Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท—18 ก.พ. 2549 ผลการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับอธิการบดีและตัวแทนจากทั่วประเทศจำนวน 111 คนยังลูกผีลูกคน อธิการบดี มธ. ระบุ นายกไม่ฟังข้อเสนอ ไร้ความหวังเพราะแก้รัฐธรรมนูญแบบไม่มีทิศทาง ด้านรัฐมนตรี ศธ. บอกจะใช้งบกลางให้ไปทำการศึกษา


 


เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.วานนี้ (17 ก.พ.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้นำอธิการบดีและตัวแทนอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษารัฐและเอกชนทั่วประเทศจำนวน 111 คนเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน


 


ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้ออกปากเชิญอธิการบดี 137 สถาบันทั่วประเทศมาปรึกษาหารือกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นกระแสความต้องการของประชาชน แต่วานนี้มีอธิการบดีและตัวแทนเข้าร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรี 111 คน ในขณะที่อธิการบดีอีก 26 ไม่ได้เข้าร่วมการหารือดังกล่าว


 


อ๋อยบอกจะให้งบกลางสนับสนุนทำวิจัยแก้รัฐธรรมนูญ


หลังจากเสร็จสิ้นการหารือ นายจาตุรนต์ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศทำการวิจัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ จะสนับสนุนการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ.ตั้งคณะทำงานเฉพาะขึ้น เพื่อให้มีบุคลากรในการดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ทำหน้าที่สรุปข้อเสนอผลการศึกษา และข้อเสนอขององค์กรต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น สถาบันพระปกเกล้า กรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา


 


จากนั้นจะให้เครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย เป็นผู้ช่วยดูแลในเรื่องการทำสรุปเอกสารให้มหาวิทยาลัยต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสำรวจความต้องการของมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วยว่า ต้องการทำวิจัยเป็นแบบเอกเทศ รายมหาวิทยาลัย หรือเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นมอบให้ สกอ.ประสานขอดูข้อเสนอ รวมทั้งเตรียมการในการจัดสรรงบประมาณ


 


สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้สำหรับการศึกษาวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา 137 สถาบันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า จะเสนอของบประมาณกลางมาสนับสนุน เนื่องจากการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นกิจกรรมเพิ่มเติม จึงไม่สามารถเจียดจ่ายจากงบประมาณปกติของมหาวิทยาลัยได้


 


แม้วบอกอธิการบดีทั่วประเทศ แก้รัฐธรรมนูญต้องคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์


ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวกับบรรดาคณบดีที่เข้าร่วมหารือว่า เหตุที่เชิญมาก็เพื่อขอความรู้จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ของสังคมไทย เพื่อจะช่วยกันคิดถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมอยู่ในขณะนี้


 


ทั้งนี้นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบ่อยมาก จึงควรจะใช้โอกาสในช่วงนี้รวบรวมคนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ มาช่วยกันคิดแก้ปัญหาประเทศอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะไม่อย่างนั้น ก็จะใช้อารมณ์ตัดสินปัญหากันต่อไป


 


โดยนายกฯ ได้เสนอให้สำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการทำวิจัยของทุกมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อจะเห็นถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของมหาวิทยาลัยหลังจากการวิจัยและนำมาเปรียบเทียบกัน และวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงไปเสนอกับประชาชนโดยใช้กระบวนการประชาพิจารณ์ ก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มีศาสตร์และได้รับการยอมรับจาประชาชน


 


นายกฯ ได้กล่าวย้ำว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่นี้ส่วนใหญ่ดีแล้ว แต่ถ้าจะแก้ไขตรงไหนก็ต้องมีศาสตร์ประกอบ เพื่อจะได้เห็นได้ชัดเจนว่าจะต้องตัดตรงไหน เติมตรงไหน ก็จะทำให้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกมหาวิทยาลัยต้องช่วยกันเป็นเจ้าภาพเพื่อศึกษาวิจัยรัฐธรรมนูญอย่างเป็นวิทยาศาสตร์


 


ตัดบทอธิการบดี มธ.


เว็บไซต์ไทยโพสต์รายงานบรรยากาศในการหารือว่า หลังจากนายกฯ ชี้แจงเหตุผลในการเชิญอธิการบดีเข้าหารือ ได้เปิดโอกาสให้อธิการบดีแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งกล่าวว่า "อาจารย์สุรพลจะเสนอแนะอะไรหน่อยมั้ย" โดยนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จริงเป็นธรรมชาติของระบบการเมืองการปกครอง เมื่อระบบมันมีพัฒนาการ กติกามันก็คงต้องเปลี่ยนไปตามสภาพความจำเป็น ถ้าพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับดูจะเป็นเรื่องใหญ่มาก และไม่คิดว่าสังคมไทยที่นายกฯ พูดถึง ที่เวลานี้มันมีปัญหาพูดกัน มันจะลามไปถึงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างที่ว่ากัน หมวดที่เขียนในรัฐธรรมนูญหลายหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ หมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ หมวดที่ว่าด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาชัดเจนในสังคมไทย


