั้ง ที่มา : กรมชลประทาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net