Skip to main content
sharethis

 



 


ประชาไท—10 มิ.ย. 2549 ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ทั้ง 13 ประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้อียูทบทวนร่างกฎหมายคุ้มครองประชาชนจากสารเคมีที่เป็นพิษ เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความกังวลว่า ร่างกฎหมายการจดทะเบียน การประเมินค่า และการอนุญาตใช้สารเคมีซึ่งเรียกย่อๆ ว่า REACH: Registration, Evaluation and Authorisation of CHemicals ที่อียูพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นอาจสร้างผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นร่างกฎหมายที่ปฏิบัติตามได้ยากอีกด้วย


 


ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งใน 13 ประเทศที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว ร่วมกับสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น บราซิล ชิลี อินเดีย อิสราเอล เกาหลีใต้ เม็กซิโก สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้


 


ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้สารเคมีราว 30,000 ประเภทที่ผลิตหรือนำเข้าอียู จะต้องจดทะเบียนที่หน่วยงานกลาง และจะต้องได้รับการทดสอบและได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้งานได้


 


ทั้งนี้ นักการทูตและเจ้าหน้าที่จากประเทศคู่ค้ากลุ่มนี้ได้ออกแถลงการณ์หลังจากประชุมหารือกันเรียบร้อย และมีการระบุว่าประเทศคู่ค้ามีความเห็นตรงกันว่าสิ่งที่จะช่วยปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้นได้คือการปรับลดผลกระทบจากการร่างกฎหมายรีชที่อาจมีต่อการค้าระหว่างประเทศ และควรปรับปรุงร่างกฎหมายนี้ให้สามารถนำมาใช้งานได้จริงมากยิ่งขึ้น


 


รัฐมนตรีของสหภาพยุโรปอนุมัติร่างกฎหมายรีชในร่างที่หนึ่งในเดือนธันวาคม 2548 โดยกฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบของสารเคมีที่พบในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น สีทาบ้าน ผงซักฟอก รถยนต์ และคอมพิวเตอร์


 


อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายนี้จะเข้าสู่การพิจารณาครั้งที่สองในรัฐสภายุโรปในช่วงต่อไปของปีนี้ และจะมีการหารืออย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อหารือถึงความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกรัฐสภากับตัวแทนของประเทศสมาชิกอียู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net