 


"ในความเห็นฐานะนักกฎหมายคิดว่าประเด็นหลักๆ อาจจะต้องมีการกำหนดไว้ล่วงหน้า หากนายกฯ เห็นว่ามีความจำเป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องให้โจทย์นี้ไว้ในเบื้องต้น เพื่อดูว่าประเด็นใดบ้างควรมีการแก้ไข มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำให้เรื่องที่ดูไม่มีปัญหากลายเป็นเรื่องที่มีปัญหา ถ้ามีประเด็นที่ชัดเจน ก็เป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ ทำให้การดำเนินการมันแคบลง เป็นที่ชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่าง 2-3 ประเด็นที่พูดในสื่อปัจจุบัน สังคมให้ความสนใจ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเจตนาที่นายกฯ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาอยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จะแก้หรือไม่" อธิการบดี มธ.กล่าว


 


นายสุรพลยกตัวอย่างว่า ประเด็นในเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการเข้ามาสู่ตำแหน่งที่พูดในประเด็นที่ว่า บังคับให้มีการสังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 90 วัน เหมาะสมหรือไม่ หรือวุฒิปริญญาตรี ที่เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำในการสมัครเหมาะสมหรือไม่ เรื่องพวกนี้จะทำให้แคบลงหรือมากกว่านั้น ความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในส่วนกระบวนการเข้าสู่อำนาจ ทั้งเรื่องของการใช้อำนาจ ดูจะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอยู่ เป็นประเด็นที่ฝ่ายบริหารเห็นว่า ควรจะพิจารณาในเรื่องนี้หรือไม่


 


นอกจากนี้ประเด็นที่ว่าฝ่ายบริหารเข้มแข็งเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถตรวจสอบได้ การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงถึง 200 เสียง ควรจะคงอยู่หรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่ ลองยกตัวอย่างทำนองนี้ เผื่อนายกฯ จะกรุณาตั้งประเด็น โจทย์ก็จะง่ายเข้า การค้นหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ จริงๆ แล้วหาไม่ค่อยยาก ถ้าประเด็นมันแคบ ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนจัดประชุมสัมมนาหารือกันอย่างต่อเนื่องอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง ก็จะได้ข้อยุติ แต่การเลือกทิศทางรัฐบาลจะต้องตัดสินใจ จึงจำเป็นต้องมีกรอบที่ชัดเจนพอสมควร


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อนายสุรพลได้เสนอประเด็นดังกล่าวจบ พ.ต.ท.ทักษิณสวนกลับทันทีว่ารัฐบาลกำหนดกรอบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะถูกมองว่ามีวาระส่วนตัว แต่ธรรมศาสตร์อาจจะดูแล้วว่า มีประเด็นเดียว และมีคำตอบทางวิทยาศาสตร์ และมีคำตอบชัดเจนว่าตรงนี้มีปัญหา ก็ถึงจะแก้ นี่คือเวอร์ชั่นของธรรมศาสตร์ มี 3 ประเด็นก็ไม่เป็นไร ที่จริงแล้วเราเปิดกว้างดีกว่า แล้วให้ทุกคนไปเปิดประเด็นว่า แต่ละเวอร์ชั่นของมหาวิทยาลัย มองว่าประเด็นไหนที่ไม่เป็นปัญหา ก็ไม่ต้องไปแตะ แต่ถ้ามีปัญหาก็ต้องไปแก้ ถึงได้บอกว่าในเบื้องต้นอยากได้ความรู้ ที่คิดอย่างผู้รู้ ถ้าคิดแบบความรู้สึกซ้ายไม่ชอบ ก็ไปขวา ขวาไม่ชอบก็ไปซ้าย และตรงกลางมีไหม มันก็จะไม่ได้คำตอบ ก็จะเป็นซ้ายเป็นขวาไป


 


"ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเกิดขึ้น เราก็บอกว่ารัฐบาลอ่อนแอ นายกฯ ถูกต่อรองโดยผู้แทนฯ เข้าไป 5 คน พบนายกฯ ก็ขาสั่นแล้ว ขอกระทรวงนี้กระทรวงนั้น นี่คือปัญหาในอดีต แต่วันนี้มาบอกว่านายกฯ อภิปรายฯไม่ได้แล้ว ต้องได้ 200 ก็ไม่คิดมาก่อนว่านายกฯ จะได้ 300 มันก็กลายเป็นซ้ายเป็นขวา ฉะนั้นถ้าจะคิดแบบมีศาสตร์หน่อย โดยทางมหาวิทยาลัยมองว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูเหมือนไม่มีปัญหา แต่ก็มาบอกว่าอาจจะมีปัญหา ก็อาจจะลองทำวิจัยดู เปรียบเทียบกับหลายประเทศ กติกาสากลบางอย่างใช้ไม่ได้กับไทยก็มี เพราะประเทศไทยมีกฎไว้ให้เลี่ยง มีปัญหาการอยู่ร่วมกันของสังคมในเวลานี้ ไม่เคารพกติกาที่มีอยู่ ไม่ชอบกติกาต้องเสนอการเปลี่ยนแปลงกติกา"


 


นายกฯ กล่าวอีกว่า หากสังคมไหนมีปัญหาในการไม่เคารพกติกาการอยู่ร่วมกันมันเหนื่อย ถ้ากติกาไม่ดีเราก็มาตกลงกันแล้วค่อยแก้ รัฐบาลเองไม่เคยบอกว่าไม่ยอมรับ ไม่ยอมแก้ เพียงแต่ต้องช่วยกันคิดอย่างใช้ปัญญา ถ้าธรรมศาสตร์มองว่ามี 3 ประเด็น ก็ไปวิจัย แล้วแนะนำมา เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับทุกมหาวิทยาลัย หากเห็นตรงกันก็ไปบอกกับประชาชน เพื่อถามประชาชนว่าคิดอย่างไร ถ้าประชาชนเห็นด้วยก็จบ อยากให้มันมีแนวทาง


 


ด้านนายปรีชา จรุงกิจอนันต์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อว่าทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ โดยอาจมอบให้ รมว.ศึกษาธิการรับไปดำเนินการ แต่การจะให้ได้ข้อสรุปวันนี้เลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่ควรที่จะไปศึกษาข้อสรุปที่มีอยู่แล้วและนำมาเสนอนายกฯ อีกครั้ง


 


พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ตนต้องการเร็วที่สุด ใจตนอยากได้เดือนเมษายน หากจะใช้เวลานานกว่านั้น ก็ยินดี แต่ตรงนี้จะเป็นไกด์ไลน์ในขั้นต่อไป หลังจากที่ประชาชนบอกว่าแก้เถอะ เราก็จะได้มีไกด์ไลน์ตรงนี้


 


"ขั้นตอนต่อไป ต้องมาคุยกันอีกทีในรายละเอียดว่า ขั้นตอนแรกเราอยากปรึกษาประชาชน คิดว่าเราสมควรหรือยังที่จะต้องแก้ ถ้าบอกว่าแก้ เราจะได้มีตัวตั้ง วันนี้เราทำคู่ขนาน ไม่นั้นจะช้า หลังจากได้แล้ว มีแนวทางที่คิดร่วมกัน แล้วก็เอาแนวทางนี้ในการเดินต่อ ทำประชาพิจารณ์ ได้ชัดเจนแล้ว ข้อโต้เถียงน้อย ก็เข้าสู่กระบวนการแก้ได้เลย"


 


ถึงตอนนี้ นายสุรพลได้ซักว่า ตนต้องการให้เรื่องให้ชัดมากขึ้น ซึ่งได้พูดไปแล้วถึงข้อเสนอเดิมที่มีอยู่แล้ว คณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาที่ตนร่วมเป็นคณะทำงานด้วย และมีรายงานของสถาบันพระปกเกล้าฯเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นผลวิจัยที่มีคุณภาพ ที่นับรวมข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตาม ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 313 มาตราเดียวก็สามารถแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ซึ่งตนไม่มั่นใจว่าหลังจาก 2-3 เดือนต่อจากนี้ เราจะได้ข้อเสนอเพื่อให้แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกเป็นร้อยๆ เล่ม แต่ก็เป็นการลอกมาจาก 2 แนวทางที่กล่าวมา


 


"ผมจึงอยากรู้ว่าผลวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้าฯและวุฒิสภาที่ได้นำเสนอรัฐบาล ท่านนายกฯ มีทัศนะอย่างไร มีข้อเสนอ ข้อบกพร่อง หรือไม่สมบูรณ์ ไม่เหมาะสมอย่างไร หรือต้องการความเห็นอื่นๆ จากแต่ละมหาวิทยาลัย" นายสุรพลตั้งคำถาม


 


พ.ต.ท.ทักษิณได้แย้งขึ้นทันทีว่า เราคงไม่ไปผูกขาดความคิด เฉพาะกลุ่มบุคคลหรือสาขาวิชาเช่นนั้น เพราะปัจจุบันแต่ละมหาวิทยาลัยมีหลายสาขาวิชา นักวิทยาศาสตร์อาจจะมีความรู้สึกว่าน่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อให้ประเทศชาติมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ นักวิศวกร นักสถาปัตย์ นักวัฒนธรรม ก็อาจจะมีแนวของเขา ซึ่งเราก็ไม่รู้ วันนี้ก็ไม่น่าเสียหายหากเราจะรับคำแนะนำที่มีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หากเราไม่ไปหลงว่า ไอ้สิ่งที่มาศึกษาวิจัยนั้น กลุ่มคนที่ทำการศึกษาวิจัยนั้นมันเกินพอ วันนี้ถ้าเกินไว้หน่อยก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร ถ้าเรามาคิดรวมกันทั้งหมด และนำมาเริ่มกัน นักการศึกษาแม้จะมีเยอะเขาคงไม่ไปลอกอะไรของใครมาแน่ ดังนั้นตนจึงยืนยันว่า น่าจะมีการศึกษากันเพิ่มเติม อาจจะนำแนวทางที่ได้มีการศึกษาไว้แล้วมาเป็นตัวตั้งได้ น่าจะลองให้โอกาสให้แสดงความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง


 


อธิการบดีจุฬาฯ เสนอศึกษาจากวุฒิสภาและสถาบันพระปกเกล้า ใช้เวลา 2 เดือน


คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า ตอนนี้มีตัวต้นคือข้อศึกษาของคณะกรรมการวุฒิสภา และข้อศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า หากมหาวิทยาลัยต่างๆ นำผลการศึกษาทั้ง 2 ชิ้นไปศึกษาโดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็น่าจะเป็นไปได้ จากนั้นจึงนำมาอภิปรายกันและเริ่มกระบวนการแก้ไขปรับปรุง


 


นายกฯ ได้แสดงความเห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าว และสั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีรับไปดำเนินการ


 


โดย สกอ.รับผิดชอบเรื่องงบประมาณในการทำวิจัย ส่วนงบประมาณนั้นให้ขอตรงจากทำเนียบฯ เพราะถือว่าเป็นเรื่องเร่งพิเศษ


 


อธิการบดี มธ. บอกการหารือไร้ผล


นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า ในฐานะที่เป็นอธิการบดีก็ต้องรับนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ แต่ในฐานะนักวิชาการด้านนิติศาสตร์แล้ว เห็นว่าการศึกษาตามรูปแบบที่หารือกันในวันนี้ไม่เกิดประโยชน์ เป็นเพียงการลากกระแสการแก้รัฐธรรมนูญให้ยาวออกไปเท่านั้น


 


โดยนายสุรพลกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่มีปัญหา ไม่ต้องแก้ไข แต่วันนี้มาบอกว่าต้องแก้ไขก็แปลว่ายอมรับแล้วว่า มีปัญหาจริง แต่เมื่อสอบถามว่านายกฯ จะแก้ในประเด็นอะไรบ้างก็กลับไม่ตอบ โดยบ่ายเบี่ยงว่า ไม่อยากเป็นผู้กำหนดประเด็น ดังนั้นแล้วการหารือในวันนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร และการปฏิบัติตามแนวทางที่ที่ประชุมได้ข้อสรุปวันนี้ก็จะทำให้อีก 2 เดือนข้างหน้าประเทศไทยจะมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแก้รับธรรมนูญขึ้นมาอีก 137 ชิ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบในประเด็นที่เป็นปัญหาที่สังคมกำลังกังวล


 


ทั้งนี้ นายสุรพลกล่าวถึงแนวทางที่นายกฯ สั่งให้ สกอ.เป็นหน่วยงานกลางรวบรวมและประมวลความเห็นของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น เป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ เพราะแม้แต่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. 99 คน ทำงานกัน 8-9 เดือนก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่การศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีโจทย์อะไรตั้งต้นเลยก็คงเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก และก็คงไม่ได้อะไรใหม่


 


อย่างไรก็ตามอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า การมาหารือกับนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประโยชน์ในเรื่องทิศทางเกี่ยวกับการทำการวิจัยและกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)


 


หมอประเวศจวก นายกฯ ไม่เคารพรัฐธรรมนูญแล้วจะแก้ไขทำไม


ด้านนายแพทย์ประเวศ วะสี แสดงความเห็นต่อกรณีที่นายกฯ เรียกอธิการบดีทั่วประเทศเข้าหารือว่า วันนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะนายกฯ ไม่ได้เคารพรัฐธรรมนูญแล้วจะแก้ไปทำไม


 


ทั้งนี้ น.พ.ประเวศ กล่าวว่าการที่รัฐบาลออกมาแสดงท่าทีจะแก้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นการล่อหลอกให้สังคมไขว้เขว ทั้งนี้ น.พ. ประเวศกล่าวว่า ปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยขณะนี้คือการขาดศีลธรรมและจริยธรรมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้นำประเทศไม่อยู่ในธรรม ทำให้บ้านเมืองปั่นป่วน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net